ดร.ศราวุฒิ ชี้นโยบายทรัมป์ ทำความสัมพันธ์สหรัฐ -โลกมุสลิมแย่ลง
“ตอนนี้ทำให้กระแสความเกลียดกลัว ความเกลียดชังมุสลิมในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิมนี้ย่ำแย่ลงไป และยังมีอีกบางประเทศที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และออกมาแก้ตัวให้กับประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือยูเออี”
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงคำสั่งของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีคำสั่งการไม่ให้มุสลิม 7 ประเทศห้ามเข้าประเทศ และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย เพราะส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะของคำสั่งที่ค่อนข้างจะแบ่งแยก และลักษณะของการเลือกปฏิบัติ คำสั่งนี้พุ่งตรงไปที่ตัวของประชากรที่เป็นมุสลิม นั้นก็คือประเด็นเรื่องของศาสนา ที่ห้ามคนนับถือศาสนาอิสลามที่มาจาก 7 ประเทศนี้เข้าสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเป็นคนนับถือ ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาย หรือยิว ที่มาจาก 7 ประเทศนี้สามารถเข้าสหรัฐฯ ได้ ทั้ง 7 ประเทศนี้ เป็นประเทศที่ค่อนข้างจะมีปัญหากับสหรัฐฯ เช่น กรณีของประเทศ อิหร่าน ที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนานตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 รวมทั้งนิคมบางประเทศก็ล้วนเป็นประเทศที่เคยเป็นคู่ปรปักษ์กับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันประเทศที่เหลือ 6 ประเทศนั้นถือเป็นรัฐอ่อนแอ รัฐล้มเหลว จึงถูกมองว่า ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่อาจจะทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงต่อภัยคุกคามความมั่นคงและการก่อการร้าย
ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า หากย้อนไปดูข้อมูลทางสถิติ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยคนกลุ่มต่างๆนั้น ไม่มีประชากรที่เชื่อมโยงกับ 7 ประเทศนี้ ในขณะเดียวกันประเทศที่มีประชาชนบางกลุ่มเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้ายในสหรัฐฯ คือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เลบานอน และอียิปต์ หลายประเทศกลับไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่สหรัฐฯสั่งห้าม อย่างเช่นเหตุการณ์ 9/11 พบ 15 ใน 19 คน เป็นคนสัญชาติซาอุดิอาระเบีย รวมทั้ง เลบานอนและอียิปต์ ซึ่งไม่ได้อยู่ใน 7 ประเทศที่สหรัฐฯ สั่งห้าม เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า 7 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อนั้น สหรัฐฯ ใช้เกณฑ์อะไรในการกำหนด 7 ประเทศนี้ในการเข้าไปในสหรัฐฯ
ดร.ศราวุฒิ กล่าวถึงคำสั่งนี้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะเป็นลักษณะคำสั่งที่เลือกปฏิบัติและแบ่งแยก แบ่งข้างกัน ระหว่างพวกเขากับพวกเรา เพราะฉะนั้นนโยบายและคำสั่งเหล่านี้ ทำให้กระแส Islamophobia ถูกจัดตั้งเป็นสถาบันศึกษา กระแส Islamophobia เพิ่มสูงขึ้นมากในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ 9/11 แต่ก็ไม่ได้เป็นลักษณะเชิงสถาบัน เพราะไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐในการที่จะสร้างกระแส Islamophobia ขึ้นมา โดยตอนนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ มีนโยบายไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศสหรัฐฯ ที่ถูกทำให้เป็นนโยบายของรัฐ
“ตอนนี้ทำให้กระแสความเกลียดกลัว ความเกลียดชังมุสลิมในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิมนี้ย่ำแย่ลงไป และยังมีอีกบางประเทศที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และออกมาแก้ตัวให้กับประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือยูเออี”
รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเออี ได้ออกมากล่าวว่า 7 ประเทศนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของโลกมุสลิม แต่ในความรู้สึกของโลกมุสลิมนั้น หากต้องเดินทางไปสหรัฐฯ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 7 ประเทศนี้ ก็ไม่รู้สึกปลอดภัยและหวาดกลัว เพราะการที่สหรัฐฯ ทำอย่างนี้ เหมือนเป็นการทำสงครามต่อต้านอิสลาม ไม่ใช่เป็นการทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย
สำหรับผลกระทบหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นของการต่อต้านก่อการร้ายว่า คำสั่งของทรัมป์ในวันนี้ในการแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ของกลุ่ม ไอเอส หรือกลุ่มอัลกออิดะห์ อย่างเช่นพยายามที่จะปลุกกระแส ของการสร้างความเกลียดชัง สร้างความเป็นปรปักษ์ระหว่างโลกมุสลิมกับโลกตะวันตก หากคำสั่งนี้มีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับสหรัฐฯ ในการที่จะต่อสู้กับการก่อการร้าย ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่บรรลุเป้าหมาย
ขอบคุณภาพจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์