ภาคประชาสังคม จี้ สนช. ตัดเอกชนเป็นกก.สรรหา ในร่าง พ.ร.บ.แข่งขันฯ
เครือข่ายผู้บริโภค-ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า สนช. เรียกร้องตัดตัวแทนองค์กรภาคธุรกิจเอกชนออกจากกรรมการสรรหา เสนอให้เพิ่มปลัดยธ. และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เพื่อรักษาความเป็นอิสระ ยันเป็นหัวใจสำคัญของร่างกฎหมาย
วันที่ 10 ก.พ.60 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ให้แปรญัติร่างกฎหมายโดยตัดตัวแทนจากองค์กรของธุรกิจเอกชนทั้ง 2 องค์กร ออกจากการเป็นกรรมการสรรหา พร้อมเสนอแนะให้เพิ่มปลัดกระทรวงยุติธรรม และตัวแทนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาสังคมเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาแทนองค์กรธุรกิจดังกล่าว
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า โดยชี้แจงต่อสาธารณะว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ครอบคลุมการดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจ 2) เพิ่มนิยามของคำว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้รวมถึงกิจการในเครือไม่ว่าในแนวราบหรือแนวดิ่ง และ 3) ความมีอิสระในการบังคับใช้กฎหมาย โดยตามมาตรา 11 ในเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้สรรหากรรมการแข่งขันทางการค้า มีตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเอกชน จำนวน 2 คน มาดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะเป็นกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐอีก 5 คน นั้น
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวจะทำให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่อาจมีตัวแทนหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับภาคธุรกิจเอกชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ กระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นอิสระ หากเริ่มต้นก็มีกรรมการสรรหาที่ปราศจากอิสระอย่างแท้จริงแล้ว คำกล่าวอ้างในสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 3 ข้อ คงไร้ความหมายในที่สุด
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมปรากฏเลยแม้แต่กรณีเดียว สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความอิสระ และสร้างข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการจำนวนหนึ่ง