ทำงานใหญ่ อย่าเอาแต่ "แก้ปัญหา"
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org บทความเรื่อง ทำงานใหญ่ อย่าเอาแต่ "แก้ปัญหา" เป็นเนื้อหาจากเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas โพสต์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560
เรามักจะเข้าใจว่าการทำงานคือการแก้ปัญหา ศาสตร์หลายศาสตร์เน้นการเอาความรู้ไปแก้ปัญหา บางสำนักการศึกษาเชื่อกันว่าการเรียนรู้ที่ดีคือเรียนจากปัญหาและการแก้ปัญหา
เชื่อไหมครับว่าปัญหาใหญ่ ๆ และแก้ยากมาก จนเหมือนจะไม่มีวันแก้ได้นั้น เอาเข้าจริง มักจะแก้ได้ไม่ใช่ด้วยการปฏิบัติแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนกรอบคิด หรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เมื่อต้นสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ปัญหาฉับพลันของเราก็คือ: จะทำอย่างไรกับกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกมากมายทั้งทางภาคใต้และภาคตะวันออก ? ดูเหมือนเขาจะยื่นคำขาดให้เราเลือกที่จะยอมแพ้หรือสู้จนตายทั้งชาติ เรากลับเอาแต่ตัวรอดด้วยการไม่เลือกทั้งสองทาง แก้ปัญหาด้วยการเลือกทางที่สามคือ ไม่ยอมแพ้ แต่ก็ไม่เลือกที่จะตายย่อยยับ เรายอมให้ญี่ปุ่น "ผ่านทางอย่างสันติ" เก๋เสียไม่มี
เมื่อเวียดนามบุกยึดเขมรในปี 2522 จนมาประชิดชายแดนไทยตลอดแนว แทนที่เราจะเตรียมรบ และ ต้านทานเวียดนามแต่อย่างเดียว เรากลับแก้ปัญหาด้วยการเลิกมองจีนเป็น"ศัตรู" จากที่เคยเป็นศัตรูกันมาร่วมยี่สิบปี หันมาเป็น " มิตร" นี่คือการเปลี่ยนกรอบคิดได้อย่างกระทันหัน ร่วมกับจีน "ศัตรูเก่า" ไป "ต้านทาน" เวียดนามที่เพิ่งจะเอาชนะสหรัฐมาได้หยกๆ และเรายังอาศัยการที่จีนจำเป็นต้องใช้ไทยผ่านอาวุธให้เขมรแดง เป็นเงื่อนไขให้เขายุติการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์และพลเอกเปรม ยังเปลี่ยนจากการมอง"ทหารป่า"เป็นต่างด้าวเป็นศัตรูของชาติ มาเป็นคนไทยด้วยกัน รักชาติด้วยกัน เพียงแต่มีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่สมควรจะรบราฆ่าฟันกัน รัฐไทยเปลี่ยนมามองพวกเขาเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ไม่ใช่ "ผู้ก่อการร้าย" อย่างที่เคยมองมาร่วมสองทศวรรษ
หากเราไม่ปรับกระบวนทัศน์ใหญ่กันในครั้งนั้น สงครามกลางเมืองอาจจะยังไม่ยุติ และเลือดไทยจากสองฝ่ายคงไหลนองจนแลไม่เห็นแผ่นดินไทยเสียแล้ว
คนเราก็เหมือนกัน การแก้ปัญหานั้นอย่าเอาแต่ขยัน เอาแต่ประสบการณ์ เอาแต่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก เราต้องการมุมมองหรือกระบวนทัศน์ที่เหมาะสมด้วย มุมมองที่ดีนั้นต้องไม่ดูเบาตัวเองทำลายหรือทำร้ายตัวเอง หากมุมมองใดที่ทำให้เราตกต่ำ หมดหวัง หม่นหมอง ทิ้งมันเสียเถิด แม้ว่ามันจะ"จริง" มากก็ตาม เตือนตัวเองว่า ความจริงในสถานการณ์หนึ่งหรือในปัญหาหนึ่งนั้น มีได้มากกว่าหนึ่งเสมอ จงเลือกตีความอย่างที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ สู้ต่อไป เดินต่อไปได้
