นักวิชาการ ชี้คนพิการเข้าถึงการศึกษาน้อย เหตุคนไทยมีทัศนคติเชิงช่วย แต่ไม่เปิดโอกาส
นักวิชาการ ชี้ทัศนคติคนไทยยังมองคนพิการเป็นเรื่องน่าสมเพศ แนะจะจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม เด็กต้องได้รับความช่วยเหลือตามความต้องการที่ยุติธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมสุโกศล กระทรวงศึกษาและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมมือกับองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559 เรื่องการศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา:สร้างอนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน
ตอนหนึ่งของเวทีเสวนา ผศ.ดร.ธิดา ทับพันธุ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา คือคำว่า Equity แต่ไม่ใช่คำว่า Equal นั่นคือการให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและให้เกิดความความเท่าเทียมกัน สมมติเด็กบ้านจนก็ต้องให้เงินมากกว่าคนรวย ในแง่เด็กพิเศษให้ความช่วยเหลือได้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป เชื่อมโยงกับคำว่า Fairness (ยุติธรรม) ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เพราะครูมักบอกว่า ให้สิ่งนี้เพิ่มกับเด็กไม่ได้ ไม่ยุติธรรมกับเด็กคนอื่น ถามว่า แล้วคำว่า ยุติธรรม คืออะไร
“ยุติธรรมไม่แปลว่า ทุกคนจะต้องได้ทุกอย่างเหมือนกันเท่ากัน ความยุติธรรมคือทุกคนได้สิ่งที่ทุกคนต้องได้รับเพื่อความสำเร็จของเขา” ผศ.ดร.ธิดา กล่าว และว่า ดังนั้นเมื่อพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ถามว่า เราได้ให้ความยุติธรรมแล้วหรือไม่
ผศ.ดร.ธิดา กล่าวอีกว่า วันนี้ความไม่เท่าเทียม เราพูดถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาหรือโอกาสในการได้รับการศึกษา เพราะว่าประเทศไทย จริงๆ แล้วเด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาพอสมควร หมายถึงเข้าไปในระบบโรงเรียนแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ได้การศึกษา เช่น เด็กพิเศษ เด็กยากจน เด็กที่มีเพศภาวะที่แตกต่าง คนเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือไม่
สำหรับแนวคิด education for all ผศ.ดร.ธิดา กล่าวว่า ตั้งขึ้นในปี 1990(พ.ศ.2533) และต่อมาก็มีการพูดกันว่า เราจะจัดการให้การการศึกษาสำหรับทุกคนได้อย่างไร สำหรับเด็กกลุ่มอื่นๆ ที่ด้อยโอกาสในการศึกษา เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรวมเพราะว่าจากการวิจัย พบว่า มีความสับสนระหว่างการเรียนรวมและการเรียนร่วม ซึ่งสองคำนี้ไม่เหมือนกัน
ผศ.ดร.ธิดา กล่าวถึงการเรียนรวม หรือ Inclusion คือห้องเรียนธรรมดา แต่ครูจะต้องให้ความช่วยเหลือการเรียนการสอน ปรับสถาพในห้องเรียนเพื่อเด็กพิการ เด็กพิเศษ สามารถเรียนได้เหมือนคนอื่น ในขณะที่เมืองไทยมีสิ่งที่เรียกว่า การเรียนร่วม หลักๆ คือ เอาเด็กพิเศษเข้าไปใส่ในห้อง มีความคาดหวังว่าเด็กจะเอาตัวรอดเองได้ในห้องเรียน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนจึงเน้นไปทางเด็กปกติ
"หากมีเด็กพิเศษเข้ามาคุณต้องช่วยเหลือตัวเองเพื่อให้อยู่รอดให้ห้องนี้ คุณไม่ต้องปรับอะไร ซึ่งทำให้เกิดการไม่ได้รับการเรียนรู้ถึงประสิทธิภาพของเขา ขณะเดียวกันครูยังไม่มีทักษะมากพอที่ปรับการเรียนรู้ให้เด็กมากพอ"
ผศ.ดร.ธิดา กล่าวด้วยว่า ทัศนคติของคนไทยกับความพิการ การที่เราจะปรับให้มีการเรียนร่วมได้ เราต้องปรับอะไรบางอย่างก่อน คนไทยและหลายประเทศทั่วโลก เวลาพูดถึงความพิการ เราจะรู้สึกถึงความสมเพศ และเราจะให้ความช่วยเหลือแบบบริจาค ซึ่งเราควรเห็นใจ และให้โอกาส ในการพัฒนาศักยภาพเขา เพราะจริงๆ แล้วคนพิการมีความสามารถถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาใช้ความสามารถที่มี รวมถึงทัศนคติความคิดเรื่องการเกิดมาชดใช้กรรม เพราะฉะนั้นเราเลยมองว่า ให้คนพิการใช้กรรมต่อไป ซึ่งไม่ใ่ช่ เราไม่ควรเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น
"อุปสรรคอย่างหนึ่งในห้องเรียน คือเด็กๆ คนอื่นมองเด็กพิเศษกลั่นแกล้ง กีดกัน สร้างบรรยากาศห้องเรียน โรงเรียนไม่ปลอดภัยที่เด็กพิเศษจะเรียนร่วม เราต้องช่วยให้ความรเู้ด็กๆ เข้าใจความแตกต่าง” ผศ.ดร.ธิดา กล่าว
ภาพประกอบจาก http://icare.kapook.com/cmsfile/imgbank/201112_400_1.jpg