เวทีย้อนรอย ชี้วิกฤตศก.รอบหน้า ชนชั้นกลาง-ล่าง ทุกข์หนัก เหตุก่อหนี้ไว้อื้อ
ผอ.มิวเซียมสยามแนะไทยเรียนรู้จากอดีตอย่าให้ซ้ำรอย ทายาทเจ้าของตึกร้างสาทรชี้วิกฤตฟองสบู่ทำลายโครงสร้างชนชั้นกลาง ปัจจุบันใครทุนใหญ่ผูกขาดครองประเทศ ด้านนักวิชาการเผยธนาคารกลัวความเสี่ยงมากขึ้นจากวิกฤตครั้งก่อน บก.โอเพ่นบุ๊ค ห่วงคนสื่อเจอผลกระทบจากเทคโนโลยี
เมื่อเร็วๆ นี้ มิวเซียมสยามจัดเวทีย้อนรอย 20 ปี วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง พร้อมเปิดหลักฐานและสัญลักษณ์ความฟุ้งเฟ้อของประเทศไทยในปี 2540 ในงานเสวนา "สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540 " ณ สาทร ยูนิค ทาวเวอร์(ตึกร้างสาทร) ถ.เจริญกรุง
นายราเมศ พรหมเย็น ผอ.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้งของทีมวิชาการมิวเซียมสยาม เห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2530-2540 ประเทศไทยอยู่ในภาวะฟองสบู่ตลอด 10 ปี ทำให้ราคาสินค้าในตลาดสูงเกินความเป็นจริง เกิดการเก็งกำไรในสินค้าหลายอย่างในสมัยนั้น โดยรายงานของธนาคารโลกปี 2538 ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดในโลก การบริโภคในประเทศฟุ้งเฟ้ออย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนสมัยนั้น
"สถิติบ่งชี้ว่า สมัยนั้นแบล็ค เลเบิ้ลในประเทศไทยขายดีที่สุดในโลก มีการซื้อรถเมอซีเดส เบนซ์ มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รถปิคอัพขายดีเป็นอันดับ 2 โลกของ นักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศใช้เงินมากกว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยถึง 28.67% ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ดีและความฟุ้งเพ้อในการใช้เงิน"
นายราเมศ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจจะยังไม่ดีนัก แต่คนก็ต้องดิ้นรนหาทางออกกัน คนหันมาทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น บางส่วนทำเป็นเอสเอ็มอี ฟรีแลนซ์ ขณะที่ธุรกิจส่งออกก็อาศัยช่วงค่าเงินบาทอ่อนเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ เช่นเดียวกับธุรกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีคนบางส่วนหันไปพึ่งเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็เห็นความสำคัญจนบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ฉะนั้นวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย และแสดงให้เห็นถึงสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหา ตรงนี้คนไทยทุกคนสามารถศึกษา และนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาใช้ในการดำเนินชีวิตได้
ด้านนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ลูกชายเจ้าของ"ตึกร้างสาทร" กรรมการผู้จัดการบริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ กล่าวถึงกรณีตึกร้างที่สาทร หลายคนคงมีคำถามว่า ทำไมตึกนี้ยังอยู่ได้แต่สร้างไม่เสร็จสักที "ต้องขอตอบว่า มันเป็นเกมทางธุรกิจ ตึกนี้มีการจัดการโดยรัฐที่มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมา มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับ โดยรัฐบาลทั้ง 3 ชุด ตัวตึกตอนแรกโดนจัดการโดยรัฐบาลชุดแรกโดยการลอยตัวค่าเงินบาท และมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการโดยรัฐที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พอมีการจัดการที่ไม่ถูกกฎหมายจึงต้องมีการใช้สิทธิทางศาล เลยต้องใช้เวลานาน พอระยะเวลาที่นานทุกอย่างเปลี่ยน ทั้งราคาค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ราคาเมื่อ 20 ปีที่แล้วขายอยู่ที่ตารางเมตรละ 2.5 หมื่นบาท ปัจจุบันขายอยู่ที่ 1.5 แสนบาท เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด จึงทำให้เรื่องนี้จบไม่ได้
"ส่วนตัวมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ในตอนนั้นเกิดขึ้นกับเศรษฐีจริงๆ และในตอนนั้นเศรษฐีใหม่เยอะ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐกระทำต่อคนเหล่านั้น เป็นการทำลายโครงสร้างชนชั้นกลางให้อ่อนแอและพัวพันไปด้วยคดีต่างๆ ตอนนี้โครงสร้างทางสังคมเราไม่แข็งแรง เพราะคนจนมากกว่าคนรวย สังเกตได้ว่าประเทศไทยจะไม่มีนวัตกรรมอะไรเลย ประเทศเราทำตามทุนใหญ่เท่านั้น ส่วนทุนใหญ่ก็จะคิดแค่ว่า ทำอะไรแล้วตัวเองมั่นคงจึงเป็นระบบที่ผูกขาด" นายพรรษิษฐ์ กล่าว และมอว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งหน้าจะเหมือนคนเป็นโรคมะเร็งค่อยๆหมดแรง และตายไป
ส่วนนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน กล่าวถึงภาคการธนาคารปัจจุบันกลัวมากจนเกินไป จากที่เมื่อก่อนธนาคารกล้าที่จะเสี่ยง เพราะไม่กลัวล้มเหลว แต่พอเกิดวิกฤตฟองสบู่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทำให้ธนาคารเริ่มถอย
"ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีใต้จะปฎิรูปในระบบนี้ได้ลึกกว่าประเทศไทย ในอนาคตถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีก หน้าตาคงไม่เหมือนปี 2540 น่าจะเป็นลักษณะค่อยๆซึม ค่อยๆเกิดปัญหาอย่างช้าๆ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เจอปัญหาเศรษฐกิจค่อยๆซึมมา 20 ปี หากมองมาที่ไทยเมื่อก่อนตอนเกิดวิกฤตยังมีภาคเกษตรคอยช่วย แต่โครงสร้างในประเทศวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว ในเมื่อคนที่มีเงินเขาได้บทเรียนก็อาจจะไม่หวังกับเศรษฐกิจในบ้านเรา อาจจะเอาเงินไปฝากต่างประเทศหรือลงทุนต่างประเทศ นี่อาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่เริ่มสูงขึ้น"
นางสาวสฤณี ตั้งคำถามว่า ตอนนี้ภาคการเงินกำลังบริหารการเงินหรือกำลังกลัวความเสี่ยงอยู่ อะไรที่ต้องปล่อยกู้ในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ธนาคารอาจจะไม่ปล่อย นี่อาจจะเป็นผลกระทบในมุมลบที่เกิดจากวิกฤตปี 2540 ที่ผ่านมา
"การที่ธนาคารต้องเพิ่มทุนเยอะเลยทำให้มีทุนต่างชาติเข้ามาร่วมหุ้นเพิ่มมากขึ้น มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่เป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาด สุดท้ายก็คล้ายๆกับเสือกระดาษดูเหมือนจะใช้ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ เหมือนกับเราได้บทเรียนแต่ไม่ได้เอามาใช้อย่างเต็มที่"
นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ openbooks กล่าวว่า ปี 2540 สถานการณ์คือความยากลำบาก ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พอมาในยุคปี 2560 วันนี้เศรษฐีไทยรู้ตัวหมดแล้วเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนไว้ 20 ปีที่ฝ่านมาเศรษฐีไทยไม่ประมาทอีกต่อไป ธนาคารไทยไม่ประมาท วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้กลุ่มเศรษฐีจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเขาเรียนรู้จากวิกฤตครั้งก่อน และสร้างความมั่นคงไว้แล้ว ฉะนั้น วิกฤตในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ก็จะเกิดกับคนชั้นกลางและคนที่อยู่ระดับล่าง เพราะก่อหนี้ไว้มากในช่วงชีวิต 5-10 ปีที่ผ่านมา จนตอนนี้เพดานหนี้ของคนชั้นกลางเต็มขีดจำกัดจนไม่สามารถก่อหนี้เพื่อไปลงทุนหรือใช้ชีวิตต่อได้ รอบนี้จะไม่ใช่ทุกข์ของคนรวย แต่คือทุกข์ของคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง
นายภิญโญ กล่าวถึงวงการสื่อมวลชนก็เช่นเดียวกัน รอบนี้ไม่ใช่เรื่องเงินเหมือนวิกฤตเหมือนปี 2540 แต่รอบนี้เป็นวิกฤตของเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน หนังสือพิมพ์รอวันล่มสลาย เพราะคนอ่านลดลงเรื่อยๆ เงินโฆษณาจะไม่ได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน ส่วนวิธีอยู่รอดก็เหลือไม่กี่วิธีที่จะทำให้สื่อมวลชนรอดได้ในยุคต่อไป สื่อบางสื่อทยอยปิดตัว แม้แต่ทีวีดิจิตอลที่เคยเป็นความหวังก็ไม่ได้เป็นความหวังอีกต่อไป เทคโนโลยีกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและการเสพสื่อ