ดร.ปณิธาน : ประชาคมอาเซียนกับไฟใต้ และ "ตัวแปรแทรก" ว่าด้วยปกครองพิเศษ
การก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ในปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 เป็นโอกาสอันใหญ่โตมโหฬารแน่นอน แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักจากประสบการณ์ของ "โลกาภิวัตน์" ก็คือ การเปิดประเทศให้เป็นเสรีนั้น มีทั้ง "ภัย" และ "โอกาส" ควบคู่กัน
บางครั้งผลลบเยอะกว่าผลบวก บางครั้งผลบวกเยอะกว่าผลลบ ฉะนั้นย่างก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจึงไม่ได้มีแต่รอยยิ้มและความมั่งคั่ง หากแต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่คุมให้ดีจะมีปัญหาตามมามาก เพราะปิดกั้นอะไรไม่ได้อีกแล้ว และหวงห้ามอะไรไม่ได้อีกต่อไป
นี่คือความจริงของโลก ความจริงของประชาคมอาเซียน...
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองลอดแว่นเพื่อเปิดม่านสังคมไทยหลังปี 2558 พร้อมบทวิเคราะห์ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ณ เวลานั้น ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แนะรัฐเล่นบท "Regulator"
"แน่นอนว่าการเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียน หลายเรื่องที่เป็นเรื่องดีจะเกิดขึ้นมา แต่ก็มีข้อควรระวังหลายประการ เช่น บางเรื่องถ้าไม่กระจายจะยุ่ง และที่ต้องจับให้มั่นคือคำว่า 'มาตรฐานสากล' เช่น เรื่องสาธารณสุข จะขยับเร็วมาก เราต้องขยับตามให้ได้มาตรฐานที่นานาประเทศยอมรับ"
"ผมมองว่าในแง่นี้ 'เสาเศรษฐกิจ' ของเราไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะเมื่อเข้าระบบสากลแล้วก็ต้องไปได้ และเอกชนอาจเป็นผู้นำ โดยปัญหาของ 'เสาเศรษฐกิจ' น่าจะอยู่ที่ภาครัฐ โดยเฉพาะในบทบาทของ 'ผู้ควบคุม' หรือ Regulator"
ดร.ปณิธาน ชี้ว่า แน่นอนว่าเมื่อเปิดเสรีแล้วประโยชน์ย่อมมีเยอะ ทั้งเทคโนโลยี การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ประชาธิปไตย แต่ถ้ามากเกินไปก็จะมีผลกระทบอีกด้านตามมาทันที ฉะนั้น "การควบคุม" หรือ Regulate คือสิ่งสำคัญที่สุด ต้องคุมให้เป็น อย่างเช่นจีนมีนโยบายคุมใกล้ชิด แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นลักษณะเฉพาะของจีนด้วย
สำหรับบ้านเรา เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วเกิดประโยชน์แน่ เพราะจุดแข็งของไทยคือการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกได้ดี ไม่ค่อยมีความขัดแย้ง แต่ปัญหาของไทยคือไม่สามารถ "ควบคุม" ได้ดีเท่าไหร่ กติกา กฎเกณฑ์ที่รองรับก็ไม่ค่อยมี หรือถ้ามีกฎหมายก็มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เหมือนที่เราคุมอินเทอร์เน็ตไม่ได้ คุมการทุ่มตลาดไม่ได้ ตรงนี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
ระวังภาคเกษตรล่มสลาย
อีกเรื่องที่น่ากังวลในความเห็นของ ดร.ปณิธาน ก็คือเปิดเสรีแล้วกระทบกับภาคเกษตรและวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชน โดยเขายกตัวอย่างว่า สมมติมีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน ทำให้คนเลิกทำการเกษตร แต่พอถึงจุดหนึ่งบริษัทล้มหรือเลิกไปหรือถอนการลงทุนออกไป คนงานก็ถูกลอยแพ เรื่องแบบนี้ละตินอเมริกาเคยเจอ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมมาก ทำให้คนเลิกปลูกกล้วยซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของภูมิภาค สุดท้ายต้องนำเข้าสินค้าเกษตร
นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรื่องนี้เกิดขึ้นในจีน เมื่อมีความมั่งคั่งมากก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ให้เกิดการคอร์รัปชันมาก ฉะนั้นการเปิดประเทศสู่ความเป็นเสรีแล้วอาจกลายเป็นวิกฤติการเมืองได้เหมือนกัน
