บทเรียนความขัดแย้งจากบ้านกรูด-บ่อนอกถึง “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่”
ดร. ดังนภสร ณ ป้อมเพชร
คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (รัฐศาสตร์)
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โดยทั่วไปแล้ว การเกิดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในโครงการของรัฐมักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเสนอโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ดังนั้น ปัญหาที่รัฐจะต้องเผชิญก็คือ ความขัดแย้งไม่ลงรอยกับคนในพื้นที่ของโครงการซึ่งย่อมจะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านนอกจากนี้ยังรวมไปถึงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของประชาชนต่างพื้นที่ที่มีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมืองเจ้าของทรัพยากรเช่นเดียวกันทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่มีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างได้หลายพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าหินกรูด(บ้านกรูด) และบ่อนอก ซึ่งท้ายที่สุดจบลงด้วยความเสียหายมหาศาลของภาครัฐและความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ก็คือ การเกิดข้อบาดหมางระหว่างรัฐกับประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้
จากการประกาศถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งกลุ่มที่ต่อต้านและกลุ่มที่สนับสนุนโครงการดังกล่าว เช่น กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนในนามคนกระบี่ตัวจริงเสียงจริง และเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าชายเลน ได้เข้ายื่นหนังสือสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 4 มกราคม 2560 ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และจะมีการรวมตัวยื่นคำค้านต่อรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ในการนี้รัฐบาลต้องรับข้อเรียกร้องทั้งสองฝ่ายเพื่อการทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง “ธรรมาภิบาล” ในอันที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างสูงสุด
หากเปรียบเทียบกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในอดีตจะเห็นได้ว่ามีรูปแบบการก่อตัวของความขัดแย้งไม่ต่างกัน คือ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง รัฐ ประชาชน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้น ในส่วนของภาคประชาชนเองก็ยังเกิดความเห็นที่แตกออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน ซึ่งการที่ความขัดแย้งมีคู่กรณีที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายนั้นอาจทำให้กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนมากขึ้นและหากปล่อยไว้เช่นนี้ก็จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะลุกลามอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่อาจมีแรงกดดันที่จะทำให้ความขัดแย้งขยายประเด็นไปยังเรื่องอื่นๆ มากกว่าโดยที่ไม่ใช่เพียงข้อขัดแย้งที่เกิดจากความไม่พอใจในเรื่องที่รัฐบาลได้ตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน หากแต่ความไม่พอใจนั้นอาจขยายไปสู่ประเด็นปัญหาระดับโครงสร้างที่สำคัญคือ ความไม่พอใจในการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า “ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน” อย่างแท้จริง อันจะเป็นการเพิ่มระดับความไม่พอใจแก่ประชาชนมากขึ้น
ในการตัดสินใจดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่มีปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอบ่อนอกและตำบลบ้านกรูดอีกประการหนึ่งคือ ข้อข้องใจขอประชาชนจากกระบวนการในการประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่ถูกฝ่ายต่อต้านโครงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความตรงไปตรงมา รวมไปถึง รูปแบบการสร้างแรงสนับสนุนให้ดำเนินการโครงการจากคนในพื้นที่โดยการโฆษณาชวนเชื่อจากคู่กรณี
ประเด็นปัญหาเหล่านี้นับเป็นสัญญาณที่จะทำให้ความขัดแย้งนี้ขยายผลกว้างขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนถึง “ธรรมาภิบาล” ของรัฐในฐานะผู้ปกครองประเทศ และเมื่อเป็นเช่นนี้ หากรัฐบาลคำนึงถึงปัญหารุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตก็สามารถแสดงความจริงใจในการจัดการข้อขัดแย้งเหล่านี้ได้โดยการดำเนินการตาม “หลักธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้ในการตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ซึ่งก็จะสามารถยับยั้งความขัดแย้งดังกล่าวลงได้
ในการสร้างความโปร่งใสตามหลักการธรรมาภิบาลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
ประการแรก รัฐบาลจะต้องชี้แจง (ด้วยวิธีใดหรือกระบวนการใดก็ได้) ต่อสาธารณะในข้อสงสัยเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม เช่น แสดงความจริงเชิงลึกและตรงไปตรงมาในเรื่องถ่านหินให้แก่ประชาชน(และคู่กรณี) โดยรัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และข้อเท็จจริงอย่างอิสระ
ประการที่สอง รัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการ หรือแม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ซึ่งเป็นข้อสงสัยถึงความไม่ชอบธรรม ดังนั้น จึงควรสร้างกระบวนการในการประเมินให้ครอบคลุมเพื่อที่จะได้ผลรับที่ชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้งได้
ประการสุดท้าย รัฐบาลต้องสร้างวิธีการที่จะแสดงให้เห็นว่า “กระบวนการตัดสินใจ” ในโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่นี้เป็นการตัดสินใจบน “ผลประโยชน์ของชาติ” อย่างแท้จริง โดยต้องแสดงให้เห็นถึง การจัดกระบวนการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเป็นธรรม การเปิดเผยข้อมูลเพื่อชี้แจงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อเป็นการแก้ข้อโต้แย้งต่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการเดินหน้าของโครงการซึ่งหากรัฐบาลแก้ต่างกับข้อโต้แย้งกับคู่กรณีที่ต่อต้านกับโครงการได้ ก็จะเป็นการขจัดความขัดแย้งจากการดำเนินการโครงการนี้ไปได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลพึงต้องตระหนักคือ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีความชอบธรรมในการตัดสินใจเนื่องจากอยู่ในฐานะผู้ปกครองประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อโครงการนี้ รัฐบาลก็เป็นคู่กรณีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องระมัดระวังต่อคำพูด ท่าที และการดำเนินการในการที่จะสนับสนุนคู่กรณีฝ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว รัฐบาลจะไม่เป็นเพียงคู่กรณีในความขัดแย้งเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากร” เท่านั้น หากแต่รัฐจะตกเป็น “จำเลย” ในการขาด “ธรรมาภิบาลในการใช้อำนาจ” ต่อประชาชนในชาติอีกด้วย
อ้างอิง
Robyn Eckersley, 2002. Green governance in the new millennium: Towards the green democratic state. Ecopolitic Journal Vol.1(3). 28-38.
ขอบคุณภาพประกอบจาก : manager.co.th