คำวินิจฉัย คตง.ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซในทะเล เกินอำนาจศาล ปค.หรือไม่
มหากาพย์กรณีทวงท่อก๊าซ สมบัติชาติ มีเรื่องราวยืดยาวจนหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ขอนำเรื่องราวมาสรุปให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมดังนี้
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org บทความเรื่อง คำวินิจฉัย คตง.ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซในทะเล เกินอำนาจศาล ปค.หรือไม่ เป็นเนื้อหาจากเฟซบุ๊กของ Rosana Tositrakul โพสต์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560
1 ) การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2544 ไม่ได้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซ ออกจาก กิจการจัดหาและจัดจำหน่าย ตามมติครม.ในรัฐบาลชวน หลีกภัย (เมื่อ 16 ก.พ. 2542) ที่มีมติให้แยกกิจการก๊าซออกก่อนการแปรรูป และการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และให้การปิโตรเลียมถือไว้ 100%
2 ) สาเหตุที่ไม่แยกท่อก๊าซออกก่อนการแปรรูปนั้น อาจมีสาเหตุจากมูลค่ากิจการก๊าซที่มีสูงมากในมูลค่าหุ้น ดังที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพปตท. ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินราคาหุ้นไว้ว่ามูลค่าที่เกิดจากธุรกิจก๊าซในมูลค่าหุ้นขั้นต่ำนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 78.64 และคิดเป็นร้อยละ 81.31 ของมูลค่าหุ้นขั้นสูง
3 ) การไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซออกไปก่อนที่จะมีการแปรรูป ทำให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน ซึ่งขัดหลักการการแปรรูปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการแข่งขัน ประชาชนจะได้บริการที่มีคุณภาพดีในราคาเหมาะสม แต่การแปรรูปในครั้งนั้นกลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นภาคเอกชน 48% ในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างมาก โดยจ่ายเม็ดเงินซื้อหุ้นจำนวน 48% เพียงประมาณ 28,277 ล้านบาทเท่านั้น แต่การแปรรูปใน 14 ปีที่ผ่านมา (2544-2558) เพียงรายได้จากค่าผ่านท่อก๊าซเพียงอย่างเดียว บมจ.ปตท.ก็มีรายได้สูงประมาณ 356,000 ล้านบาท โดยจ่ายค่าเช่าท่อให้รัฐจากท่อก๊าซที่คืนให้บางส่วนในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณ 5,996 ล้านบาท หรือเท่ากับว่า บมจ.ปตท. มีรายได้ 100 บาท จะมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 98 บาท และจ่ายค่าเช่าให้รัฐเพียงประมาณ 2 บาทเท่านั้น
4 ) การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2549 และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ ฟ35/2550 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยว่า ในการแปรรูปมีส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แยกสาธารณสมบัติและไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการยุติการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และการแปรรูปทำให้บมจ.ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ จึงไม่สามารถครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป ดังนั้นในคำพิพากษาจึงสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท. ร่วมกันกระทำการ (1) แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2)สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ (3)รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่4 (บมจ.ปตท.)