มิติความมั่นคง "น่าห่วง"
เมื่อมองลึกไปถึงประเด็นด้านความมั่นคง หรือ "เสาความมั่นคง" ดร.ปณิธาน ชี้ว่า ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะไทยมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ในพื้นที่จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสของการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและอื่นๆ เพราะพูดและใช้ภาษามลายู มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม สามารถติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลกได้
ทว่าต้องไม่ลืมว่า "เสาความมั่นคง" กระทบภาคใต้ในแง่สัญลักษณ์แน่นอน เพราะอาจมีบางประเทศเห็นจุดอ่อนของไทยตรงนี้ อาจเสนอให้จัดตั้ง "กองกำลังรักษาสันติภาพ" ในอาเซียนขึ้นเพื่อสร้างศักยภาพในการรักษาสันติภาพร่วมกัน อาจเริ่มจากบรรเทาภัยพิบัติก่อน ตามด้วยการจะมีบทบาทอย่างไรในพื้นที่ไม่มั่นคง
"ต่อไปอาจมีคำถามกับเราว่าจะเอาอาเซียนหรือยูเอ็นเข้าไปช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ แต่ถ้าไม่ถึงกับส่งกำลังเข้ามา ก็อาจมีการขอให้เปิดเวทีพูดคุย หรือออกกฎบัตรใหม่ด้านความมั่นคงร่วมกัน คำถามคือคนไทยส่วนใหญ่รับได้ไหม ฉะนั้นถ้าไทยไม่พร้อมเรื่องความมั่นคง โอกาสเสียเปรียบมีเยอะ"
ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า เรื่องการเคลื่อนย้ายกลุ่มที่มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ หรือต่อต้านโลกตะวันตก พวกขบวนการต่างๆ ที่ใช้วิธีการก่อการร้ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตา เพราะตอนที่ยังไม่เปิดเสรีก็มีการลักลอบข้ามไปข้ามมากันอยู่แล้ว ไปฝึกอาวุธบ้าง ไปในลักษณะแฝงเรื่องการศึกษาหรือศาสนาบ้าง แน่นอนว่าเมื่อเปิดเสรีแล้วจะเคลื่อนย้ายง่ายขึ้น คล่องตัวขึ้น แต่ความเคลื่อนไหวจะไปอยู่ในที่สว่าง ฉะนั้นจึงขึ้นกับการบริหารจัดการของฝ่ายความมั่นคงว่ามีความพร้อมขนาดไหน ต้องยอมรับว่าการเปิดเสรีมีปัญหาตามมาเยอะแน่ จึงต้องเตรียมคน เตรียมการบริหาร
ทางออกของชายแดนใต้...
สำหรับทางออกของปัญหาภาคใต้ ณ พ.ศ.นี้ ดร.ปณิธาน เห็นว่า หนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่อสู้ คือเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางการทหารให้เป็นกระบวนการทางการเมือง และสร้างกระบวนการเจรจาหลายฝ่าย โดยมีนานาชาติร่วมด้วย
"สำหรับเรื่องเจรจา ที่ผ่านมายังไม่เปิดชัดเจน แม้รัฐไทยจะไม่ปฏิเสธ แต่ก็ยังอยู่แค่ในระดับปฏิบัติการ เพราะนโยบายยังไม่ชัด การเจรจาอย่างเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนเองมีความต่างทางความคิดกันภายในด้วย คือกลุ่มเก่าหรือกลุ่มผู้อาวุโส กับกลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นไม่ตรงกัน"
ส่วนการใช้กระบวนการทางการเมืองนั้น ดร.ปณิธาน มองว่า แนวทางของรัฐบาลทุกชุดค่อนข้างสอดคล้องกัน ได้แก่
1.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นอย่างช้าๆ แต่ต้องใช้เวลา
2.สร้างเขตปกครองพิเศษในรูปแบบที่เหมาะกับรัฐไทย ซึ่งแนวทางนี้รัฐไทยก็ทำมานานแล้ว โครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.คือจุดเริ่มต้นของเขตปกครองพิเศษ
"หลังจากนี้เมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 'โครงสร้างพิเศษ' ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ต้องคิดเรื่องบทบาทความสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพราะมิติเรื่องเขตแดนได้หมดไปแล้ว ฉะนั้นจะคิดเพียงกรอบ 'ภายใน' อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป จึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ให้ดี"
ปกครองพิเศษ..."ตัวแปรแทรก" ที่ไม่ตกขบวน?