เมื่อตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540-42 นั้น หลายท่านคงจำได้หรืออยู่ในเหตุการณ์เอง ประเทศไทยและคนไทยโดยเฉพาะนักธุรกิจที่มีหนี้สินต้องเดือดร้อนหลายคนล้มละลายขายกิจการและทรัพย์สินหมดเนื้อหมดตัว แทบล้มประดาตาย ในช่วงนั้น มีข่าวหนุ่มนักธุรกิจวัยกลางคนติดหนี้อยู่ไม่กี่ล้านคิดมาก ผิดหวังกับชีวิต น้อยใจในโชคชะตา ต้องล้มเลิกกิจการ ขายบ้านขายรถ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด จนต้องฆ่าตัวตายหนีโลกที่ไม่เป็นธรรมกับคนดีคนขยันคนสู้ชีวิต แต่ก็มีมหาเศรษฐีอีกรายหนึ่งเคยมีถึงหลายพันล้านบาท แล้วต้องล้มละลาย เป็นหนี้หลายหมื่นล้าน แต่รายนี้แก้ปัญหาด้วยหลักนิยม "ไม่มี ไม่จ่าย ไม่หนี ไม่ตาย" คงคิดอยู่ว่าเขาโชคร้าย แต่ มันไม่ใช่ความผิดของเขา ชีวิตต้องมีความหวัง และมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเสมอ และในวันนี้หลังวันอันมืดมิดเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ก็ได้ข่าวมาว่าเขาหมดหนี้แล้ว และกลับมามีเป็นพันๆ ล้านได้อีกแล้ว และยังมีอีกรายหนึ่งครับ ยังไม่หมด รายที่สาม รายนี้คิดคล้ายรายแรก คือ คิดจนอยากฆ่าตัวตาย แต่ความที่รักครอบครัวมาก เกรงว่าลูกเมียคงลำบากในโลกที่อยู่ยากและไม่เป็นธรรม จึงวางแผนปลิดชีวิตลูกเล็กสองคนและภรรยาสุดที่รักก่อน เขาช่างวางแผนได้ซับซ้อน ใช้ปืนเก็บเสียง ยิงทีละคน ยิงทีละห้อง เขา "แก้ปัญหา" ทั้งปวง "สำเร็จ" จนตายหมดทั้งครอบครัวได้ตาม"แผน"
ท่านครับ ทั้งสามคนที่เล่ามานั้น อยู่ในวิกฤตเดียวกัน เคราะห์ร้ายคล้ายกัน อยู่ในความจริงชุดเดียวกัน แต่เลือกมองปัญหาต่างกัน ด้วยมุมมองที่ต่างกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสามคนอยู่ในสถานการณ์ใหญ่เดียวกัน แต่การคิดการตีความการใช้กระบวนทัศน์ต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน คนเรานั้นคิดที่จะพาตัวเองไปสู่มุมอับก็คิดได้ สู่มุมเปิดก็คิดได้ ไปสู่ความมืดและที่สุดมืดมิดก็ได้ ไปสู่แสงลำเล็กๆ แล้วลำใหญ่ขึ้น จนเห็นถึงความสว่างไสวเลยก็ได้เช่นกัน
ไม่ว่าชีวิตคนชีวิตประเทศ ไม่ว่าปัญหาส่วนตน ปัญหาประเทศ จงอย่าเอาแต่แก้ปัญหา หมกมุ่นกับวิธีการเดิม เติมเข้าไปก็แต่ความขยัน ทุ่มเท และ เสียสละเท่านั้น พยายามหาวิสัยทัศน์ใหม่ หาความคิดและมุมมองใหม่ ที่อาจจะกลับทิศ กลับขั้วก็ได้ ที่ยืดหยุ่น พลิกพริ้ว ให้มากขึ้น ก็ได้ ที่เพิ่มพลังใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ก็ได้
สรุป ปัญหา บ่อยครั้ง ไม่ได้มีไว้ให้แก้ แบบปกติจำเจ แต่มีไว้เพื่อรอการปรับเปลี่ยนนำพาไปสู่ทิศทางใหม่ ได้ด้วยความคิด ได้ด้วยปัญญาใหม่ และบ่อยครั้งไม่ใช่เพียงด้วยความรู้และด้วยการลอกแบบหรือทำตามผู้อื่น ประเทศอื่นเท่านั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://thaipublica.org/2014/10/anek-laothamatas/