รัฐต้องโปร่งใส เปิดข้อมูล ’วิชา มหาคุณ’ ชี้ สินบนโรลส์รอยซ์เรียกคืนได้ แม้หมดอายุความ
รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่าง‘วิชามหาคุณ’ ชี้คดีสินบนโรลส์รอยซ์ เรียกย้อนหลังได้แม้หมดอายุความ ด้านอุปทูตอังกฤษย้ำรัฐบาลยินดีช่วยเหลือ แต่ต้องการันตีว่า ไม่มีโทษประหารชีวิต
วันที่ 16 ก.พ. 2560 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดเสวนา “อย่าให้คนโกงมีที่ยืนใน การบินไทย ปตท. และประเทศไทย กรณีสินบน Rolls Royce ภาคบทลงโทษ”
ศาสตรจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงการทุจริตข้ามชาติยากยิ่งกว่าเรื่องอื่น เพราะอยู่ในต่างประเทศ หากบริษัทเหล่านั้นไม่โดนจับจากประเทศต้นทาง เราไม่มีทางรู้ อย่างคดีสินบนอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศ เรารู้เรื่องนี้จากการประสานผ่านทางอัยการสหรัฐฯ ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าไม่มีความสัมพันธ์ที่ดี เขาก็ไม่ให้ เพราะว่ากลัวจะไม่เอามาดำเนินคดี เอาไปทิ้งๆ ขว้างๆ
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวว่า ในส่วนอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. เมื่อรับทราบข้อมูลชัดเจนเเล้ว สามารถตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ ตามกฎหมายป.ป.ช.สามารถดำเนินคดีคนให้สินบน แล้วค่อยขยายผลที่หลัง และถ้าหากมีการตั้งอนุกรรมไต่สวนอย่างชัดเจนก็จะได้รับการช่วยเหลือในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะตอนนี้ทางอังกฤษ ทางสหรัฐอเมริกา เขาไม่แน่ใจ คิดว่า หากมีการตั้งอนุกรรมการชัดเจน เราสามารถที่จะทำต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล องค์กรต่อองค์กร
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังมีปัญหาในเรื่องการได้ข้อมูล เพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ ต้องชี้แจงว่า ตอนนี้เรามีกฎหมายชัดเจนในเรื่องการกันไว้เป็นพยาน ตามม.103/6 ของกฏหมายป.ป.ช. หากเปิดเผยข้อมูลก็จะกันเป็นพยาน ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนให้สินบนอย่างเดียว ผู้รับก็สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินการหาความจริงง่ายขึ้น และหากบางคดีเกิน 20 ปี หมดอายุความแล้ว ก็สามารถดำเนินการทางวินัย เรียกคืนเงินบำนาญ พร้อมทั้งสามารถเรียกคืนเงินสินบนได้ แม้จะถูกแปลงเป็นทรัพย์สิน หรือหมดอายุความไปแล้วก็ตาม
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวถึงการให้เงินค่าคอมมิสชั่นนั้นต้องดูว่า เป็นการให้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายทั้งตนเองและคนอื่นหรือไม่ เรื่องพวกนี้ผิดฏกหมายทันที ค่าคอมมิสชั่นคือสินบน มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง อย่าง เรื่องเหล้า กรณีที่จอนนี่ วอล์กเกอร์ติดสินบนภาษีสรรพสามิตเป็นต้น หรือแม้แต่ให้ในรูปแบบ CSR ก็ต้องเป็นสินบน ฉะนั้นต้องเปลี่ยนแนวความคิด อยู่ดีๆ มีคนเอาเงินมาให้ โปรดระวังคือสินบน หรือเข้าข่าย นอกจากนี้ระบบเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่รัฐรู้ประชาชนต้องรู้ทุกอย่าง ข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นระดับให้ ไม่ใช่ต้องขอ ต้องสามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาเราไม่เคยใช้ข้อมูลย้อนหลังให้เป็นประโยชน์เลย ต้องเอามาดูเเล้วมันจะเห็นภาพ สามารถตัดงบประมาณที่ฟุ่มเฟือยได้เยอะมาก
ด้าน นางมากาเร็ต ทัง อุปทูต ประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของรัฐบาลอังกฤษ มีเจตนามุ่งมั่นในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะองค์กรที่ทำความผิด เพื่อให้อยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งมาตรการในการจัดการต้องเปิดเผยได้ โดยหลักการรัฐบาลอังกฎษไม่สนับสนุนโทษประหาร ในประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องมีวิธีอื่นที่จะไม่ต้องไปถึงโทษประหารชีวิต ทางรัฐบาลอังกฤษก็ยินดีให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการทำทุจริต เอาเข้าจริงทุกระดับมีการโกง และยิ่งบริษัทไหนมีงบลงทุนเยอะ มีการกระจายเจ้าของเยอะ ไ่มรู้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการโกงง่ายขึ้น
นายรพี กล่าวด้วยว่า หากพบว่าองค์กรนั้นมีทุจริตเยอะ การลงโทษโดยถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ทำได้ แต่จะกลายเป็น การทำให้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเสียประโยชน์ ดังนั้นถ้าเราหาเจอว่า ใครผิด ควรไปลงโทษคนพวกนั้น ดังนั้นจะหวังพึ่งแค่กฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ ต่อให้เขียนกฎหมายเยอะแต่คนไม่ทำก็จบ เราต้องมีความร่วมมือการหลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการตรวจเช็คจากภายในบริษัทเอง ก็จะยากมาก จะฉายไฟทั้งที่ก็จะเจอแต่สายไฟ
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ต่อไปต้องมีหลักการให้มีการเชื่อมโยงกับนโยบายต่างๆ ในภาพใหญ่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ผ่านมาแต่ละแห่งมีกฎหมายแม่ของตัวเอง อย่างการแต่งตั้งคนเข้ามาทำหน้า เมื่อก่อนบอกแค่ผู้มีอำนาจจะตั้งใครก็ตั้ง เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่า ตั้งผู้ไม่มีความรู้เข้ามาทำงาน แต่ในกฎหมายใหม่ เราล้อกับการตั้งผู้ว่าแบงค์ชาติ กฎหมายใหม่มีกระบวนการกลั่นกรอง คุณสมบัติ ต้องเปิดเผยกระบวนการดำเนินงานเป็นข้อมูลที่ต้องให้ ต้องทำให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