ย้อนกลับมามองปัญหาภาคใต้ ณ ปัจจุบัน สมควรเตรียมการอย่างไรในห้วงเวลาที่เหลือก่อนเดินไปสู่ "ความเสี่ยง" ในฐานะหนึ่งใน "ประชาคมอาเซียน" ประเด็นนี้ ดร.ปณิธาน มองว่า การแก้ปัญหาต้องมี "ตัวแปรแทรก" เข้าไป เพื่อให้สถานการณ์ความไม่สงบลดระดับลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่หนักที่สุดของการจัดการปัญหา ก็คือสถานการณ์การเมืองในระดับประเทศซึ่งมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างขั้วอำนาจ ทำให้ปัญหาภาคใต้แก้ยากมากขึ้นไปอีก เพราะแทนที่การเมืองจะทำหน้าที่ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ แต่กลับทำให้สถานการณ์ถดถอยยิ่งขึ้นกว่าเดิม
"ตัวแปรแทรกที่น่าสนใจก็เช่น การสร้างรูปแบบการปกครองใหม่ๆ หรือการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจดีๆ ทั้งสองเรื่องนี้หรือแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากทำได้สำเร็จก็จะดึงสถานการณ์ในภาพรวมให้กลับมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบการปกครอง เพราะถ้าไม่รอบคอบ ก็จะไปกันใหญ่ ลากไปไหนก็ไม่รู้"
"รูปแบบการปกครองเท่าที่คิดกันมา ก็เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นแบบพิเศษ เหล่านี้ผมคิดว่าเป็นตัวแปรแทรกที่ดีได้ และจะทำให้สถานการณ์พลิกผัน แต่ต้องรักษาทิศทางให้ดี"
ดร.ปณิธาน สรุปว่า การค้นหา "ตัวแปรแทรก" เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในห้วงเวลา 3 ปีที่เหลือก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยอีกสิ่งหนึ่งที่สมควรทำไปพร้อมกันก็คือการสร้างศักยภาพในการเจรจา
"ผมคิดว่าถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ เหมือนรถไฟกำลังออกจากสถานีแล้ว ถ้าไม่กระโดดขึ้นไปก็จะตกขบวน ตัวอย่างในอดีตที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของเขมรแดง เมื่อก่อนเขมรมี 3 ฝ่าย 5 ฝ่าย รบพุ่งเอาชนะกัน กระทั่งวันหนึ่งมีตัวแปรแทรกเกิดขึ้นมา นั่นก็คือเรื่องการเจรจาจากการผลักดันของนานาชาติ ตอนนั้นเขมรแดงคิดว่าตัวเองเข้มแข็งที่สุด ก็เลยปฏิเสธการเจรจา ส่วนฝ่ายอื่นๆ ที่ดูจะอ่อนแรงกว่าหรือถูกมองว่าเป็นตัวปลอมไปเจรจากันหมด โต๊ะเจรจาเปิดขึ้นที่ปารีส (ประเทศฝรั่งเศส) ผลก็คือตัวปลอมกลายเป็นตัวจริง ทุกฝ่ายยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เขมรแดงไม่ยอม สุดท้ายก็เลยตกขบวน และล่มสลายลงในที่สุด"
นัยแห่งทฤษฎี "ตัวแปรแทรก" และ "ไม่ตกขบวนการเปลี่ยนแปลง" นี้ ดร.ปณิธาน ให้น้ำหนักเท่าๆ กันทั้งฝ่ายรัฐไทยเอง และฝ่ายขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ผู้ที่ตัดสินใจถูกทั้งทิศทางและจังหวะเวลาเท่านั้น คือผู้ที่จะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในบริบทแห่งโลกเสรี!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น