ป้องถูกประทุษร้าย! ป.ป.ช.ออกระเบียบให้มีรถหุ้มเกราะกันกระสุน กก.-จนท.
ราชกิจจานุเบกษาแพร่ระเบียบ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ให้มีรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุน ป้องกันประทุษร้าย จนท.-กก.ป.ป.ช. ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน ใช้ได้คราวละไม่เกิน 1 ปี รายงานสภาพให้รู้ทุกเดือน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยการมีและการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้จัดหารถยนต์หุ้มเกราะเพื่อคุ้มครองกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) และเจ้าหน้าที่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. จากเหตุการณ์ประทุษร้าย โดยการใช้รถยนต์หุ้มเกราะดังกล่าวต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน (เว้นประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีสิทธิ์ใช้ตามตำแหน่ง) และใช้ได้คราวละไม่เกิน 1 ปี ต้องทำเรื่องขออนุญาตใหม่
ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าว ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการมีและการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ ป.ป.ช. ประธานกรรมการ ป.ป.จ. กรรมการ ป.ป.จ. อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการมีและการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน พ.ศ. 2560”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
“รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน” หมายความว่า รถยนต์พร้อมอุปกรณ์ในการป้องกันร่างกายหรือชีวิตบุคคลจากการประทุษร้ายโดยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของสํานักงาน ป.ป.ช.
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงาน ป.ป.ช. และสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัด
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย
“ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน
“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแล การมีและการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน
ข้อ 4 ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามระเบียบนี้
หมวด 1 บททั่วไป
ข้อ 5 รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนให้ใช้เฉพาะเพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น
ข้อ 6 ให้สํานักงานจัดให้มีสถานที่เก็บรักษารถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนที่มีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัยและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายหรือระเบียบกําหนด
ข้อ 7 การอนุญาตให้ใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน ให้อนุญาตได้คราวละไม่เกินหนึ่งปี
ข้อ 8 ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีสิทธิที่จะมีและใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนตามระเบียบนี้ โดยให้ผู้อนุญาตจัดทําหลักฐานการมีและการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนใหก้ับประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.
หมวด 2 ผู้อนุญาต
ข้อ 9 ผู้อนุญาตมีอํานาจอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตมีและใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนได้ตามความจําเป็น เพื่อป้องกันอันตรายจากการประทุษร้ายโดยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
ข้อ 10 เมื่อผู้อนุญาตเห็นสมควรหรือตามรายงานความเห็นของนายทะเบียนตามข้อ 16 (6) ผู้อนุญาตอาจเพิกถอนการอนุญาตให้มีและใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนก็ได้
หมวด 3 ผู้รับอนุญาต
ข้อ 11 ผู้ที่ยื่นขออนุญาตมีและใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นประธานกรรมการ ป.ป.จ. กรรมการ ป.ป.จ. อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของสํานักงาน
(2) เป็นผู้บริหารหน่วยงานอื่นตามที่เลขาธิการเห็นสมควร
ข้อ 12 ผู้ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 11 และมีความจําเป็นต้องใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนให้ยื่นคําขอพร้อมหลักฐานตามคําสั่งนายทะเบียนต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อรับรองเหตุผลความจําเป็นในการขอใช้นั้นก่อน และให้เสนอคําขอนั้นต่อผู้อนุญาตต่อไป
