ปฐมบทไทยแลนด์ 4.0 เริ่มต้นที่สังคมโปร่งใส-เป็นธรรม-ไร้ทุจริต
“…ถ้าถามว่า ไทยแลนด์ 4.0 ที่ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กำลังผลักดัน สะท้อนอะไรผ่านบริบท 3 เรื่องนี้ ปฐมบทของสังคมไทยในอนาคต สิ่งแรกต้องเริ่มด้วย Clean & Clear Society เป็นสังคมของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อมูลเปิดเผย ถือเป็นปฐมบทของทุกสิ่ง เมื่อเกิด Clean & Clear Society จะเกิดสิ่งที่สองที่สำคัญ คือ Free & Fair Society คือ สังคมที่มีความเป็นธรรม แต่สังคมนี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มี Clean & Clear Society ดังนั้นปฐมบทของทุกสิ่งอยู่ที่นี่ อยู่ที่การสร้างสังคมอย่างไรให้โปร่งใส ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘การบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสเพื่อสร้างฐานรากสู่อนาคตตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0’ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนี้
----
ปฐมบทของการที่ทำไม คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ต้องเข้ามา ทำไมรัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามา เพื่อสางปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยปัญหาเยอะมาก อย่างน้อยที่สุดตอนที่ผมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญวิสัยทัศน์กำหนดอนาคตประเทศ สปช. ได้ปรึกษากันเพื่อหาว่า ถ้าต้องการปฏิรูปประเทศ อะไรบ้างที่จะต้องทำ โดยลำดับความสำคัญสูงสุดมี 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชั่น
โดยทั้ง 3 เรื่องมีความสัมพันธ์กัน ความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำมาจากการทุจริต ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำปลีกตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่ความขัดแย้ง
ถ้าถามว่า ไทยแลนด์ 4.0 ที่ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กำลังผลักดัน สะท้อนอะไรผ่านบริบท 3 เรื่องนี้ ปฐมบทของสังคมไทยในอนาคต สิ่งแรกต้องเริ่มด้วย Clean & Clear Society เป็นสังคมของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อมูลเปิดเผย ถือเป็นปฐมบทของทุกสิ่ง เมื่อเกิด Clean & Clear Society จะเกิดสิ่งที่สองที่สำคัญ คือ Free & Fair Society คือ สังคมที่มีความเป็นธรรม แต่สังคมนี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มี Clean & Clear Society ดังนั้นปฐมบทของทุกสิ่งอยู่ที่นี่ อยู่ที่การสร้างสังคมอย่างไรให้โปร่งใส ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง
คำว่าธรรมาภิบาลมีหลากมิติ เราชอบพูดถึงในบริบทเอกชน ซึ่งพวกเขาทำได้ดี แต่จริง ๆ แล้วการสร้างประเทศไทย 4.0 ต้องสร้างทั้งระบบ ปีนี้คือปีแห่งการขับเคลื่อนธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการสร้างธรรมาภิบาลในด้านการเมือง จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้ เพราะการเมืองมันมีผลกับเรา ถ้าทำการเมืองดี มีผลทางบวก ถ้าการเมืองไม่ดี ก็เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา ที่ประเทศเจอวิกฤติครั้งสำคัญ เกิดจากความบกพร่องในระบบการเมืองของเรา
ต่อไปสังคมแบบ Clean & Clear และ Free & Fair ไม่จำเป็นต้องบังคับใจ ไม่ต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่ให้เป็นเรื่องที่ปลูกฝังอยู่ในตัวเรา เพราะในการแก้ไขปัญหา ต้นน้ำคือปลูกฝัง กลางน้ำคือป้องกัน ปลายน้ำคือปราบปราม แต่เท่านี้ยังอาจไม่พอ เพราะระบบราชการต้องมีระบบธรรมาภิบาลในภาครัฐด้วย เนื่องจากเป็นคนที่กำหนดให้มีส่วนได้เสีย มีนโยบายนิดหนึ่ง จะเกิดผลแบบหนึ่ง ถ้าตัดสิน 2 มาตรฐาน จะเกิดอะไรขึ้นไม่รู้
“ที่สำคัญต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือหนังสือที่บอกเรา ไม่พอต้องเติม แต่เมื่อพอแล้วต้องรู้จักหยุด เกินแล้วต้องรู้จักปัน ถ้าปลูกฝังให้ประชาชนผ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เหลือง่ายมาก ทำให้คนอยู่ในบริบทการเมือง สังคม ระบบราชการ หรือเอกชน เป็นเรื่องที่ง่ายมาก”
ไทยแลนด์ 4.0 เริ่มด้วยการสร้างคน ปลูกจิตสำนึก พัฒนาคน คนที่มีความรู้สึก มีความหวัง มีความสุข ถึงจะมีความสมาฉันท์ คือคนที่มีความสมบูรณ์ ต้องเริ่มต้นด้วย Clean & Clear Society ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการสร้างชาติ ของการอยู่รวมกันในสังคมหนึ่ง ก่อนท้ายสุดจะเป็น Caring & Sharing Society หรือสังคมแห่งการแบ่งปัน ซึ่งโจทย์จริง ๆ คือทำอย่างไรให้อยู่ในศตวรรษที่ 21 อย่างปกติสุข ไม่ต้องเป็นนู่นหรือเป็นนี่
เมื่อเป็นสังคมมีความหวัง ความสุข จะเป็นสังคมที่มีความสมาฉันท์ ทุกคนต้องมีโอกาสเท่ากัน กฎหมายทำให้ทุกคนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน