วิทยุชุมชนร้องกสทช. แก้กม. โฆษณาได้ 6 นาที
กสทช. เปิดเวทีวิพากษ์ร่างแผนแม่บทฯ 3 ฉบับ ก่อนประกาศราชกิจจาฯ มี.ค. 55 วชช. เรียกร้องแก้กฎหมายอนุญาตโฆษณา 6 นาที เพื่อสถานีฯ อยู่รอด "สุภิญญา" ให้คำมั่นการเมือง-นายทุนไม่เเทรกเเซงการทำงาน
วันที่ 10 ก.พ. 55 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม (พ.ศ.2555-2559) โดยจัดพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนกลางจัดที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท. ) กล่าวว่า ผู้ถือครองสัญญาสัมปทาน กสทช. ต้องตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาฉบับนั้น เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการออกใบอนุญาต ซึ่งมีขอบเขตเท่ากับสัญญาเดิมที่ได้รับอยู่ โดยโทรทัศน์แต่ละสถานีจะต้องนำสัญญาสัมปทานและรายละเอียดการใช้คลื่นความถี่ให้แก่กสทช. ตามกรอบเวลาเปลี่ยนผ่านที่กำหนด โดยการเรียกคืนคลื่น วิทยุกระจายเสียงไม่เกิน 5 ปี โทรทัศน์ไม่เกิน 10 ปี และโทรคมนาคมไม่เกิน 15 ปี
ขณะที่การออกใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กิจการกระจายเสียงชุมชน กิจการกระจายเสียงสาธารณะ และกิจการกระจายเสียงบริการธุรกิจ ซึ่งมีแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ให้แก่ภาคประชาชนภายใน 4 ปี แต่วิทยุชุมชนห้ามเผยแพร่โฆษณา หากมีการเผยแพร่จะจัดในกลุ่มวิทยุบริการธุรกิจ ขณะที่ข้อเสนอของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ(สวชช.) เรื่องการจัดแบ่งโซนคลื่นความถี่แต่ละประเภทยังไม่มีการพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าแผนแม่บทฯ ทั้ง 3 ฉบับสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาในมี.ค. 2555
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. กล่าวยืนยันไม่ถูกครอบงำการปฏิบัติหน้าที่จากรัฐบาลทั้งทางธุรกิจและการเมือง แต่สาเหตุต้องประสานงาน เพื่อให้กิจการบางอย่างพัฒนาและลดความซ้ำซ้อน อีกทั้งป้องกันความผิดพลาดการขับเคลื่อนโครงข่ายในอนาคต เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น การประมูล 3 จีที่เคยฟ้องร้องกันในอดีตจนต้องยุติไป
นายมงคล คงคามาศ ผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชนบางบำหรุ กล่าวว่า กสทช. ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิทยุชุมชนด้านงบประมาณ เนื่องจากการขอรับบริจาคอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการอยู่รอดของสถานีฯ ดังนั้นควรแก้กฎหมายให้สามารถโฆษณาได้ 6 นาทีตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ยกเลิกไป เพื่อความชอบธรรมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