หวั่นนับหนึ่งใหม่ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขอคลังชัดเจนแผนเก็บภาษีน้ำหวาน
ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริญสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน รับได้ภาคเอกชนขอเวลาปรับตัว 2 ปี หากจะมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หวั่นมาประชุมนับหนึ่งใหม่อีก เสนอ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ....ประกาศในราชกิจจาฯ
ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริญสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงกรณีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำหวาน เพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น หลังมีการหารือกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งเห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำหวาน แต่ขอเวลาปรับตัว 5 ปี แต่คลังมองว่านานไป และได้สรุปขอเวลาปรับตัว 2 ปี นั้น โดยความเห็นส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินงานมานานแล้ว และที่ผ่านไปจนถึงคณะกรรมการแต่ละฝ่ายของรัฐบาล สปท.. สนช. และ ครม แล้ว มีการทำข้อตกลงกันมาหลายรอบ
“ในเบื้องต้นก็เคยคุยกันว่า สำหรับภาคเอกชนเรายินดีที่จะให้เวลาปรับตัว ไม่เกิน 2 ปี ขณะที่มาขอปรับตัว 5 ปี ซึ่งทางภาครัฐเองก็ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้ช่วยอะไรต่อสุขภาพประชาชน พร้อมกันนี้ทางภาคประชาชนมีข้อเสนออีกทางว่า จะเป็นไปได้ไหมหากจะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำหวานทันทีหลังกฎหมายสรรพสามิต ได้ประกาศใช้ ซึ่งก็คือข้อสรุป ฉะนั้น รัฐบาลควรแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะจัดเก็บแน่นอน”
ทพ.ญ.ปิยะดา กล่าวถึงช่วงเวลาให้ภาคเอกชนปรับตัว 2 ปี จึงอยากให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนกว่านี้ว่า 2 ปีที่ให้ภาคเอกชนปรับตัว คือตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ....ซึ่งผ่านการพิจารณาสนช.แล้วมีผลบังคับใช้ โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่
ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงเนื้อหาใน พ.ร.บ.สรรพสามิต เดิมเก็บเป็นมูลค่า และในร่าง พ.ร.บ. สรรพสามิต เก็บตามปริมาณ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเครื่องดื่ม แต่ทุกรายการในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เป็นวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่แบบผสม ซึ่งการจัดเก็บมูลค่าก็ยังมี แต่ตรงนี้จะเป็นการเพิ่มในการจัดเก็บตามปริมาณที่เป็นลิตรเข้าไป
สำหรับการทำงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทพ.ญ.ปิยะดา กล่าวว่า ได้มีการติดตามการดำเนินการของกระทรวงการคลัง และภาคเอกชนที่เห็นว่า การขึ้นภาษีไม่ใช่ทางออกเดียวทำให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลได้ ต้องมีกระบวนการรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้วย จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ มีกระทรวงการคลัง และภาคเอกชนเข้าร่วมแล้ว ทำงานในลักษณะที่เป็นแผนร่วม และมีกระบวนการที่เป็นแผนให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจด้วย
ทพ.ญ.ปิยะดา กล่าวถึงประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีการเก็บภาษีน้ำหวาน ได้เริ่มมีกระบวนการประเมินผลและเริ่มเห็นผลในเรื่องการลดอัตราโรคอ้วน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดจากโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยหากทำได้ ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการเก็บภาษีแบบนี้ แม้สิงคโปร์มีการทำข้อเสนออยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้
ทั้งนี้ คนไทยนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่า ภายในเวลา 5 ปี 2546-2552 มีการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นถึง 31.6% รวมทั้งปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases:NCDs)โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคเหล่านี้ คือ โรคอ้วน และการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการในประเทศไทย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
WHO หนุนไทยเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง แนะรัฐนำรายได้สร้างสุขภาพ ปชช.
กระตุ้นหน่วยงานรัฐ “ไม่กินหวาน” ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม
ขอบคุณภาพจาก:http://peoplepollthailand.com/web/