ผลกระทบ พ.ร.บ. งบประมาณฯปี 60 ขัดต่อ รธน.
ต้องถือว่าข้อกล่าวหาของผู้เขียนที่ได้เสนอไว้ในหลายบทความเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงว่า “รัฐไม่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวาระที่ 2 และ 3
ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้มีการแปรญัตติตัดลดงบประมาณรายจ่ายตามข้อผูกพันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยมีการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเช่นนี้มาก่อนเลย และ ผู้เขียนก็ได้เล็งเห็นผลไว้แล้วว่าจะมีผลกระทบที่เสียหายตามมาหลายกรณี และจะเป็นการแก้ไขได้ยากถ้าได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ที่เป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แล้ว
เพราะฉะนั้นในทุกบทความผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะต่อท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เป็นผู้รักษาการกฎหมายฉบับนี้ให้รีบดำเนินการแก้ไขในชั้นที่ยังเป็นร่างพระราชบัญญัติโดยส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยแม้เมื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วก็ยังอาจแก้ไขได้โดยการออกเป็นกฎหมายโอนงบประมาณรายจ่ายให้กลับมาเพิ่มจำนวนเงินที่ปรับลดไปให้เป็นไปตามจำนวนเดิม แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับไปออกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2560 จึงทำให้เกิดประเด็นข้อกฎหมายที่ซับซ้อนไม่เคยมีขึ้นมาว่า ในเมื่อกฎหมายประธาน คือพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2560 มีบทบัญญัติบางมาตราที่เป็นผลจากการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นผลตามมาถึงพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมงบประมาณปี 2560 ว่าจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามไปด้วยหรือไม่ จะได้วิเคราะห์ปัญหาสำคัญนี้ต่อไป หรือถ้าเห็นว่าไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามความเห็นของผู้เขียนก็ต้องชี้แจงให้เหตุผลออกมาเป็นทางการว่ากระทำได้ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
แต่บัดนี้มีผู้ที่เห็นว่ากระทำได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ส่งคำชี้แจงพร้อมเหตุผลมายังผู้เขียน จึงขอนำความเห็นแย้งดังกล่าวมาลงไว้ด้วยความเคารพและขอบคุณเป็นย่างยิ่ง ดังร่างคำชี้แจงที่อยู่ในกรอบนี้ ที่จะนำไปเป็นกรณีศึกษาของนักศึกษาวิชากฎหมายการคลังมหาชนที่สนใจประเด็นนี้มากและประสงค์จะทำวิทยานิพนธ์ในระดับชั้นปริญญาเอกด้วย
[คำชี้แจง กรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
หลักการของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาห้ามสภาผู้แทนราษฎร แปรญัตติลดหรือตัดทอนรายจ่ายที่เป็นเงินส่งใช้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เป็นข้อผูกพันที่รัฐบาลต้องจ่าย ดังนั้นหากฝ่ายนิติบัญญัติปรับลดรายจ่ายดังกล่าว ก็จะมีผลทำให้รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินตามข้อผูกพันนั้น อย่างไรก็ดี ในการปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ชำระหนี้เงินกู้โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น มิใช่เป็นการปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลจะต้องจ่าย โดยเป็นการปรับลดงบประมาณ ดังนี้ (1) กรณีโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน(โครงการรถไฟไทย-จีน) ยังอยู่ระหว่างเจรจาความร่วมมือ ซึ่งยังมิได้มีการกู้เงิน การปรับลดงบประมาณจึงเป็นการปรับลดจากประมาณการเดิมว่ารัฐบาลคาดว่าจะกู้วงเงิน 21,818 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย 600 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ภาระผูกพันจริงที่รัฐบาลจะต้องจ่าย ขณะนี้คาดว่าจะกู้เพียง 7,280 ล้านบาท จึงปรับลดได้ 400 ล้านบาท (2) งบประมาณชำระหนี้ ที่ตั้งไว้ที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ เป็นการปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของค่าธรรมเนียมการกู้ให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน จึงมิใช่การปรับลดวงเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายตามข้อผูกพัน]
ในบทความวันนี้ผู้เขียนจะยังไม่ให้เหตุผลโต้แย้งความเห็น “ผู้หวังดี” ต่อรัฐบาลท่านนี้ เพียงแต่ขอบอกว่า ถ้าเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นจริงๆดังกล่าว ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ชอบที่จะตัดลดงบประมาณรายจ่ายตามข้อผูกพันในชั้นของคณะรัฐมนตรีนั้นได้และก็เคยปฏิบัติมาอย่างนี้หลายครั้ง แต่มิใช่มาแปรญัตติลดหรือตัดทอนในชั้นการพิจารณาของสภาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีข้อยกเว้นให้กระทำได้แต่ประการใด
ในบทความครั้งต่อไปจะวิเคราะห์ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้และที่จะมีตามมา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ประชามติ 7 สิงหาคม) มีผลใช้บังคับ ในระหว่างนี้ขอให้ท่านผู้ที่มีส่วนกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปอ่านร่างมาตรา 144 และมาตรา 5 ไปพลางก่อนหลายๆ ครั้ง จะได้เตรียมตัวไว้บิดเบือนเมื่อสองมาตรานี้แผลงฤทธิ์ครับ