สปก.รับกลัวอำนาจมืด จัดสรรที่ดินเกษตรกรรมไม่เป็นธรรม
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคประชาชนร้องรัฐเพิกเฉยจัดการนายทุนรุกที่สปก.เสนอตั้งธนาคารที่ดินกำหนดมาตรการจัดเก็บภาษีออกโฉนดชุมชนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่รองเลขาฯสปก.ยอมรับขรก.ไม่กล้าตรวจสอบเพราะกลัวอำนาจมืด
เร็ว ๆ นี้ โครงการวิจัยการถือครองที่ดินเพื่อความเป็นธรรม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน จัดสัมมนา “แนวทางกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม บทเรียนการจัดการที่ดิน สปก. ของเกษตรสุราษฎร์ธานี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการถือครองที่ดินเพื่อประกอบอาชีพ เพราะหน่วยงานภาครัฐปล่อยปละละเลยการบังคับกฎหมายอย่างเสมอภาค ส่งผลให้ที่ดินเขตสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ถูกนายทุนครอบครองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่สปก.จำนวน 276 ไร่ นายทุนครอบครองทำประโยชน์ โดยหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถดำเนินการใด ๆ นอกจากรับรองสิทธิ ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรกระจายการครอบครองให้ประชาชนไร้ที่ดินทำกิน พร้อมทั้งควรยกเลิกกฎหมายฉบับเก่าและร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันเพื่อป้องกันการเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านกับนายทุน
“เจ้าหน้าที่สปก.ภายใต้การนำของหัวหน้าสปก.สุราษฎร์ธานีในขณะนั้นถือได้ว่ามีความบกพร่องในหน้าที่ เพราะได้พบปะพูดคุยและลงนามบันทึกเป็นเอกสารกับกลุ่มนายทุนบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง พื้นที่เขตสปก.ที่บริษัทบุกรุกนั้นพร้อมส่งคืนให้รัฐ แต่ช่วงระยะเวลาในการฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านถูกยืดออกไป จากนั้นจึงค่อยส่งมอบ แต่หน่วยงานรัฐกลับรับข้อเสนอแทนที่จะตอบโต้ไม่ให้กลุ่มนายทุนนำทรัพย์สินของรัฐใช้เป็นเครื่องมือรังแกประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม” แกนนำสกต. กล่าว
รศ.สมชาย ปริชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การถือครองที่ดินในไทยไม่มีมาตรการจำกัดการถือครองอย่างเป็นธรรม ส่งผลให้ที่ดินสปก. เกิดการเปลี่ยนมือจากเกษตรกรไปอยู่ในมือกลุ่มนายทุนได้ง่าย โดยเฉพาะนักการเมืองระดับชาติกว้านซื้อที่ดินทำรีสอร์ท โรงแรม และธุรกิจอื่น ๆได้อย่างเสรี
“ในช่วงปี 30-33เป็นช่วงเวลาที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินไม่ชอบธรรม และไม่มีการตรวจสอบการการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน ส่งผลให้ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่ำรวยจนผิดปกติ ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันนโยบายธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดินให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดการกระจายและความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ส่งเสริมเกษตรทางเลือกแก่เกษตรกร เช่น พืชอินทรีย์ หลีกเลี่ยงการเพาะปลูกเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งมีความผันผวนทางเศรษฐกิจมาก รวมถึงจัดทำโฉนดชุมชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมการใช้ที่ดิน"รศ.สมชาย กล่าว
นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสปก. กล่าวยอมรับการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินสปก.จ.สุราษฎร์ธานีขาดประสิทธิภาพ แม้จะตรวจสอบพบการทุจริต แต่ไม่สามารถสู้กับอำนาจมืดได้ ส่งผลให้ภาครัฐนิ่งเฉย แม้จะมีการทุ่มงบประมาณตรวจสอบในปี 54ในวงเงิน 2 แสนล้านบาท แต่สปก.ยืนยันว่าโดยเจตนารมณ์ยังคงยึดกฎหมายให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินสามารถเข้าใช้พื้นที่สปก.ขณะที่การเรียกร้องจัดตั้งธนาคารที่ดินและการจัดเก็บภาษีที่ดิน เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการให้สำเร็จ แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ติดระบบราชการแบบอุปถัมภ์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุน ซึ่งปฏิเสธนโยบายดังกล่าว
"สังคมไทยกำลังย่ำแย่ เพราะประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุนที่มีอำนาจ ดังนั้นสถานศึกษาควรปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ เปลี่ยนทัศนคติต่อการทำงานของระบบราชการให้เป็นธรรมและรวดเร็ว อีกทั้งส่งเสริมขบวนการประชาชนในการขับเคลื่อนเรียกร้องความยุติธรรม ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมากขึ้น"รองเลขาธิการสปก. กล่าว
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ในการจัดสรรที่ดินทำกิน รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยปฏิรูปการจัดการที่ดินให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย พิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทิ้งร้าง ปกป้องที่สาธารณะประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน