ดร.ธงชัย ชี้กทม.สวนกระแสโลก เลิกบีอาร์ที ขนส่งสาธารณะ อ้างขาดทุน
ดร.ธงชัย ชี้กทม.ยกเลิกบีอาร์ที ระบบขนส่งสาธารณะ อ้างขาดทุน ฉะวิธีคิด ให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งแทนที่ ถือเป็นหลักที่ผิดจากกระแสโลก แนะปรับราคาเหตุประชาชนยอมจ่าย
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีผลการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ประชุมมีมติยกเลิกการดำเนินโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ว่า การที่กทม.อ้างว่า ขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องปีละ 200 ล้านบาททุกปี ขณะที่จำนวนผู้โดยสาร 20,000 คน / วัน ถ้าคิดจาก 220 วันที่ทำงาน ไม่ได้คิดจาก 365 วัน ก็จะตกคนละ 40 กว่าบาท การที่บอกว่า กทม.ขาดทุนต่อคน/วัน จึงไม่น่าเป็นไปได้ และไม่ได้มากถึงขนาดนั้น
“การที่ยกเลิก บีอาร์ที และเอารถยนต์เข้ามาแทนที่ เป็นการเพิ่มพื้นที่จราจรบนถนนเส้นนี้ ไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหารถติด การเพิ่มจำนวนอีกช่องหนึ่งจะเป็นการเปิดทางให้รถวิ่งได้เต็มถนน สุดท้ายรถก็ติดเหมือนเดิม ฉะนั้นวิธีคิดที่จะยกเลิกขนส่งมวลชนสาธารณะและให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งแทนที่ ถือเป็นหลักที่ผิดจากกระแสโลกทั้งหมด”
ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า หากต้องการแก้ปัญหาของระบบจารจรในกรุงเทพฯ สายสาธร-ราชพฤกษ์ หรือสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ จุดนี้คงทำไม่ได้ เพียงแต่จะต้องเพิ่มสายของบีอาร์ที ให้มากขึ้น เพราะบีอาร์ทีก็คือ รถไฟฟ้า แต่ในการทำงาน การทำโครงการถูกกว่า และเร็วกว่าเท่านั้นเอง
“เปรียบเทียบกับการสร้าง BTS กว่าจะตั้งเสาขึ้นมานั้น ใช้เวลานานเท่าไร และมีจำนวนรถติดมหาศาล ค่าใช้จ่ายและค่าสูญเสียไปอีกเท่าไร อันนี้คือประชาชนเป็นคนจ่าย ขณะที่บีอาร์ที เป็นการเดินรถบนเลนถนนที่วิ่งไปทั่วเมือง เหมือนกับรถไฟฟ้าเช่นกัน”
ดร.ธงชัย กล่าวถึงการที่บีอาร์ทีจะหยุดวิ่ง หลังวันที่ 30 เมษายน 2560 เพราะคำว่า “ขาดทุน” เพราะไม่ขึ้นราคาและทนขาดทุนไม่ไหว บีอาร์ทีต่อไปจะเกิดขึ้นในไทยไม่ได้อีกเลย ก็จะเป็นอะไรที่ยังเป็นไทย 2.0 ไปเรื่อยๆ ดังนั้นอยากให้กทม.ทบทวนใหม่ หากยังเก็บค่าโดยสารราคานี้ ฝืนธรรมชาติ ก็ขาดทุน ฉะนั้นต้องมีความกล้าหาญพอที่จะบอกว่า ค่าโดยสารราคาไหนทำให้การเดินรถไม่ขาดทุน ขอขึ้นเป็นราคาเท่านี้เพื่อให้เท่าทุน และแจกแจงให้โปร่งใส เพราะประชาชนก็ออกมารณรงค์แล้วว่า ไม่ให้เลิก รถเมล์บีอาร์ที ขอให้เพิ่มขึ้นราคาเขายินดีจ่าย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ออกมาระบุว่า กรุงเทพมหานครจะปรับอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ โดยเก็บในอัตราตามโซนของการเดินทาง ดังนี้ โซนที่ 1 จากสถานีสาทร (B1) ถึง สถานีวัดด่าน (B6) จำนวน 6 สถานี กำหนดอัตราค่าโดยสาร 5 บาท โซนที่ 2 จากสถานีวัดด่าน (B6) ถึงสถานีราชพฤกษ์ (B12) จำนวน 6 สถานี กำหนดอัตราค่าโดยสาร 5 บาท แต่ในกรณีที่เดินทางข้ามโซน จะคิดอัตราค่าโดยสาร 10 บาท
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารบีอาร์ที ตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อ 29 พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) แล้วมากกว่า 36 ล้านเที่ยวคน มีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ บีอาร์ที แยกตามสถานี ปี 2558 สายสาธร-ราชพฤกษ์ เฉลี่ย 2.2 หมื่นคนต่อวัน โดยผู้โดยสาร 30% เป็นเด็กนักเรียน ซึ่งทำให้ระบบมีความหนาแน่นในช่วงเปิดเทอมและบางเบาลงในช่วงปิดเทอม
อ่านประกอบ :
โชว์ผลสอบ‘สตง.’ ปมรถ‘BRT’ ก่อน กทม. สั่งยกเลิกให้บริการ-ขาดทุนยับพันล.