ทะเลไทยเต็มไปด้วยขยะพลาสติก กรีนพีซ แนะรัฐวางนโยบายให้ชัด ปชช.ลดการใช้
ปัญหาขยะในทะเลไทยยังน่าห่วง กรีนพีซแนะรัฐวางกรอบนโยบายด้านขยะให้ชัดเจน ประชาชนต้องลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
15 ก.พ.2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดนิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติด “Heart for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้ตื่นตัวต่อปัญหาการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
น.ส.อัญชลี พิพัฒนวัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ กล่าวว่า อยากเห็นภาครัฐวางแผนที่เป็นรูปธรรมในการจัดการขยะพลาสติดโดยเฉพาะ เรื่องขยะมูลฝอยที่รัฐชูเป็นนโยบายสำคัญ แต่เรื่องขยะพลาสติกโดยตรงกลับไม่เห็นแผนงานในการจัดการลดใช้พลาสติกจริงๆ เป็นข้อท้าทายของภาครัฐว่าทำอย่างไรที่จะจัดการอย่างเป็นรูปธรรมของขยะพลาสติกอายุใช้งานสั้น ทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ปัญหาตอนนี้คือทุกคนรู้ว่าเกิดอะไร แต่ไม่มีใครทำอะไร โดยเฉพาะพฤติกรรมของตัวเอง สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก พกขวดน้ำ กล่องข้าวและเลิกใช้หลอด อาจไม่ได้สะดวกสบาย แต่หากทุกคนลองแก้ นโยบายอย่างเดียวไม่อาจแก้ได้ ต้องเริ่มจากทุกคนด้วย
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรเป็นอันดับโลก จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2558 พบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวันแบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน
องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือ NOAA(3) ได้แบ่งผลกระทบของขยะในทะเลออกเป็นสองส่วนคือ ผลกระทบโดยตรงคือ เป็นสาเหตุทำให้สัตว์ทะเลตาย เช่น นกทะเลตายปีราว หนึ่งล้านตัวเพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป และเป็นสาเหตุการตายของสัตว์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนผลกระทบโดยอ้อมคือ พลาสติกขนาดเล็กและสารพิษชนิดต่างๆ อาจมีการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารโดยผ่านการต่อกินเป็นทอดๆ เช่น จากปลาตัวใหญ่กินปลาตัวเล็กและสุดท้ายอาจส่งผลต่อมนุษย์ซึ่งเป็นปลายทางของห่วงโซอาหาร