สุนทรียสนทนาพัฒนา ปท.ไทย เครื่องมือพาสังคมออกจากความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์
ขณะนี้คนไทยกำลังคิดตรงกันมากที่สุด คือ คิดถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแนะนำสั่งสอนมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ล้วนเป็นไปเพื่อสังคมสันติสุข เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา คนไทยควรพากันทำอะไรดีๆ อันจะเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตามพระปฐมบรมราชโองการ
สังคมไทยติดอยู่ในความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ และยังไม่มีทางออกจากสภาวะนี้ การโต้เถียงแบบที่เรียกกันว่าดีเบท ไม่สามารถพาสังคมไทยออกจากสภาวะขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ หรือกลับทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อหาทางออกให้ประเทศ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ส่งเสริมให้มี รายการสุนทรียสนทนาพัฒนาประเทศไทย ทางโทรทัศน์ที่มีคนรับดูรับชมและมีส่วนร่วมทั้งประเทศ เป็นประจำ อาจมีสถานีโทรทัศน์มากกว่า ๑ สถานีดำเนินรายการเช่นนี้
สุนทรียสนทนาพัฒนาประเทศไทยทางโทรทัศน์ที่มีคนร่วมทั้งประเทศ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรวดเร็ว ถ้าเข้าใจหลักการของ “สุนทรียสนทนา” ถูกต้อง ซึ่งมีดังนี้
(๑) สุนทรียสนทนาเน้นการฟังอย่างลึก (deep listening) ไม่ใช่การพูดโต้เถียงกันไปมา เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดอีกฝ่ายหนึ่งตั้งใจฟังอย่างสงบ การตั้งใจฟังใครพูด แปลว่าเราเคารพผู้พูด ทำให้ผู้พูดเกิดความรู้สึกที่ดี การตั้งใจฟังอย่างเงียบทำให้ “ได้ยิน” ปรกติคนที่เถียงกันไม่ได้ยินว่าอีกฝ่ายพูดว่าอะไร ได้ยินแต่เสียงของตนเอง การได้ยินทำให้เข้าใจแง่มุมของอีกฝ่าย แม้เกิดความเห็นใจ
(๒) ในการสนทนาอาจเริ่มต้นเป็น “ความเห็น” เมื่อเป็นความเห็นก็เห็นต่างกันเป็นธรรมดา แต่ในกระบวนการสุนทรียสนทนาต้องมีการนำข้อมูล หรือข้อเท็จจริง หรือข้อความรู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสู่การสนทนาในจังหวะที่เหมาะสม มีการทดลองกันมาแล้ว โดยนำคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาเลยมาสนทนาบางประเด็น เริ่มต้นก็มีความเห็นต่างกัน เพราะคู่สนทนามีพื้นฐานและมุมมองที่ต่างกัน แต่เมื่อนำข้อมูล หรือข้อความรู้เกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ เข้ามาสู่การสนทนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลงท้ายคนที่เริ่มต้นเห็นต่างกลับเห็นพ้องกันได้
มีผู้เรียกกระบวนการนี้ว่า deliberative democracy หรือประชาธิปไตยวิจารณญาณ หรือประชาธิปไตยแห่งการเห็นพ้องด้วยกระบวนการทางปัญญา ไม่ใช่การหักโค่นกันด้วยการด่าทอ วาทกรรม หรือเสียงข้างมาก แล้วก็ขัดแย้งกันต่อไป
ประชาธิปไตยต้องมีความเป็นอาริยะ คือใช้ความสุภาพใช้ข้อมูลความรู้ ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเห็นพ้องและร่วมกันปฏิบัติได้ในเรื่องที่สำคัญๆ ของประเทศ ประเทศจะได้ก้าวหน้าได้
การมีเวทีสุนทรียสนทนาพัฒนาประเทศไทยทางโทรทัศน์ที่มีการสุภาพ มีการฟังกัน มีการใช้ข้อมูล ข้อความรู้ ความเป็นเหตุเป็นผลไปสู่ความเห็นพ้อง ที่คนมีส่วนร่วมทั้งประเทศและติดใจ จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมที่เอาแต่ทะเลาะโต้เถียง ใช้วาทกรรมแม้กระทั่งการด่าทอ ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงไม่สร้างสรรค์ ไปเป็นสังคมที่ใช้ข้อมูล ความรู้ ความเป็นเหตุเป็นผล หรือกระบวนการทางปัญญาไปสู่ความเห็นพ้อง และร่วมปฏิบัติให้ประเทศของเราสามารถก้าวไปสู่การเป็นสังคมสันติสุข
สำหรับองค์กรที่จะสนับสนุนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เริ่มต้นน่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และทีดีอาร์ไอ แต่ต่อไปรัฐบาลควรมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ต่างๆ ให้แก่สังคม สังคมที่รู้ความจริงจึงจะพัฒนาไปสู่สังคมสันติสุขได้
สำหรับผู้ดำเนินรายการสุนทรียสนทนาพัฒนาประเทศไทย ต้องเลือกผู้ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับสันติวิธี เริ่มต้นขอเสนอชื่อดังต่อไปนี้
๑. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ๒. มารค ตามไท ๓. โคทม อารียา ๔. วันชัย วัฒนศัพท์ ๕. เอกชัย ศรีวิลาศ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ แห่งสถาบันพระปกเกล้าได้ดำเนินหลักสูตร “สร้างเสริมสังคมสันติสุข” มา ๗ รุ่นๆ ละประมาณ ๙๐ คนจึงน่าจะมี “คลัง” ของผู้มีความสามารถในกระบวนการสันติวิธีอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว
ขณะนี้คนไทยกำลังคิดตรงกันมากที่สุด คือ คิดถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงแนะนำสั่งสอนมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ล้วนเป็นไปเพื่อสังคมสันติสุข เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา คนไทยควรพากันทำอะไรดีๆ อันจะเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตามพระปฐมบรมราชโองการ
สุนทรียสนทนาพัฒนาประเทศไทยน่าจะเป็นอะไรดีๆ อย่างหนึ่ง บนเส้นทางสร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อลูกหลานของเราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างศานติสุขบนแผ่นดินนี้
ที่มาภาพ:http://v-reform.org