ประชาธิปไตยเกินขอบเขตต้นเหตุยึดอำนาจ! แนวคิด‘บิ๊กตู่’สร้างปรองดอง
“…สาเหตุสำคัญในการถูกยึดอำนาจ ซึ่งถูกนำเป็นเงื่อนไขก็คือ พื้นที่ประชาธิปไตยที่ถูกขยายขอบเขตไปจนเกินความเหมาะสม จนสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยของอนาธิปไตยแล้ว การยึดอำนาจ หรือใดๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะอนาธิปไตยเป็นการจลาจล ความวุ่นวาย และปั่นป่วนในบ้านเมือง ที่คุกคามโครงสร้างและสถาบันหลักของประเทศชาติ ซึ่งรวมถึงกฎหมาย และสถาบันตุลาการ หากไม่ต้องการให้การยึดอำนาจเกิดขึ้นอีก ก็จะต้องป้องกันมิให้พื้นที่ประชาธิปไตยเกินขอบเขต นำไปสู่ความปั่นป่วน ความวุ่นวาย เพราะเมื่อสถานการณ์ไปสู่ขั้นนั้น การควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ ก็จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ทหาร…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบเรียงแนวคิดการปรองดอง จากหนังสือชื่อ ‘หลักคิดในการปฏิรูปปรเทศไทย’ ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่า มีความประสานสอดคล้องกัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับการทำงานของรัฐบาล คสช. และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ มีหลยประเด็นมาก สำนักข่าวอิศรา รวบรวมเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับการปรองดอง และประเด็นทางการเมือง สรุปได้ ดังนี้
สิ่งที่เป็นความบกพร่องโดยสรุป
1. ความสับสนในเรื่องประชาธิปไตย
2. การเยียวยา แก้ไขปัญหา อาจไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ – สังคม
3. การปฏิรูปการจัดการศึกษาของชาติ โดยการปลูกฝังจิตสำนึก และหลักคิดที่ถูกต้อง อย่างจริงจัง / โดยใช้คำสั่งสอนของศาสนาเป็นกรอบ / ซึ่งการขาดจิตสำนึก และความไม่ถูกต้องในหลักคิด หลายประการ เป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมในสังคมไทย
การปฏิรูปประเทศไทย จะต้องพยายามหลีกเลี่ยง / ไม่นำประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ในความคิดเห็น ที่มีที่มาเป็นเหตุ ที่ไม่อาจยุติได้โดยง่าย / วัฒนธรรม - ประเพณี – ประวัติศาสตร์ – ความเชื่อและศรัทธา – สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ/ ไปจนถึงผลประโยชน์ ทั้งในอดีต – ปัจจุบัน – และอนาคต / หากเราเข้าไปเกี่ยวข้อง กับประเด็นเหล่านี้ ที่มีความแตกต่างกันในความคิดเห็น / ยอมจุดชนวนให้เกิดความแตกแยกในสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ระมัดระวังอย่าให้ปะปนกันระหว่างประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ
การป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีใด ๆ สามารถทำได้โดยผู้ที่ครองอำนาจรัฐด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ได้ปฎิบัติตามกลไกรัฐธรรมนูญภายใต้ประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมทางการเมืองของผู้ครองอำนาจ และให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ตามกลไกของรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม ทั้งสถานการณ์และเวลา
สาเหตุสำคัญในการถูกยึดอำนาจ ซึ่งถูกนำเป็นเงื่อนไขก็คือ พื้นที่ประชาธิปไตยที่ถูกขยายขอบเขตไปจนเกินความเหมาะสม จนสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยของอนาธิปไตยแล้ว การยึดอำนาจ หรือใดๆ ก็จะเกิดขึ้น เพราะอนาธิปไตยเป็นการจลาจล ความวุ่นวาย และปั่นป่วนในบ้านเมือง ที่คุกคามโครงสร้างและสถาบันหลักของประเทศชาติ ซึ่งรวมถึงกฎหมาย และสถาบันตุลาการ
หากไม่ต้องการให้การยึดอำนาจเกิดขึ้นอีก ก็จะต้องป้องกันมิให้พื้นที่ประชาธิปไตยเกินขอบเขต นำไปสู่ความปั่นป่วน ความวุ่นวาย เพราะเมื่อสถานการณ์ไปสู่ขั้นนั้น การควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ ก็จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ทหาร
