4 ตัวแทนสื่อ ยื่นจม.ลาออกจากอนุกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ ค้านกม."คณิต"
4 ตัวแทนสื่อ ยื่นจม.ลาออกจากอนุกมธ.ปฏิรูปด้านสื่อฯ เปิด 5 เหตุผล ระบุชัดไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 11.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการนัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ณ ห้องประชุม 219 อาคารรัฐสภา 2 โดยหน้าห้องประชุม นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข และนางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผ่าน ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์
สำหรับเหตุผลและความเห็นประกอบการลาออก คือ
1. ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
2. ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสาระสำคัญที่ “ห้ามมิให้องค์กรสื่อ องค์การวิชาชีพมวลชนและคณะกรรมการสภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน เรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา หากในขณะเรื่องร้องเรียน นั้น ผู้ร้องเรียนได้ฟ้องผู้ถูกร้องเรียนในเรื่องเดียวกัน และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล”
4.ไม่เห็นด้วยกับจำนวนของคณะทำงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ
5.ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ นายประดิษฐ์ กล่าวถึงการเข้ามาทำหน้าที่อนุกรรมาธิการฯ เราตั้งใจที่จะเข้ามาดูเเลคุ้มครองสิทธิของสื่อมวลชน และต้องการให้มีการกำกับด้านสิทธิของสื่อมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้รัฐบาลยอมรับโดยการออกแบบกฎหมายให้มีการกำกับสามอันดับ คือองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อเเละสภาวิชาชีพสื่อ ถ้าจะมีก็ต้องใช้อำนาจผ่านองค์กรเหล่านี้ ไม่สามารถใช้อำนาจตรงไปยังผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ
"เชื่อไหมว่าทันทีที่มีกฎหมายนี้บังคับใช้ภายใน 1 ปี พวกเราทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียน เรามีบุคลากรประมาณเเสนกว่าคนในวงการวิชาชีพสื่อ จะทำอย่างไร การเขียนกฎหมายเเบบนี้ขึ้นมาขอให้มีความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของวงการวิชาชีพสื่อ เอาเราไปเปรียบเทียบกับวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งนั้นเป็นอาชีพสุจริตที่เราต้องเคารพ เเต่วิชาชีพสื่อมวลชนมีความเฉพาะ มีความละเอียดเเละเป็นวิชาชีพที่สัมพันธ์ สัมผัสกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นนี่คือหลักการสำคัญ รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งคำนิยามหลายอย่างมีปัญหา และในฐานะอนุกรรมการฯ ที่ได้รับมอบหมายศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลาหนึ่งปีกว่า ไม่มีเวทีไหนที่จะขอใบประกอบวิชาชีพ และเอาสี่ปลัดกระทรวงขึ้นมาเป็นคณะกรรมการ ฉะนั้น ไปเอาความคิดนี้มาจากไหน นี่คือสิ่งที่ผมรับไม่ได้ และไม่สามารถทำหน้าที่ร่วมกันได้อย่างเเน่นอน"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เวลา 10.00 น. สมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยพร้อมด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร นำโดย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เดินทางยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อแสดงท่าทีคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ .การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน (สปท.)คนที่ 1 เป็นตัวแทน (สปท.)รับหนังสือไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป