ดร.สมเกียรติ จี้รัฐบาลส่งสัญญาณแรงๆ ไทยพร้อมทำสงครามกับคอร์รัปชัน
ประธานทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์เหตุคะแนน-อันดับความโปร่งใสไทยลดลง เป็นภาพลักษณ์ที่ต่างประเทศมอง เชื่อมโยงประชาธิปไตย ทำคะแนนตกได้ แนะรัฐส่งสัญญาณแรง เร่งรัดคดีสำคัญที่สาธารณะสนใจ เช่น บินไทย ปตท.
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการแถลงข่าวเรื่อง“ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชัน (CPI) ของไทย” เพื่อให้ข้อมูลแก่สาธารณะเกี่ยวกับปัญหา (CPI) ของไทย พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ณ อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการจัดอันดับ CPI (Corruption Perceptions Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ใช้วัดอันดับความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และปัญหาการทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกปีว่า ปี 2559 คะแนน CPI ของไทย มีอันดับความโปร่งใสลดลง มาอยู่ในอันดับ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ส่วนคะแนนเหลืออยู่ 35 จาก 100 คะแนน
“ความเปลี่ยนแปลงจากระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า คะแนนของไทยขึ้นช่วงหนึ่ง แล้วก็ลง ถ้าพูดถึงในช่วงรัฐบาลประยุทธ์เข้ามารับตำแหน่งกลางปี 2557 การประเมิน CPI คะแนนขึ้นมาและคงอยู่ในปี 2558 จนถึงปี 2559 ผลที่ออกมาคือคะแนนลดลง หมายความว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำในช่วงแรกและสร้างภาพลักษณ์การรับรู้ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อถึงปี 2559 คะแนนที่เพิ่มขึ้นกลับลดลง และกลับมาเท่าเดิม รัฐบาลไทยในสายตาต่างประเทศ ที่เคยยกระดับประเทศไทยให้มีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น เมื่อบริหารประเทศได้ 2-3 ปี ก็ตกลงมาจุดตั้งต้นเหมือนเดิม”
ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นที่น่าสังเกต คือ อันดับตกไปถึง 25 อันดับ เป็นเรื่องที่ดูกันยากมาก เพราะเรื่องคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีข้อมูลอะไรที่เป็นทางการและบอกได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องวัดจากการรับรู้ ความรู้สึก และภาพลักษณ์ เป็นเรื่องที่วัดได้ยากมาก
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประสบปัญหาความลำบากในการวัด มีความพยายามพัฒนาการวัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้มากที่สุด นำความรับรู้และคะแนนเหล่านั้นมาเฉลี่ยกัน กรณีของประเทศไทยมีข้อมูลที่ใช้ได้อยู่ 9 แหล่ง วิธีการแบบนี้คะแนนแต่ละประเทศก็จะเปลี่ยนตามแหล่งข้อมูลที่ได้มา จึงไม่เหมือนกัน เช่น ไทยถูกวัดด้วย 9 ชุดข้อมูล ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย หรือเมียนมาร์ ก็จะมีชุดข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้นการเปรียบเทียบก็ไม่ได้อยู่บนฐานเดียวกันจริงๆ
“คะแนนประเทศไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ และจากข้อมูลที่เคยศึกษาไม่มีประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาได้คะแนนต่อต้านคอร์รัปชั่นต่ำกว่า 40 คะแนน และกรณีบ้านเราก็ยังไม่เคยสูงถึง 40 คะแนน ฉะนั้นนี่คือตัววัดที่สำคัญว่า ถ้าประเทศไทยยังได้คะแนนอยู่ในระดับ 35 หรือต่ำกว่า 40 คะแนน ไทยก็ยังไม่ถึงระดับที่จะก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาได้อยู่ดี”
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการวัดแม้จะมีความคลาดเคลื่อน ต่อให้ตัดความคลาดเคลื่อนไป ระดับการคอร์รัปชันประเทศไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น สาเหตุเพราะว่าประเทศไทยมีปัญหาที่รัฐบาลปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ไม่มีหน่วยงานที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล หรือแม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น แต่ก็ยังมีปัญหาที่ฝ่ายค้านถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และประชาชนถูกกักขังตัว
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นที่ลดลง ถูกไปเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย คนประเมินเห็นว่า ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีโอกาสคอรัปชั่นได้มากกว่า อีกทั้งไม่มีองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คะแนนก็ตกได้
"ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะเห็นระดับคอรัปชั่นลดลง มีเพียงไม่กี่ประเทศ เช่นสิงคโปร์ ซึ่งก็รู้ว่าต่อให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบเสรี แต่สิงคโปร์ก็อยู่ในกลุ่มที่ติดคะแนนอันดับต้นๆของการมีความโปร่งใสมาตลอด นี่เป็นปัจจัยหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ คือการมีผู้นำเอาจริงเอาจังในการปราบปรามเรื่องคอร์รัปชัน”
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า วันนี้คอร์รัปชั่นถูกลากเข้ามาเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นคอร์รัปชันถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือใช้แนวทางที่ได้รับการยอมรับในทางสากลมาใช้ เน้นการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ และการโละกฎระเบียบครั้งใหญ่ (Regulatory Guillotine) ปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมาก ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยสนับสนุนให้ทำ แต่รัฐบาลยังไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองมากพอที่จะผลักดันให้มีการโละกฎระเบียบครั้งใหญ่ แม้จะมีการรับเรื่องไว้แต่การเดินหน้านั้นยังค่อนข้างช้า
“สุดท้ายต้องไปสู่การสร้างส่วนร่วมของประชาชน คือการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย รวมไปถึงการส่งสัญญาณแรงๆ บอกว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำสงครามกับคอร์รัปชันอย่างแท้จริง เช่น เร่งรัดคดีสำคัญที่สาธารณะสนใจ เช่น คดีการบินไทย ปตท. ที่มีสินบนโรลส์รอยซ์ ถ้ารัฐบาลเดินหน้าเอาจริงทำอย่างรวดเร็ว เรื่องอย่างนี้ก็จะช่วยส่งสัญญาณที่ดี และรัฐบาลจะต้องระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ด้วย ทั้งหมดต้องอาศัยความกล้าหาญทางการเมืองในการลดคอร์รัปชันของประเทศไทย"