คำนูณ เผยที่ประชุม วิป สปท.ให้นำร่างกฏหมายสื่อ 2 ฉบับไปปรับปรุง
วิป สปท. ให้ กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน นำรายงานการปฏิรูปสื่อกลับไปปรับปรุงให้สมบูรณ์ และให้สมาชิกมีเวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงภายหลังประชุมว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขบเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้มีการประชุม ครั้งที่ 53 นำเสนอรายงานผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาฯ เกี่ยวกับเรื่อง “การปฏิรูปการ สื่อสารมวลชน:ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่…)พ.ศ…..’’ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน โดยสรุปดังนี้
1.เรื่อง “การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน :ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….
โดยมีเหตุผลจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม อีกทั้งสามารถส่งผลกระทบต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม ก็จำเป็นต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ เสรีภาพที่จะรายงานข่าวบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งสมควรต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตามวิชาชีพนั้นด้วยความเที่ยงธรรม
ดังนั้น เพื่อให้เป็นการปฏิรูปการกำกับดูแลและสื่อมีประสิทธิภาพ มีสภาพบังคับที่เพียงพอและเหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการด้วยด้วยระบบและกลไกทางกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อตลอดจนสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการกำกับดูแลสื่อด้วย
2.ร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ….”
โดยมีเหตุผลในการแก้ไขปรับปรุงเนื่องจาก กฎหมายฉบับนี้ใช้มาเป็นระยะเวลานานเกือบ 10 ปี พบว่า การบังคับใช้และการปฏิบัติตามกฎหมายเกิดปัญหาอุปสรรค ขาดประสิทธิภาพ อีกทั้ง หนังสือพิมพ์ที่ยื่นจดแจ้งการพิมพ์ไว้แล้วอาจไม่ได้ดำเนินการจริง หรือมีการดำเนินการแต่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดแจ้งไว้และยังไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ยื่นจดแจ้งไว้นั้นต้องรับผิดชอบอย่างไร และพบว่าการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเพื่อตรวจสอบและเรียกร้องเมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำของสื่ออย่างไม่มีระบบ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีสภาวิชาชีพสื่อฯ ตามกฎหมาย แต่ในรายละเอียดนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อสังเกตจากกรรมาธิการจำนวนมาก และเนื่องจากเป็นประเด็นสาธารณะที่มีความสำคัญและมีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน ประกอบกับมีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ จึงต้องการให้สมาชิกได้มีเวลาในการพิจารณาศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ดังนั้น จึงเห็นควรให้คณะกรรมาธิการฯ ด้านการสื่อสารมวลชน นำรายงานกลับไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำกลับมาเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
4 ตัวแทนสื่อ ยื่นจม.ลาออกจากอนุกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ ค้านกม."คณิต"
โชว์หนังสือ-เหตุผล 4 ตัวแทนสื่อ ลาออกอนุฯ กมธ. ปฎิรูปสื่อสปท. ค้าน 'กม.คุมสื่อ'