ข้อ 13 เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ให้ผู้รับอนุญาตนําหลักฐานการอนุญาตไปยื่นขอรับรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนจากนายทะเบียน โดยทําหลักฐานการขอรับมอบไว้แก่นายทะเบียน
ข้อ 14 ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน ดังต่อไปนี้
(1) ดูแลรักษาให้ดีที่สุดเสมือนเป็นทรัพย์สินของตนเอง
(2) รายงานสภาพให้นายทะเบียนทราบทุกหนึ่งเดือน
(3) รายงานการใช้ส่งนายทะเบียนทุกครั้งที่มีการใช้
(4) รายงานเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตหรือนายทะเบียนทันทีที่เกิดการชํารุด สูญหาย บุบสลาย หรือถูกทําลาย
(5) นําส่งคืนนายทะเบียนทันทีที่เสร็จภารกิจหรือเมื่อถูกเพิกถอนการอนุญาต
(6) ชดใช้ความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย หรือเกิดจากการใช้งานตามปกติ
(7) ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้อนุญาตเห็นสมควร
ข้อ 15 ห้ามผู้รับอนุญาตทําการทดสอบหรือแก้ไขดัดแปลงรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนทุกกรณี
หมวด 4 นายทะเบียน
ข้อ 16 ให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการสํานักงานระดับไม่ต่ํากว่าผู้อํานวยการสํานักหนึ่งคนเป็นนายทะเบียน และอาจแต่งตั้งข้าราชการสํานักงานเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนตามที่เห็นสมควรก็ได้ โดยให้นายทะเบียนมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแล การมี การใช้ และการเก็บรักษารถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน ดังต่อไปนี้
(1) จัดระบบการจัดหา ควบคุมและเก็บรักษา
(2) ควบคุมการเบิกจ่ายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(3) ตรวจสอบสภาพ ตรวจนับจํานวน และรายงานการใช้เสนอต่อผู้อนุญาตทุกหกเดือนหรือตามที่ผู้อนุญาตจะมีคําสั่ง
(4) ทําหนังสืออนุญาตให้ใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนเสนอผู้อนุญาต
(5) รายงานต่อผู้อนุญาตทันทีเมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตเสียชีวิต และให้นายทะเบียนติดตามรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนกลับคืน
(6) รายงานความเห็นเสนอผู้อนุญาตเพื่อเพิกถอนการอนุญาต เมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 14 และข้อ 15
(7) รวบรวมรายงานตามข้อ 14 (2) (3) และ (4) และรายงานความเห็นเสนอผู้อนุญาต
(8) รายงานส่งคืนตามข้อ 14 (5) หรือรายงานต่อผู้อนุญาต
(9) ติดตามการชดใช้ค่าเสียหายตามข้อ 14 (6) และรายงานพร้อมความเห็นเสนอผู้อนุญาต
(10) เสนอให้มีการทําลายรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุต่อผู้อนุญาต
(11) จัดทํารายงานชี้แจงเหตุผลการทําลายแจ้งต่อกรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เพื่อร่วมตรวจสอบและร่วมกันทาลาย ํ
(12) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ผู้อนุญาตเห็นสมควร
(13) ออกข้อบังคับหรือคําสั่ง โดยความเห็นชอบของเลขาธิการ เพื่อปฏิบัติตามอํานาจหน้าที่ในระเบียบนี้
หมวด 5 การเพิกถอนการอนุญาต
ข้อ 17 ผู้รับอนุญาตอาจถูกเพิกถอนการอนุญาตได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) พ้นจากตําแหน่ง หรือสถานะการเป็นข้าราชการของสํานักงาน
(2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 11
(3) ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือคําสั่งที่นายทะเบียนออกตามข้อ 16 (13)
(4) ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยเกี่ยวกับการใช้รถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน
หมวด 6 การส่งคืนและการใช้ค่าเสียหาย
ข้อ 18 การส่งคืนรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุน ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
(1) กรณีส่งคืนตามข้อ 14 (5) ให้ส่งคืนทันที เว้นแต่มีเหตุผลและความจําเป็นอย่างยิ่งก็ให้ส่งคืนภายในห้าวันนับแต่วันเสร็จสิ้นภารกิจหรือมีคําสั่งเพิกถอน
(2) กรณีผู้รับอนุญาตเสียชีวิต ให้ทายาทหรือผู้ครอบครองส่งคืนภายในสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับอนุญาตเสียชีวิต
ข้อ 19 กรณีรถยนต์หุ้มเกราะป้องกันกระสุนสูญหายหรือถูกทําลาย หรือไม่อาจนําส่งคืนได้ให้ผู้บังคับบัญชาหรือทายาทของผู้รับอนุญาตแจ้งให้นายทะเบียนทราบทันที
ข้อ 20 ในการชดใช้ค่าเสียหายตามข้อ 14 (6) ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ประกาศ ณ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560
พลตํารวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(อ่านประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/015/10.PDF)