สังคมเหลื่อมล้ำ ลูกคนจนเสียโอกาสเรียนต่ออุดมศึกษาสูง 20 เท่า เมื่อเทียบคนรวย
ยูเนสโกเผยเด็กไทยช่วงประถมวัยกว่า 2 แสนคน อยู่นอกระบบการศึกษา ขณะที่โอกาสเรียนคนจน-รวยเหลื่อมล้ำกว่า 20 เท่า นักวิชการ ชี้รัฐเสียโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 % ทุกปี
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมสุโกศล กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับองการยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2559 เรื่องการศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา:สร้างอนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน
ในตอนหนึ่งของเวทีเสวนา ดร.ไกรยส ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลการสำรวจของยูเนสโกระบุว่า มีเด็กไทยกว่า 2แสนคนในวัยประถมศึกษาที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งสะท้อนข้อมุลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย เด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยที่จบมัธยมต้น 100% เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนมีเพียง 30-40% เท่านั้น เพราะฉะนั้นช่องว่างการจบการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย มากจากปัจจัยเหล่านี้คือ 1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ 2.ปัจจัยความเป็นเมืองและชนบท เพราะฉะนั้นหากเราต้องการให้ภายใน 15 ปี ข้างหน้า ที่ไทยตั้งเป้าจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางและสร้างการศึกษาเพื่อปวงชนให้สำเร็จได้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและช่องว่างของเมืองและชนบทคือโจทย์สำคัญ
ดร.ไกรยส กล่าวถึงข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% ของประเทศไทย มีโอกาสเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพียง 5% หมายความว่า หากเด็กจากทุกๆ ชั้นของรายได้เข้า ป.1 พร้อมกันครอบครัวยากจนมีโอกาสไปถึงระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยเข้าถึงโอกาสศึกษาในระดับที่สูงขึ้นถึง 100%
"ถ้าพูดในชัดๆ ในเรื่องบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน แสนล้านในแต่ละปี แต่เด็กที่ครอบครัวยากจนกว่า 95% ไปไม่ถึงเงินก้อนนั้น ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงตั้งไว้ให้พวกเขาเข้ามาแสวงหาความเจริญ ความมั่งคั่งให้ครอบครัวแล้วก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้" นักวิชาการจากสสค. กล่าว และว่า เรามีความเหลื่อมล้ำตรงนี้มากในแง่การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ที่น่าตกใจคือตัวเลข 5% กับ 100% ต่างกัน 20 เท่า ถ้าเราตกอยู่ในฟากครอบครัวยากจน 20% ล่างกับจำนวนอีก 20% บนของคนรวย เท่ากับว่า ชีวิตของเด็กไทยคนหนึ่งต่างกันถึง 20 เท่า อันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่สอดคล้องการสำรวจของยูเนสโก
ดร.ไกรยส กล่าวว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของความเหลื่อมล้ำจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทุกคนได้นั้นมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP หรือเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดสิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เพราะฉะนั้นหมายความว่าประเทศไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงครึ่งหนึ่งมาโดยตลอด เมื่อมองไกลๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถึงการเป็นประเทศที่ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ถ้าเกิดเราต้องสูญเสีย 3% ทุกปี ไปอีก15 ปีข้างหน้า เท่ากับเราต้องชะลอการออกจากกับดักตรงนั้นไปอีกราว 30 ปี แต่ถ้าหากเราสามารถดึง 3% ที่หายไปกลับมาได้ในทุกๆ ปี นับจากนี้ไป อีก 15 ปีข้างหน้าไทยจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางพร้อมๆ กับมาเลเซีย
ดร.ไกรยส กล่าวด้วยว่า ในเมื่อเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรายังต้องก้าวไปอีกถึงหลักประกันทางการศึกษาให้ประเทศไทยสามารถกล้าพูดได้ว่า ไม่มีเด็กคนไหนตกหล่นจากการดูเเลของระบบการศึกษาไทย
“ความเหลื่อมล้ำของการศึกษามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และที่สำคัญเมื่อการศึกษาทั่วถึงทุกคน สังคมแห่งกาเรียนรู้ก็จะเพิ่มขึ้น การพุดคุย การขัดแย้งในสังคมก็จะลดลง เพราะการศึกษามีการกว่าแค่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แค่คือการหล่อหลอมการพัฒนาคนตามแผนพัฒนาของแต่ละประเทศ” ดร.ไกรยส กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://www.obec.go.th/