พื้นที่ประชาธิปไตย หมายถึง ขอบเขตของสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของบุคคลในชาติ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอย่างถูกต้อง หากเมื่อใดรู้สึกจำกัด อึดอัด ก็จำเป็นต้องขยายบ้างตามความเหมาะสม ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ แต่จะต้องไม่กว้างขวางจนไร้ขอบเขต สังคมเดือดร้อน ใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อนั้น ก็ต้องมีการกระชับพื้นที่ประชาธิปไตยดังกล่าว
เรื่องรูปแบบของรัฐบาลและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สาระสำคัญคือ “ปวงชน” เป็นเจ้าของประชาธิปไตย ไม่ใช่ “ประชาชน” ซึ่งทำให้เกิดความสับสน ประชาชนที่ถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจ โดยแท้จริงแล้ว เป็นเพียงกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง เป็นสามัญชนซึ่งมีมากมายหลายกลุ่ม มีความคิดเห็น ผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน และเป็นส่วนหนึ่งของ “ปวงชน” การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การปกครองหรือรัฐบาลของ “ปวงชน” โดย “ปวงชน” และเพื่อ “ปวงชน” ซึ่งแตกต่างจากการปกครองหรือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน หรือเพื่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หลักการในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการกำหนดพื้นที่ประชาธิปไตยไว้แล้ว โดยได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย
“พื้นที่ประชาธิปไตย” ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ 3 ประการ ที่อาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง คือการบานปลายไปสู่การจลาจล หากมีการปลุกระดมเผยแพร่ด้วยข้อความเป็นเท็จ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด และเกลียดชัง ได้แก่ สิทธิชุมชน สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของมวลชนและสื่อมวลชน และเสรีภาพในการชุมนุม การปฏิรูปประเทศไทยจึงจำเป็นต้องทบทวนบทบัญญัติเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการกระชับพื้นที่ประชาธิปไตย โดยไม่ต้องทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องเปลี่ยนแปลง สับสน หรือวุ่นวาย
การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็มีการบัญญัติไว้อยู่แล้ว ว่าจะต้องกระทำภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ โดยไม่น่าจะกระทบกระเทือนพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะต้องทำเพื่อขจัดความขัดแย้ง ความสับสน และความปั่นป่วน ที่เนื่องจากการใช้เสรีภาพเกินความเหมาะสม ผ่านสื่อต่างๆ อันจะนำไปสู่ “อนาธิปไตย” ได้มากพอสมควร
สิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สมควรจะต้องทบทวน คือ บทบัญญัติที่ว่าด้วย “เสรีภาพในการชุมนุม” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตย ภาพรวม อย่างรุนแรง จนกระทั่ง “อนาธิปไตย” เข้ามาถึงใจกลางของประเทศ
จุดบกพร่องที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การใช้อำนาจเงิน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง การซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะต้องทำให้สาธารณชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน “ทัศนะทางสังคม” ว่าบุคคลที่มีเงินมาก เหลือกินเหลือใช้ ไม่สมควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ควรไปทำประโยชน์อย่างอื่น ให้กับสาธารณะมากกว่า
ความไม่เป็นธรรม เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกกลุ่ม บุคคลที่ไม่ได้รับสิ่งที่คาดหมายว่าจะได้รับ ปัญหา “ความไม่เป็นธรรม” มีความซับซ้อน เป็นปรากฏการณ์ ตามธรรมชาติ ไม่อาจขจัดให้หมดสิ้นไปได้ แต่จำเป็นต้องดูแลให้อยู่ภายในขอบเขตอันสมควร
ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวพันกัน ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเป็นที่มาของความไม่เป็นธรรมทางสังคม และบางสังคมอาจนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ด้วย จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่จะเกิดจากเศรษฐกิจก่อน หากลดปัญหาลงได้ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมก็จะลดผ่อนคลายลง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก thaipublica