ทำผิดซ้ำซาก! ปธ.กมธ.ปฏิรูปสื่อยันต้องมีใบอนุญาต-ลงทะเบียนแบบซิมมือถือ
‘พล.อ.อ.คณิต’ ปธ.กมธ.ปฏิรูปสื่อ สปท. ชงความเห็นยัน กม.สื่อต้องมีใบอนุญาตตามมาตรฐานสากล เทียบอาชีพ ‘แพทย์-หมอนวด’ ให้ลงทะเบียนแบบซิมมือถือ เก็บไว้ในฐานข้อมูลลับ ป้องทำผิดจริยธรรมซ้ำซาก
จากกรณีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธษนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อแสดงท่าทีคัดค้าน และไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. เนื่องจากเห็นว่า เป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในการขึ้นทะเบียน และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน รวมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปท. ด้วยนั้น
(อ่านประกอบ : 4 ตัวแทนสื่อ ยื่นจม.ลาออกจากอนุกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ ค้านกม."คณิต", 30 องค์กรวิชาชีพ รวมพลังค้านร่างกม. หวั่นเปิดช่องให้อำนาจรัฐคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. และการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
พล.อ.อ.คณิต เสนอความเห็นในประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกที่ควรได้รับใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ระบุว่า ตามหลักสากลทุกประเทศทั่วโลกทั้ง 193 ประเทศ จะมีหลักคิด/หลักนิยม คล้าย ๆ กัน เป็นสากลหรือเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสากล ที่การประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งมีหน่วยงานมากำกับ กำหนดเป็นใบอนุญาต ใบประกอบโรคศิลป์ ยิ่งทำให้เกิดการยอมรับ น่าเชื่อถือ เป็นหลักประกันของนายจ้าง และลูกจ้าง ดังนั้นนี่คือหลักนิยมสากล โดยยกตัวอย่างอาชีพที่ใช้ใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย ได้แก่ แพทย์ นักกฎหมาย นักบิน หรือการเปรียบเทียบกับการมีใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ (รถยนต์สาธารณะ) อาชีพโฆษก/ผู้ประกาศ อาชีพหมอนวดแผนไทย อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ควรที่จะต้องมีกระบวนการ หลักการ วิธีการ ขั้นตอนต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพ/ใบอนุญาต ในรูปแบบต่าง ๆ จะกำหนด ควบคุม กำกับกันอย่างไรตามความเหมาะสม
“ในเรื่องนี้ ขอเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่า ควรมีใบอนุญาตหรือไม่อย่างไร การที่มีกลุ่มบุคคลอ้างว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกนั้น กระผมขอเห็นต่างว่า นั่นคือสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ ไม่ใช่การเข้ามาประกอบวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในเวลาราชการและนอกเวลา อันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ต้องเคารพ ต้องแยกออกจากกัน และเป็นคนละประเด็น” พล.อ.อ.คณิต ระบุ
ส่วนประเด็นบทลงโทษนั้น พล.อ.อ.คณิต ระบุว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการบัญญัติสรุปได้ว่า หากมีการกระทำผิด หรือฝ่าฝืนจริยธรรม จะต้องถูกตรวจสอบ และให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เห็นว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เหมือนกับภาวะอากาศในประเทศไทย คือ แล้งซ้ำซาก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร ยาวนาน เรื่องสมาชิก/สื่อมวลชนกระทำผิดในอดีต หลายครั้งที่เมื่อได้ข้อยุติว่าผิด แต่สมาชิกลาออกจากสมาคม/สมาพันธ์ ทำให้ขาดสภาพบังคับ หลังจากนั้นอาจจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล แล้ววนเวียนเป็นปัญหาอยู่ในอาชีพนี้อีก ดังนั้นจึงควรกำหนดวิธีการ/สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อให้เหมือนวิชาชีพอื่น ๆ คือ ใบประกอบวิชาชีพหรือใบอนุญาต แล้วมีสภาพบังคับให้ต้องเลิกอาชีพนี้แล้ว ไปทำมาหากินอย่างอื่น อันจะเป็นตัวอย่างให้สื่อมวลชนที่ดีรักษาความดีงามอยู่ในอาชีพนี้ได้
พล.อ.อ.คณิต เสนอว่า ควรกำหนดหลักสูตรระยะสั้น/ยาว เกี่ยวกับอาชีพสื่อสารมวลชน แขนงต่าง ๆ ให้มีความรักชาติ รับผิดชอบต่อหน้าที่ อาชีพ และจริยธรรม และสื่อมวลชนทุกคน ทุกแขนง ต้องมีใบอนุญาต มีหมายเลขกำกับ (เหมือนซื้อ SIM มือถือ ต้องลงทะเบียน ชื่อ ที่อยู่) รวบรวมอยู่ในฐานข้อมูล (Big Data) ของสภาวิชาชีพอย่างเป็นความลับ ในกรณีที่กระทำผิดสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงในกรณีที่สภาวิชาชีพ หรือศาล ตัดสินว่าผิด ขาดจริยธรรม ต้องถูกยึดใบอนุญาต และไม่สามารถกลับเข้ามาในธุรกิจนี้ได้อีกอย่างน้อย 15 ปี ด้วย
อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'