ทฤษฏีการวิเคราะห์ชนชั้น อธิบายการเลือกตั้งของอเมริกาในครั้งนี้ได้หรือไม่
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2559 สถาบันจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน สถาบันวิจัยการพัฒนายุทธศาสตร์ “ชุนชิว” และเว็บไซต์ www.guancha.cn ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “อเมริกาในยุคทรัมป์ vs จีนที่กำลังผงาดขึ้น” นักวิจัย Mr.Fan Yongpeng ได้กล่าวในการประชุมสัมมนาว่า ดูจากการแบ่งเป็นสองขั้วในการตั้งหัวข้อโต้วาทีและผู้เลือกตั้งในการเลือกตั้งของอเมริกาในปี 2016 เหมือนกับว่าอเมริกากำลังมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ การกลับมาของการเมืองระหว่างชนชั้นในสังคมอเมริกา หมายความว่า ปัญหาชนชั้นกลับมาใหม่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ได้นำมาสู่การถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการ แต่ว่าแนวคิดชนชั้นจะสามารถวิเคราะห์ปัญหาการแบ่งแยกของสังคมอเมริกาได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ทฤษฎีการวิเคราะห์ชนชั้นนี้จะเหมาะสมกับการใช้วิเคราะห์การเลือกตั้งอเมริกาหรือไม่ และจะใช้วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ทีมงานเว็บไซต์ www.guancha.cn ได้ถอดความจากการสัมมนาครั้งนี้
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยที่จะได้เรียนรู้ถึงการวิเคราะห์ปัญหาการเลือกตั้งครั้งนี้ของอเมริกา จึงได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ตามที่นำเสนอเป็นรายบุคคลดังข้างล่างนี้
Mr.Fan Yongpeng นักวิจัยสถาบันจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน
การใช้มุมมองด้านชนชั้นมาวิเคราะห์การเลือกตั้งอเมริกาครั้งนี้ เปรียบได้กับการต่อสู้อย่างสิ้นหวัง
การเลือกตั้งในอเมริกาหลายครั้งที่ผ่านมา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ high politics จริงๆ มักจะถูกละเลยไป (หมายถึงประเด็นการเมืองในเรื่องระบบการจัดสรรผลประโยชน์ เช่น ภาษีอากร งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล และการชำระเงินข้ามชาติ ยิ่งผลประโยชน์มากยิ่งมีความเป็นการเมืองสูง) ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ low politics (เช่น การควบคุมปืน การทำแท้งลูก และเรื่องทอม ดี้ เลสเบี้ยน เกย์) กลับกลายมาเป็นจุดสำคัญของความสนใจ
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในอเมริกา 2016 ครั้งนี้ ประเด็นของการอภิปรายที่คาดไม่ถึงคือปัญหาผู้อพยพและโลกาภิวัตน์ ทั้งสองประเด็นนี้ต่างมุ่งไปที่เรื่องปัญหาการจ้างงานและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของแรงงานในอเมริกา ทำให้ได้รับความสนใจมากที่สุด ถือว่าเป็นเรื่อง high politics ที่แท้จริง
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ “การย้อนกลับทางการเมือง” อันเนื่องมาจาก ปัญหาผู้อพยพและโลกาภิวัตน์ที่ส่งผลลบต่อชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในสังคมอเมริกา ฉะนั้น การย้อนกลับทางการเมืองแบบนี้ย่อมหมายถึง การย้อนกลับมาของการเมืองชนชั้น เพราะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ การเมืองชนชั้นถูกบดบังจากวาทกรรม “ความถูกต้องทางการเมือง” (Politically correct) กระทั่งในที่สุดปัญหาชนชั้นก็กลับคืนมาสู่การถกเถียงในการเมืองอเมริกาอีกครั้ง
ชาวโลกทั่วไปมักจะมองว่าอเมริกาเป็นสังคมไม่มีชนชั้น เพราะคิดว่าชนชั้นกลางในอเมริกาพัฒนามาก เป็นสังคมที่มีโครงสร้างประชากรในลักษณะ Olive social structure คือคนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง แท้จริงแล้วในช่วงก่อนสมัยสงครามการเมืองอเมริกา (American Civil War : 1861-1865) อเมริกาเคยมีชนชั้นกลางจำนวนมากที่เป็นคนผิวขาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการในกิจการขนาดเล็ก แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว สภาพที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นนายทุนตามที่คาร์ล มาร์กซ์พูดถึงยังไม่ปรากฏชัดเจน
แต่หลังจากอเมริกาได้เข้าสู่ยุคทุนนิยมผูกขาดในปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มชนชั้นกลางได้ลดจำนวนลงไปอย่างรวดเร็วเพราะถูกกลุ่มนายทุนขูดรีด จนกลายเป็นแรงงานรับจ้าง ซึ่งก็คือชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง แต่วงวิชาการสังคมศาสตร์ของอเมริกาได้หลบเลี่ยงไปใช้คำว่า “ชนชั้นกลางใหม่” มาเรียกแทนกลุ่มชนชั้นกลางเดิมซึ่งสูญเสียปัจจัยการผลิตจนกลายมาเป็นชนชั้นกรรมาชีพแล้ว ทำให้ชนกลุ่มนี้ไม่ตระหนักว่าตนเองได้กลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพแล้ว ยังคิดว่าเป็นชนชั้นกลางอยู่
ศตวรรษที่ 20 สังคมชนชั้นกลางใหม่นี้เป็นแค่ภาพลวงตาที่ใช้ศัพท์ใหม่มาพยายามปิดบังความแตกแยกระหว่างชนชั้น ชนชั้นกรรมาชีพจึงไม่รู้ตัวว่าตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ที่ผ่านมากว่า 30 ปีนั้นการเติบโตของรายได้ของชนชั้นกรรมาชีพเกือบจะหยุดนิ่ง จนกระทั่งพวกเขาได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์อย่างหนักหน่วงแล้ว ถึงจะเริ่มแสดงความไม่พอใจ พวกเขาจึงหย่อนบัตรเลือกตั้งโอบามาในปี 2008 และปี 2012 โดยคาดหวังว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผลออกมากลับผิดหวัง
จนมาถึงปี 2016 พวกเขาโกรธแค้นจึงหันไปหย่อนบัตรเลือกทรัมป์ขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ระบอบยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน พวกเขาอาจจะต้องผิดหวังอีก หลังจากที่ได้ทดลองมาทั้งสองพรรค จึงมีคำถามว่า แล้วพวกเขาจะอาศัยใครได้อีก
เราสามารถฟันธงได้ว่า นโยบายของทรัมป์ที่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานที่เป็นคนผิวขาว เช่น ตัวอย่างนโยบายการเพิ่มตำแหน่งงานและนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ จะไม่บรรลุเป้าหมายอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น โดยธรรมชาติแล้ว กลุ่มทุนต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุน กลุ่มทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาตินั้น มักจะต่อรองกับรัฐบาลอยู่เสมอ ทำให้นโยบายคุ้มครองการจ้างงานในประเทศไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทข้ามชาติเหล่านี้มักใช้อิทธิพลในทางเศรษฐกิจของตนมาเป็นเงื่อนไขเรียกร้องเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยี Robot และ Artificial Intelligence (AI) พัฒนาขึ้น บริษัทเหล่านี้จึงมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นจากการขู่ว่าจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาทดแทนแรงงานคน ทำให้แรงงานเดิมที่มีอยู่ยิ่งตกงานมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าประเทศสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเติบโตของทุนไปอย่างไร
หากรัฐบาลดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ หรือปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว ก็จะทำให้ค่าครองชีพภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุดก็จะทำให้ชนชั้นกลางอยู่ไม่ได้และออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งขัดยุทธศาสตร์ระยะยาวของอเมริกาที่พยายามทำให้ชนชั้นกลางใหม่(ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคือชนชั้นกรรมาชีพ) ตายใจและไม่ออกมาเรียกร้องผลประโยชน์ของตน