5 ) รัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์มีมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค 2550 ว่า (1)รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (2)เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
6 ) ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ไม่ได้ปฏิบัติตามมติครม.ที่ต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินก่อน แต่เพราะความเห็นแย้งกันที่สตง.เห็นว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องคืนด้วย แต่เมื่อมีความเห็นแย้งกลับไม่มีการส่งเรื่องนี้ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
7 ) ในคำสั่งศาลฯที่ ฟ35/2550 ระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา แต่ในกระบวนการก่อนที่จะรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาต่อศาลฯเมื่อวันที่ 25 ธ.ค 2551 ไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องสำคัญนี้เข้าครม.เพื่อพิจารณาก่อนว่ามีการดำเนินการตามมติ
ครม.เรียบร้อยหรือไม่ แต่ในรายงานที่เสนอต่อศาลฯมีการรายงานว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้เกี่ยวข้องเห็นชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สิน จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อศาลฯที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะสตง.เห็นว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติที่ต้องแบ่งแยกคืนให้แผ่นดินด้วย แต่ทรัพย์สินส่วนนี้ไม่ได้แบ่งแยกคืนให้รัฐ
8 ) ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ได้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกพร้อมด้วยประชาชนอีก 1,455 คนได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ที่ต้องให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเสียก่อน และเมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ในการฟ้องคดีนี้ ศาลฯมีคำสั่งที่ 800/2557 ความตอนหนึ่งระบุว่า การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติครม.เป็นเรื่องภายในที่ต้องไปว่ากล่าวกันเองในหน่วยงานที่มีคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น
คำสั่งที่ 800/2557 แสดงว่าการที่ศาลฯสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 ไปร่วมกันกระทำการตามคำสั่งศาลฯนั้นเป็นขั้นตอนของฝ่ายบริหารที่ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่จะมารายงานต่อศาลฯ และหากมีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง
9 ) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบว่าหน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือมติครมหรือไม่
10 ) คตง.จึงมีอำนาจตรวจสอบตามคำสั่งศาลปกครองที่ 800/2557 ว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหมายเลขคดีแดงที่ฟ35/2550 ของรัฐบาลพล.อสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มอบหมายให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินว่ามีการดำเนินการครบถ้วนตามมติครม.หรือไม่
11 ) คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีคำวินิจฉัยว่าคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ ฟ35/2550 มีความชัดเจนว่าการคืนท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบ ศาลไม่ได้ให้คืนเป็นส่วนๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนหรือไม่
12 ) เมื่อคตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานด้านบริหารที่เรียกว่าหน่วยรับตรวจว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติครม.หรือไม่ ประกอบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 าเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินที่มีคำร้องว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมติครม.นั้น ให้ไปว่ากล่าวกันเองในฝ่ายบริหาร คตง. จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ที่ต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินจริงหรือไม่ และคตง.วินิจฉัยว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่บมจ.ปตท.ต้องส่งมอบคืนให้กระทรวงการคลังด้วย
คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 มีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซทั้งระบบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และต้องคืนทั้งระบบไม่ใช่คืนเป็นท่อน เป็นส่วนๆ ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง ก็ยืนยันว่าคำพิพากษานั้นมีความชัดเจนว่า ท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนหรือไม่
เมื่อคตง.ตรวจสอบและวินิจฉัยว่า มีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วน คตง.จึงมีมติให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซในทะเล และ ท่อก๊าซบนบก รวมมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และมีหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท.ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวคืนกระทรวงการคลังให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีการแจ้งด้วยหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งครบกำหนด 60 วัน เมื่อ 24 ตุลาคม 2559
ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 จึงชอบที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหาร จะดำเนินการสั่งการหน่วยราชการในกำกับให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ ฟ35/2550 ให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบและวินิจฉัยของคตง.เสียก่อน แล้วจึงนำความไปกราบเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดใหม่อีกครั้ง
ดังนั้นการตรวจสอบและวินิจฉัยของคตง.จึงเป็นการตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการของหน่วยราชการในฝ่ายบริหาร เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ ฟ35/2550 อย่างถูกต้อง และเป็นการตรวจสอบตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 คำวินิจฉัยของคตง.จึงไม่เป็นการขัดแย้งกับศาลปกครองแต่ประการใด
รสนา โตสิตระกูล
9 ก.พ 2560
อ่านประกอบ
2 อดีตรมต.-บิ๊กปตท.ระทึก! 'คตง.' นัดสรุปคดีส่งคืนท่อก๊าซปตท. 10 พ.ค.นี้
ฟังชัดๆ ข้อเท็จจริง 5 ประเด็น! 'สตง.' หักล้าง 'ปตท.' เงื่อนงำคดีส่งคืนท่อก๊าซ
สตง.แจงศาลปค.ยัน ปตท.ยังคืนท่อก๊าซไม่ครบขาดเฉียดหมื่นล.
ยังไม่คืนในทะเลเฉียดหมื่นล.! เปิดผลสรุป สตง.แจง ศาล ปค.คดีท่อก๊าซ ปตท.
ยังไม่ได้รับฟังคำโต้แย้งสตง.!กฤษฎีกาให้'คลัง'เสนอศาลปค.หาข้อยุติคืนท่อก๊าซปตท.ใหม่
เผยจุดยืนสตง.วงประชุมร่วม ก.คลัง จี้ 'ครม.' ใช้อำนาจกม.เรียกคืนท่อก๊าซ ปตท.