ไทยเหลื่อมล้ำสุดขั้ว งานวิจัยอ็อกแฟม ชี้เงินได้คนรวยเพียง 1% ลดความยากจน 1 ปีได้
ความเหลื่อมล้ำไทยสุดขั้ว มหาเศรษฐีไทยครองทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ งานวิจัยอ็อกแฟม ชี้เงินได้ของคนรวยเพียงร้อยละ 1 สามารถลดความยากจนของทั้งประเทศได้หนึ่งปี
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรอ็อกแฟม ประเทศไทย เผยรายงานความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่สามารถลดความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรส่วนใหญ่กับกลุ่มคนที่รวยที่สุดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2557 ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) 1,067 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมากพอที่จะกระจายให้ประชากรทุกคนได้คนละ 15,755 ดอลลาร์สหรัฐฯ และขจัดความยากจนให้หมดสิ้นได้ หากแต่ประชากรถึงร้อยละ 10 หรือประมาณ 7 ล้านคน ก็ยังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน
ขณะเดียวกัน จำนวนมหาเศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นจาก 5 คน เป็น 28 คน ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา
และในปี 2558 ความมั่นคงของมหาเศรษฐีเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นเงินถึง 91.42 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทางเศรษฐกิจของไทย
จากสถิติระบุในรายงานของอ็อกแฟมระบุวว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมีรายได้สูงอย่างผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับรายได้ของทั้งประเทศ โดยในปี 2556 คนรวยที่สุดร้อยละ 20 เป็นผู้ได้รับรายได้ของประเทศมากกว่าครึ่ง คือร้อยละ 52 ของรายได้ทั้งหมด อัตราส่วนพาลมา (Palma ratio) ของประเทศไทยในปี 2556 เท่ากับ 2.8 ซึ่งหมายถึงคนที่รวยสุดร้อยละ 10 มีรายได้มากเป็น 2.8 เท่าของรายได้ของประชากรที่จนที่สุดร้อย 40 รวมกัน
ขณะที่ประชากรที่อยู่ฐานล่างสุดนั้น ยิ่งถูกทิ้งห่างไปไกลกว่าเดิม โดยในปีเดียวกันนั้น คนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีรายได้มากกว่าเป็น 35 เท่าของคนจนที่สุดร้อยละ 10 ข้อมูลนี้ชี้ว่า ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดนั้นได้ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ และได้เพิ่มขึ้นสามเท่าตัวตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ซึ่งเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้นอีกในอนาคต
ความเหลื่อมล้ำของความมั่นคงในประเทศไทยเป็นไปอย่างสุดขั้ว โดยในปี 2558 ประเทศไทยติดลำดับที่ 11 ของโลกในการจัดลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า คนรวยที่สุดร้อยละ 10 เป็นเจ้าทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุดร้อยละ 10 มีทรัพย์สินรวมกันเพียงร้อยละ 0.1 ของทั้งหมด โดยในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา คนรวยที่สุดร้อยละ 1 มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.5 เป็นร้อยละ 56 นั่นหมายถึง คนเพียงร้อยละ 1 เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนไทยทั้งประเทศที่เหลือรวมกัน ทั้งนี้ คนไทยที่รวยสุดร้อยละ 1 เป็นเจ้าของรายได้เงินออม การลงทุน และค่าเช่าอสังหริมทรัยพ์ราวครึ่งหนึ่งของประเทศ
จากการวิเคราะห์ของอ็อกแฟม พบว่า เงินได้ในแต่ละปีที่งอกเงยจากทรัพย์สินที่มั่งคั่งที่สุดของไทยนั้น เพียงพอที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งปี
ด้านรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยมุ่งให้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่อยู่ที่ 0.36 ซึ่งเป็นระดับที่เทียบได้กับกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD) ภายในปี 2579 และมุ่งให้รายได้ของคนจนที่สุดในประเทศร้อยละ 40 เพื่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 15 ต่อปี
องค์กรอ็อกแฟม มองว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไทยก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ว่าได้อย่างแน่นอน อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจะทำให้การเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคตตกอยู่ในอันตราย และบั่นทอนโอกาสในชีวิตของคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด
การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการจัดเก็บภาษีในรูปแบบที่ก้าวหน้ามากขึ้น เพิ่มการใช้จ่ายสาธารณะ ยกระดับบริการด้านการศึกษา ละสาธารณสุข กำหนดค่าจ้างเพื่อชีวิต(living wage) และปฏิรูปเกษตรกรรม