ในปัจจุบัน ชนชั้นแรงงานอเมริกาตระหนักแล้วถึงความสิ้นหวังของชนชั้นตน จึงพยายามใช้การเลือกตั้งเสมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายมาช่วยชุบชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อเมริกาเป็นประเทศที่ผูกมัดกับกลุ่มทุน ขณะเดียวชนชั้นแรงงานก็อยู่ในช่วงถดถอยแล้ว การกลับมาของการเมืองแบบชนชั้นในการเมืองอเมริกาคงเป็นได้เพียงแค่ฉากหนึ่งของการดิ้นรนอย่างสิ้นหวังเท่านั้น
Mr.Han Zhu นักวิจัยสถาบันจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน
และนักวิจัยสถาบันวิจัยการพัฒนายุทธศาสตร์ “ชุนชิว”
เราใช้ “ชนชั้น” มาวิเคราะห์ได้ แต่ถ้าใช้ “ชนชั้นนำ (Elite) และมวลชน (Mass)” น่าจะมีความถูกต้องแม่นยำกว่า
การวิเคราะห์ชนชั้น(นายทุน-กรรมาชีพ) ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้านำมาใช้วิเคราะห์การเลือกตั้งของอเมริกาแล้ว คงไม่เหมาะสมนัก เพราะชนชั้นแรงงานในอเมริกาจะเป็นเพียง class in itself ไม่ใช่ class for itself
ชนชั้นแรงงานในอเมริกาถึงแม้ว่ามีจำนวนไม่น้อย แต่ยังไม่ได้กลายเป็นกำลังทางชนชั้นที่มีความเป็นอิสระ และยิ่งไม่ได้จัดรูปองค์กรเป็นพรรคของชนชั้นแรงงานที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตน หากมองความแตกต่างของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งอเมริกาปี 2016 นั้น ถ้าใช้แนวคิด “ชนชั้นนำ (Elite) และมวลชน(Mass)” มาวิเคราะห์น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า
ในสังคมอเมริกา กลุ่มทุนกับแรงงาน และชนชั้นนำ (Elite) กับมวลชน (Mass) เป็นสองแนวคิดที่ไม่อาจเปรียบกันได้ สถานการณ์นี้เปรียบได้กับในสมัยศตวรรษที่ 19 กับครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ที่การแบ่งชนชั้นทางสังคมของตะวันตกมีความแตกต่างอย่างมาก เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้คือโลกาภิวัตน์ของระบบทุนนิยมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ระบบเศรษฐกิจในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ก่อให้เกิดผลสองด้านหรือ “แบ่งเป็นสองขั้ว” ด้านหนึ่งคือนายทุนได้แบ่งเป็นสองขั้ว และอีกด้านหนึ่งคือตลาดแรงงานก็แบ่งเป็นสองขั้ว การแบ่งเป็นสองขั้วนี้ในช่วงแรกของสังคมทุนนิยมก็มีอยู่บ้าง และชัดเจนมากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์
ความจริงแล้วกลุ่มทุนของอเมริกาทุกวันนี้แบ่งแยกเป็นสองกลุ่ม คือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีความเป็นนานาชาติ กับบริษัท SME ขนาดเล็กและขนาตกลางที่มีความเป็นท้องถิ่น สำหรับนายทุนกลุ่มแรก เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากยุคโลกาภิวัตน์จึงเลือกพรรคของฝ่ายฮิลลารี คลินตัน แต่กลุ่มนายทุนที่เป็นบริษัท SME ขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งมีจำนวนมากกลับเลือกพรรคของฝ่ายทรัมป์
ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความรู้และเทคโนโลยีก็ทำให้ตลาดแรงงานแบ่งเป็นสองขั้วเช่นกัน ขั้วหนึ่งคือตลาดแรงงานที่มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทและแรงงานทักษะ (เช่น ผู้มีรายได้สูงในวงการการเงิน บัญชี ประกันชีวิต กฎหมาย การแพทย์ สารสนเทศ และการศึกษา เป็นต้น) และอีกขั้วหนึ่งเป็นแรงงานธรรมดา ซึ่งได้กลายเป็นสองกลุ่มเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันมากในสังคม
เพราะฉะนั้น แม้มีความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนในสังคมอเมริกา แต่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นก็ยังไม่ได้กลายเป็นจุดหลักของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่ได้มีพรรคการเมืองของชนชั้นแรงงานที่แท้จริงเกิดขึ้นด้วย ปัจจุบันนี้ ตัวหลักของการต่อสู้ในทางการเมืองอเมริกา ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรค Democrat และพรรค Republican เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนของฮิลลารี คลินตันกับผู้สนับสนุนของทรัมป์ แม้ว่าในสนามเลือกตั้งจะมีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนและกล่าวหาซึ่งกันและกัน แต่การต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้คงสามารถนิยามได้เพียงเป็นการเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นนำ (Elite) และมวลชน (Mass) เท่านั้น
เมื่อกล่าวถึงคุณลักษณะของชนชั้นแล้ว การต่อสู้ระหว่างสองพรรคในสังคมอเมริกายังเป็นการต่อสู้ของพรรคการเมืองภายในชนชั้นนายทุน ที่มีความโน้มเอียงไปในด้านการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างพรรค Democrat และพรรค Republican ทรัมป์นั้นโน้มเอียงไปทางกลุ่มนายทุนใหญ่ ฮิลลารี คลินตันโน้มเอียงไปทางกลุ่มชนชั้นนำทางความคิด (Intellectual elite) เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับกลุ่มนายทุนใหญ่นั้น Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์อเมริกา เคยกล่าวว่า “สำหรับแรงงานอเมริกา (American blue collar) แล้ว การที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำนั้น ไม่ใช่ข่าวดีอย่างแน่นอน”
Mr.Wen Yang นักวิจัยสถาบันจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน
และนักวิจัยสถาบันวิจัยการพัฒนายุทธศาสตร์ “ชุนชิว”
ปัญหาชนชั้นถูกกลบด้วยปัญหาเชื้อชาติ (racial problem) สองอย่างนี้บางครั้งอธิบายแทนกันได้
ผมคิดว่าการใช้ประเด็นเชื้อชาติและประเด็นชนชั้นบางครั้งสามารอธิบายแทนกันได้ ทุกวันนี้ผมยังเห็นด้วยว่ากรณีทรัมป์ สามารถนำเอาแนวคิดเรื่องเหยียดผิวมาวิเคราะห์ปัญหาได้ ในต้นปี 2016 เมื่อทรัมป์มีแนวโน้มที่จะได้ขึ้นมานั้น บทความจากหลายฝ่ายต่างก็พูดถึงประเด็นนี้ด้วย
ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญของอเมริกาคือ สถิติแสดงอัตราการฆ่าตัวตาย อัตราเจ็บไข้ได้ป่วย และอัตราการเสพยาเสพติดของกลุ่มคนผิวขาวที่ไม่ใช่เชื้อชาติสเปนนั้น ล้วนมีอัตราเพิ่มขึ้น ขณะที่ในกลุ่มคนผิวดำและคนเชื้อชาติสเปนกลับมีอัตราลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นั่นก็หมายความว่า การที่ทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีนั้น บ่งบอกว่ากลุ่มคนผิวขาวในสังคมอเมริกากำลังเสื่อมลง เป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่สังคมอเมริกาใช้ปัญหาเชื้อชาติกลบประเด็นปัญหาชนชั้น ดังนั้น ผมจึงมองว่าระหว่างสองปัญหานี้ บางทีเราสามารถใช้อธิบายแทนกันได้
นอกจากนี้ หากใช้วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นมาวิเคราะห์สังคมอเมริกา ถ้าพูดถึงที่สุดแล้วก็ต้องเชื่อมกับสถานการณ์ในอนาคตของประเทศจีนด้วยว่า เราจะใช้เครื่องมือการวิเคราะห์นี้มาอธิบายอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาได้หรือไม่ ปัจจุบันประเทศจีนมีสังคมเป็นอย่างไร วิธีการวิเคราะห์ทางชนชั้นสามารถนำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดทฤษฎีเดียวในการวิเคราะห์สังคมได้หรือไม่ สมัยก่อนทฤษฎีมาร์กซ์สามารถประยุกต์ใช้วิเคราะห์กับทั้งสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างชนชั้นภายในประเทศและสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างชนชั้นในโลกด้วย
วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นนี้จึงพอจะนำมาใช้ได้ แต่อย่าใช้วิธีนี้มากเกิน ถ้ามากเกินไปแล้วอาจจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระได้ เห็นได้จากในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ก็ทำให้ประเทศจีนเกิดปัญหาการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างรุนแรงขึ้นมา (การปฏิวัติวัฒนธรรม) ถ้าใช้วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นไปเสียทั้งหมด สุดท้ายก็จะนำไปสู่หายนะ กล่าวโดยสรุป ถ้าใช้วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นมากเกินไปก็จะมีปัญหาตามมา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การวิเคราะห์ชนชั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการวิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์ ที่ยังมีคุณค่าอย่างแน่นอน
Mr.Fang Ning ผู้อำนวยการสถาบันรัฐศาสตร์ แห่งสถาบันสังคมศาสตร์ ประเทศจีน (CASS)
วิเคราะห์การเมืองโดยทฤษฎีชนชั้นต้องคำนึงถึงเวลาและบริบท
การใช้แนวคิดชนชั้นมาวิเคราะห์การเลือกตั้งของอเมริกานั้นพอจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ตามใช่ว่าแนวคิดชนชั้นอย่างเดียวจะอธิบายได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ
ผมได้สังเกตถึงปัญหานี้ในครั้งที่ผมวิจัยการเลือกตั้งอเมริกาในปี 2012 แนวคิดที่ว่าด้วยชนชั้นนี้ เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่นำมาแยกแยะฐานะทางสังคมของผู้คนแบบดั้งเดิม เรียกว่าเส้นแบ่งชนชั้นทางสังคม แต่ชนชั้นเป็นแนวคิดที่โดด กล่าวคือ แบ่งอัตลักษณ์ของคนในสังคมตามความสัมพันธ์ของการครอบครองปัจจัยการผลิต เช่น ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมในสมัยนี้มีความสลับซับซ้อนมาก โครงสร้างของสังคมก็เปลี่ยนแปลงมาก จะมาตัดสินหรือแยกแยะสถานะทางสังคมรวมถึงจุดยืนทางการเมืองของผู้คนนั้นคงไม่สามารถใช้เพียงปัจจัยเดียวเหมือนเมื่อก่อนได้
ในปัจจุบันสถานะทางสังคมของผู้คนมีอัตลักษณ์ที่สลับซับซ้อนมาก การแบ่งกลุ่มทางสังคมจะต้องใช้หลายปัจจัยมาแยกแยะและแบ่งกลุ่ม ในแง่นี้ กลุ่มทางสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่สลับซับซ้อน ดูจากจุดยืนหรือทัศนคติของผู้เลือกตั้งในการเลือกตั้งของอเมริกาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ปัจจัยที่ตัดสินหรือมีผลกระทบถึงสถานะทางสังคมและจุดยืนทางการเมืองของคนอเมริกานั้น มีอย่างน้อยหกปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อชาติ เพศ ถิ่นเกิด ศาสนา ระดับการศึกษาและอายุ
ตัวอย่างเช่น หากนำปัจจัยด้านอายุมาอธิบายแล้ว ในสมัยศตวรรษที่ 18 และศตวรรษที่ 19 เป็นยุคอุตสาหกรรมของยุโรป แนวคิดของชนชั้นได้รับความนิยมมาก สมัยนั้นยังไม่มีสวัสดิการสังคมและการประกันสังคม (Social welfare and social security) ดังนั้นคุณภาพชีวิตของคนส่วนมากจึงขึ้นอยู่กับอาชีพการงานและทรัพย์สินที่มี แต่สังคมสมัยนี้มีระบบสวัสดิการสังคมและการประกันสังคม(Social welfare and social security) ที่ดีขึ้นมาก คุณภาพชีวิตของคนส่วนมากจึงแปรผันตามระบบสวัสดิการสังคมด้วย ใช่เพียงอาชีพและทรัพย์ในครอบครอง ดังนั้นอายุจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่แบ่งคนออกเป็นกลุ่ม ความแตกต่างทางผลประโยชน์ของคนระหว่างรุ่น (Intergenerational interests) จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น คนแต่ละช่วงวัยต้องจ่ายภาษีหรือรับสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการสังคมที่ต่างกัน ผลประโยชน์ที่ต่างกันนี่เองทำให้แต่ละช่วงวัยเรียกร้องผลประโยชน์ที่ต่างกัน ประเด็นนี้ก็จะเป็นการอธิบายโครงสร้างของกลุ่มทางสังคมในปัจจุบันในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ความแตกต่างของคนระหว่างรุ่นนี่เองทำให้การเรียกร้องและความรู้ความเข้าใจของแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกันไปมาก อีกตัวอย่างคือนักเขียน Mr.Han Han ได้พูดถึงประเทศจีนว่ามีสองชนชั้น คือเจ้าของบ้านและผู้เช่าบ้าน ที่เรียกร้องผลประโยชน์ที่ต่างกัน
เราได้ทำงานวิจัยเปรียบเทียบพัฒนาการทางการเมืองของประเทศในเอเชีย ทำให้เข้าใจว่าปัจจัยที่จะแบ่งชนชั้นทางสังคมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และยังเปลี่ยนแปลงตลอดด้วย เช่น ในอเมริกา สังเกตได้ว่า ปัจจัยที่กำหนดการตัดสินใจหรือมีผลกระทบต่อสถานะทางสังคมและจุดยืนทางการเมืองของคนอเมริกามีหกปัจจัยที่สำคัญ แต่การเรียงลำดับความสำคัญและจำนวนของปัจจัยในแต่ละครั้งก็ไม่ค่อยเหมือนกันด้วย
ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งอเมริกาในปี 2016 มีคนอเมริกันพูดว่านี่เป็น “การปฏิวัติของคนคอแดง” หรือคนผิวขาวที่เป็นแรงงานระดับล่าง ซึ่งหมายถึงเป็นการหวนกลับมาของการเหยียดผิวของคนผิวขาว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ปัจจัยเชื้อชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการแบ่งกลุ่มหรือชนชั้นทางสังคมในอเมริกา แต่ในประเทศอื่นจะไม่เหมือนกัน เช่น ในฟิลิปปินส์ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตระกูลเครือญาติ ในประเทศจีนอาจจะมีคนพูดว่าเป็น พรรคพวกกัน
การวิเคราะห์การเลือกตั้งอเมริกา ในฐานะที่เราเป็นผู้สนับสนุนลัทธิมารกซ์ คงมิอาจลืมบรรพบุรุษของเรา วิธีการวิเคราะห์ชนชั้นก็สามารถให้แง่คิดเราได้มาก แต่เราต้องมีจุดยืนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในสังคมยุคใหม่ และวิธีการวิเคราะห์ชนชั้นต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย
บางคนพูดว่า ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งได้ด้วยการเป็นตัวแทนของรากหญ้า 99% ที่เอาชนะชนชั้นเศรษฐีของ Wall Street 1% แต่หลายคนไม่ได้วิเคราะห์ลึกลงไปว่า ตกลงทรัมป์อยู่ในกลุ่มคน 1% หรือ 99% ความเป็นจริงแล้ว เขาอยู่ในส่วนของ 99% เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ตกอยู่ภายใต้ระบบการเงินของ Wall Street แม้จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจแข็งแกร่งมากที่สุดของอเมริกาอยู่แล้ว พวกเขายังทำลายผลประโยชน์ของวงการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมดั้งเดิมซึ่งทรัมป์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ด้วย จึงเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง Occupy Wall Street movement ขึ้นได้
แต่ว่ามันไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นตามนิยามดั้งเดิมของเราอีกต่อไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงไม่ใช่แค่ Occupy Wall Street คงจะเป็น Occupy Washington DC แล้ว และอย่างน้อยก็ไม่ใช่ 1% ต่อ 99% อาจเป็น 20% ต่อ 80% หรือเป็น 30% ต่อ 70% เพราะมีกลุ่มทุนเก่าที่ไม่พอใจกลุ่มทุน Wall Street ด้วย
การเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์ ได้ประสบความสำเร็จ เพราะได้สร้างกระแสว่า ฮิลลารี คลินตัน เป็นตัวแทนของ Wall Street ในการต่อสู้กับเขา ทรัมป์ได้ใช้ประโยชน์จากการต่อสู้ระหว่าง 1% ต่อ 99% อย่างไรก็ตามเรายังต้องกลับมาอยู่บนความเป็นจริง กลับมามองการเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกา และวิเคราะห์บนพื้นฐานความเป็นจริงแล้วค่อยหาข้อสรุปต่อไป มิใช่ยึดอยู่กับทฤษฎีโดยไม่มองข้อเท็จจริง
Mr.Wang Wen ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเงิน “ฉงหยาง” แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน
ความขัดแย้งของชนชั้นทางการเมืองใหม่ในอเมริกา
คำว่า ชนชั้น (阶级) ในบริบทของสังคมจีนมีความหมายเฉพาะ ฉะนั้น อาจเปลี่ยนมาใช้คำว่า ระดับชั้น (阶层) จะดีกว่า แต่ทั้งสองคำนี้ก็คือคำว่า “class” ในภาษาอังกฤษ หรือใช้แนวคิดของเรื่องกลุ่ม (group) ก็พอได้
ดังเช่นในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty ได้กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 มีปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนอย่างมากระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนในประเทศตะวันตกเริ่มลดลง แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากทรัพย์สินกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกทางชนชั้นระหว่างกลุ่มชนที่รุนแรงมากขึ้น
การแตกแยกระหว่างกลุ่มชนคงยากที่จะหวนคืนดีได้ ถ้ามองในแง่นี้แล้ว ในปี 2017 ครึ่งปีแรก อเมริกาคงต้องเผชิญกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง และช่วงครึ่งปีหลัง คนใน Washington DC เองก็คงจะต้องทำใจกับการขึ้นมาของทรัมป์ เพราะคนในรัฐนี้จำนวนร้อยละ 90 ไม่ได้เลือกทรัมป์ขึ้นมา และในเวลานี้ ทรัมป์เองก็หาคนที่จะเข้ามาช่วยงานได้ยาก คนที่เขาเชิญมาเป็นรัฐมนตรีนั้น ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีและนายพลทหาร ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งระหว่างระดับชั้นจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ในกลุ่มของเจ้าหน้าที่รัฐเอง เจ้าหน้าที่ระดับกลางและล่างซึ่งมีจำนวนมากก็จะมีความขัดแย้งกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอย่างมาก
หากพูดถึงวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์โลกในเรื่องกลุ่มชน เราสามารถสังเกตได้ว่า ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่กลุ่มชนในระดับโลกจะเกาะเกี่ยวขึ้นกันใหม่ โครงสร้างอำนาจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเศรษฐกิจโลกก็กำลังเริ่มต้นใหม่
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปี 2016 อาจเทียบได้กับปี 1991 ปี 1991 ฝ่ายสังคมนิยมล่มสลาย ปี 2016 อาจเป็นการล่มสลายของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ว่าได้ สังเกตได้จาก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Theresa Mary May ในที่ประชาคม EU ไม่มีใครสนใจเธอ ส่วนเยอรมันก็ไม่สนใจทรัมป์ ถ้าปี 1991 เป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ปี 2016 อาจเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประวัติศาสตร์โลกก็ได้
ผู้เขียน : Mr.Fang Yongpeng ,Mr.Han Zhu, Mr.Wen Yang,Mr.Wang Wen, Mr.Fang Ning, Mr.Li Bo นักเขียนฟอรั่ม guancha เว็บไซต์ www.guancha.cn
ผู้แปล: เทวินทร์ แซ่แต้ นักศึกษาปริญญาเอกและผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
บรรณาธิการ: ยุวดี คาดการณ์ไกล สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.voathai.com/a/election-2016-issues-ss/2765445.html