รับนโยบายการค้าทรัมป์ ดร.สมเกียรติแนะรัฐ-เอกชน เตรียมแผนสำรอง กระจายความเสี่ยง
ไทยยังไม่ใช่ประเทศเบอร์หนึ่งในสงครามการค้าสหรัฐฯ ดร.สมเกียรติ แนะรัฐบาล เอกชนอย่านิ่งนอนใจ เตรียมแผนสำรอง กระจายความเสี่ยง
วันที่ 8 ก.พ. 60 ที่โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนทัล สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ 2560 “การค้าของอาเซียนและการลงทุนภายใต้นโยบายของทรัมป์ อเมริกาต้องมาก่อน”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายของทรัมป์ ว่า สภาพการค้าของโลกน่าจะอยู่ในช่วงการกีดกันทางการค้าเยอะ ภายใต้นโยบายใหม่ของโดนัล ทรัมป์ ที่เน้นผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก ซึ่งความหมายในทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับไทยคือ การที่สหรัฐต้องการลดการขาดดุลทางการค้า สร้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น ก็น่าจะส่งผลกับหลายประเทศในโลก
"สหรัฐเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ ในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบอาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรง เพราะเราส่งออกโดยคิดเป็นสัดส่วนในมุมของสหรัฐฯ เพียง 1% ไม่ได้สูงเท่ากับจีน ซึ่งมีมากถึง 20% ขณะที่เวียดนามเองก็มีการส่งออกมากกว่าไทย"
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการที่นายโดนัล ทรัมป์ ทำนโยบายเพื่อสร้างงานในประเทศ โดยการดึงบริษัทของสหรัฐกลับไปลงทุนในประเทศนั้น เรื่องนี้ไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไร เพราะว่า บริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่ที่ลงทุนในประเทศไทยก็หวังตลาดในประเทศเท่านั้น ฉะนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผลที่จะย้ายกลับ แต่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือตลาดการเงินของโลกจะผันผวนมากขึ้น จากข่าวสารการเคลื่อนไหวของทรัมป์ ในการทดลองนโยบายใหม่ๆ ที่ทำให้ตลาดไม่ทันตั้งตัว เงินทุนจะขึ้นลง แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคผลิต หากจะส่งผลต่อภาคการเงินที่จำเป็นต้องมีการประกันความเสี่ยงเอาไว้บ้าง
"สิ่งที่น่าจะเป็นห่วงจริงๆ สำหรับไทย คือการกีดกันทางการค้า ทางสหรัฐทำได้หลายรูปแบบ ที่ต้องจับตาหากเอานโยบายที่เรียกว่า ภาษีพรมแดน ผลคือไม่ว่าจะส่งอะไรไปขายในสหรัฐจะมีราคาต้นทุนสูงขึ้น การค้าโลกก็จะหดตัว ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเยอะก็จะได้รับผล กระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศที่ส่งออกไปเกินดุลการค้าสหรัฐ อย่างจีน เวียดนาม ประเทศเหล่านี้น่าห่วงหากสหรัฐใช้มาตรการอื่น เช่น ภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านแรงงาน ซึ่งประเด็นสองอย่างนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็ไม่เชื่อว่าทรัมป์จะใช้นโยบายนี้ เพราะว่าโดยทางอุดมการณ์ทรัมป์ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ แต่หากเขาหวังผลอย่างเดียวในการไม่ให้สหรัฐขาดดุลการค้า
“หากเกิดสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะระหว่าง สหรัฐฯ จีน จะทำให้โลกปั่นป่วน การเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศต่ำลง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่แล้ว” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า หากไม่เกิดสงครามการค้า เป็นเพียงการกีดกันการค้าขนานใหญ่ที่มุ่งไปที่จีน ผลจะออกมาทั้งบวกเเละลบ
สำหรับนโยบายของทรัมป์ในด้านบวกนั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จีนจะส่งสินค้าไปขายในอเมริกาน้อยลง ซึ่งแปลว่า อาจต้องการสินค้าจากประเทศที่ยังเกินดุลการค้าไม่เยอะ และไทยอาจจะไปอานิสงส์ด้านบวกไปด้วย และผู้ประกอบการในจีนอาจย้ายฐานการผลิตมาอาเซียน ส่วนนี้มีทั้งดีและเสีย คือไทยจะได้ผู้ลงทุน แต่จะมีความเสี่ยงว่า เมื่อจีนย้ายฐานมาไทย ไทยอาจกลายเป็นเป้าต่อไป อีกทั้งยังทำให้การแข่งขันในตลาดของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยไม่เตรียมพร้อม ก็อาจโดนผลกระทบไปด้วย
“ส่วนที่ไทยที่ส่งออกชิ้นส่วนไปยังจีน และจีนประกอบส่งไปสหรัฐ หากจีนโดนเล่นงาน การส่งออกของไทยอาจจะลดลง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบและรัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ผู้ประกอบการต้องมีแผนการสำรอง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐ หรือส่งผ่านตลาดจีน ดังนั้น หากอิงนโยบายในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกจะตอบโต้ได้ยาก ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวกระจายความเสี่ยง"
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องมีแผนสำรองหากมีการใช้มาตรการกีดกันการค้าในวงกว้างจะทำอย่างไร หาตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะการเจรจาเขตการค้าเสรีที่เรียกว่า อาเซียนบวกหก ให้ก้าวหน้า เปิดเสรีกันมากขึ้นจึงจะมีผลทดแทนกันได้ ในเรื่องความตกลงการค้า TPP ที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป แต่11 ประเทศกำลังหารืออยู่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะเดินหน้าโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยการแก้ระเบียบบางอย่าง และในอีกสี่ปี ข้างหน้าหากสหรัฐฯ พร้อมจะกลับมาเมื่อไร ก็จะมีการคิดแผนไว้เหมือนกัน TPP ยังไม่เกิดกับไทยโดยตรง แต่หากไม่ทำอะไรเลย แล้ว อีกสีปี เกิดสหรัฐกลับมาใหม่ ก็อาจโดนผลกระทบได้ ส่วนนโยบายการค้า FTA ต้องเน้นเจรจาการผู้ค้ารายใหญ่มากขึ้น เช่นอังกฤษที่เพิ่งออกจากสหภาพยุโรปหรือEU เป็นประเทศที่ตื่นตระหนกในการหาคู่ค้าใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของไทย แต่อังกฤษจะเลือกหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง