นักประชากรศาสตร์ แนะเร่งอัตราการเกิดรับวิกฤติ-สังคมสูงอายุ
นักประชากรศาสตร์ ชี้วันนี้ยังไม่ถึงช่วงวิกฤติประชากร แต่ต้องเตรียมความพร้อม เร่งอัตราเจริญพันธุ์ในไทยเพื่ออนาคตให้มีคนดูแลผู้สูงอายุ เผยหญิงไทยมีทัศนคติเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องแต่งงาน ไม่อยากมีลูก เหตุค่าใช้จ่ายสูง
จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเกิดเพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยสนับสนุนให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปี ที่พร้อมมีลูกเพื่อชาตินั้น
ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงสถานการณ์จำนวนประชากรในปัจจุบันจำเป็นต้องช่วยให้อัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยมีอัตราที่สูงขึ้น เพราะมีผลต่อการดำเนินอยู่ของสังคม
แม้ว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตขาดแคลนเด็ก แต่ภายในระยะเวลา 10-15 ปี อาจมีปัญหา เพราะบ้านเรามีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ความสำเร็จทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าทำให้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยเฉลี่ยจากอายุ 70 ปี กลายมาเป็นอายุ 75 ปี
ในระยะเวลาที่อายุนานขึ้นก็จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นสังคมต้องการแรงงานที่มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถผลิต สินค้า และบริการ เพื่อที่จะดูแลสังคมผู้สูงอายุได้
ในฐานะนักประชากรศาสตร์รุ่นใหม่ ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า ระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงครองโสดมากขึ้นหรือแต่งงานก็ไม่อยากมีลูก เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ทำให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป นี่อาจทำให้สถานการณ์ประชากรไม่น่าไว้วางใจ
"คนสมัยใหม่มีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปต่อการที่จะสร้างครอบครัว เช่น ในปัจจุบันผู้หญิงอยู่เป็นโสดได้ สามารถประกอบอาชีพได้ มีความรู้ความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีตถ้าผู้หญิงไม่แต่งงานก็จะไม่มีสามีคอยดูแล" ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว และว่า การดำรงชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ การศึกษาพัฒนาก้าวไปมาก ถ้ามีลูกก็จะต้องมีเงินทุนที่สูงพอควร ดังนั้น การมีลูกสมัยนี้จึงแพงมาก ขณะที่ค่าเทอมก็แพงขึ้นหลายเท่าตัว ค่าเลี้ยงดูบุตร บางบ้านต้องจ้างพี่เลี้ยงก็จะต้องเพิ่มภาระตรงนี้มากขึ้นไปอีก และหากบ้านไหนมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย ก็ยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่ค่อยอยากมีลูก แม้รัฐจะส่งเสริม หรือออกมาตรการมาสนับสนุนก็ตาม