ถามหา “ความรับผิดชอบต่อสังคม-ชุมชน” กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.
กฟผ.พยายามอย่างยิ่งในการหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 9 โรง วันนี้การนำเสนอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แผ่วเบาลง เพื่อกลบกระแสความน่ากลัวของผลกระทบที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่กลับมาโหมกระพือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นำเข้าจากอินโดนิเซีย ออสเตรเลีย โดย กฟผ.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอกอยู่เสมอว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องสำรองพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดไป และพยายามหาพื้นที่ตั้งที่เหมาะสมสะดวก ในการขนส่ง โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และถ้าต้นทุนถูกลง ประชาชนก็จะได้ใช้ไฟถูกลง”
เจ้าหน้าที่ กฟผ.ใช้วาทกรรมดังกล่าว กรอกหูประชาชนในพื้นที่ในทุกวันทุกกิจกรรมที่ กฟผ.ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่โรงเรียน วัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการสื่อสารกับผู้ปกครองท้องที่ นายก อบต. นายกเทศมนตรี แจกอุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ทั้งหลายที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นในชุมชน วันเด็ก วันสงกรานต์ วันลอยกระทง เป็นต้น
ที่จังหวัดตรัง กฟผ. หมุนเวียนพาประชาชนในพื้นที่ตำบลวังวน อ.กันตัง ไปท่องเที่ยวทุ่งดอกบัวตอง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อแสดงให้เห็นว่าจัดการมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ทั้งหมด 10 โรงที่มีการผลิตไฟฟ้าจาก 13 โรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้พาไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบสุขภาพจากการสูดดมมลพิษจากการเผาไหม้ของถ่านหิน และไม่ได้กล่าวถึงคดีความที่มีการฟ้องร้องจนต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวแม่เมาะ
กฟผ.ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานมวลชนสัมพันธ์ ว่าจ้างคนในพื้นที่ดำเนินการจนทำให้ประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งแตกแยกเป็นสองกลุ่ม ระหว่างการเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับโครงการ ทีjตรัง กฟผ.เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. ชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ชี้แจงข้อมูลสื่อมวลชนว่า
“ใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้โรงไฟฟ้าเป็นมิตรกับชุมชน สามารถอยู่ร่วมอาศัยกับโรงไฟฟ้าอย่างปลอดภัย ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจมีผลกระทบจากโครงการบ้าง แต่จะปลูกใหม่ทดแทนมากกว่าเท่าตัว ส่วนเรื่องพะยูนที่หลายคนวิตกว่าน้ำหล่อเย็นถ่านหิน จะไปทำลายแหล่งหญ้าทะเล ปัจจุบัน เป็นโรงไฟฟ้าแบบปิดไม่ได้กองถ่านหินเหมือนก่อน เพราะน้ำหล่อเย็นจะมีอุณหภูมิต่างจากธรรมชาติแค่ 1 องศา ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ” (หนังสือพิมพ์ข่าวเสรี จังหวัดตรัง วันที่ 30 ม.ค. – 5 ก.พ.2555)
กฟผ.ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์จากรายได้ค่าเอฟที (น้ำมันเชื้อเพลิง) ที่ผู้บริโภคจ่าย มานำเสนอให้เห็นภาพทุ่งดอกบัวตองกระจายผ่านสื่อโทรทัศน์ทั่วประเทศ เพื่อยืนยันว่าไม่มีมลพิษ มีแต่ความสวยงามที่ อ.แม่เมาะที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ในยุคแรกเริ่ม หากไล่เลียงการเดินทางของ กฟผ.ในภาคใต้แล้ว ยังเดินทางทั้งในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่ เพื่อหาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าให้ได้ในภาคใต้ หากคนในจังหวัดนั้นให้การยอมรับ
ที่ตรัง กฟผ.ทำงานมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ประมาณ 2 ปี แต่ไม่เคยชี้แจงข้อมูลโครงการอย่างตรงไปตรงมาทั้งผลกระทบด้านบวกด้านลบให้คนในจังหวัด และในตำบลวังวนรับทราบ ไม่มีข้อมูลใดๆที่จะแสดงให้คนตรังเพื่อพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบด้าน นอกจากการแจกเงินแจกของในพื้นที่
พฤติกรรม-วาทกรรมเช่นนี้คือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม(cooperative social responsibility/CSR) หรือไม่” คนไทยต้องตั้งคำถามต่อรัฐวิสาหกิจ หรือโครงการพัฒนาของรัฐ ของเอกชน
การใช้เงินตรามาผูกมิตรสร้างสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับชุมชน ใช้ความสัมพันธ์ในหมู่เครือข่ายญาติพี่น้องที่เป็นข้อเด่นของสังคมไทยมาเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการยอมจำนนต่อการทดแทนบุญคุณและต้องยอมรับต่อการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า การกระทำเช่นนี้ เป็นการเคารพสติปัญญาที่คนไทยสามารถร่วมตัดสินใจต่อทิศทางการพัฒนาตำบล จังหวัดประเทศไทยได้หรือไม่
กฟผ.ต้องกล้าพูดด้านลบและความจริงทั้งหมดที่มีแผนดำเนินการให้คนไทย คนใต้ และคนจังหวัดตรังรับรู้ทั้งหมด ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโครงการพัฒนา มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ รับรองสิทธิชุมชน และมีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญยังไปไม่ถึงดวงดาว
กฟผ.โฆษณาชวนเชื่อว่าได้ทำ CSR มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว กล้ารับผิดหรือไม่ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังเช่น กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และที่อื่นๆที่ดำเนินการไปแล้ว
ประเด็นของโรงไฟฟ้า มิได้อยู่ที่ว่า ควรจะมีโรงไฟฟ้าหรือไม่ ที่ทำให้คนไทยต้องแตกแยกกันระหว่างกลุ่มที่เอากับกลุ่มที่ไม่เอา แต่ประเด็นสำคัญที่ กฟผ.ต้องเปิดเผยให้รับรู้กันถ้วนหน้าเพื่อให้คนไทยตัดสินใจร่วมกันว่าจะพัฒนาประเทศไทยแบบไหน ดังนี้
1) ประเทศไทยจะมีทิศทางการพัฒนาพลังงานอย่างไร ทางเลือกของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่
2) ประเทศไทยได้อะไรจากผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้า นอกจากมีไฟฟ้าใช้ ผลประโยชน์ของการลงทุนตกอยู่ที่ใคร กระจายรายได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้นทุนของการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
3) ความเหมาะสมของพื้นที่มีจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป และปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นครรับผิดชอบ มีการรองรับการแก้ปัญหาระยะยาวหรือไม่
4) ผลกระทบของโรงไฟฟ้ามีอะไร ใครที่ต้องแบกรักภาระผลกระทบทั้งในพื้นที่ จังหวัดและประเทศชาติ เมื่อมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในอนาคต
5) ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าเอฟที(ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง)ตลอด เมื่อต้นทุนโรงไฟฟ้าถูกผู้บริโภคจ่ายค่าไฟถูกลงจริงหรือไม่ เมื่อแยกกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะการเงินและการใช้ไฟฟ้าแตกต่างกัน
6) การรวมศูนย์การผลิตไฟฟ้าโดย กฟผ. ยังเหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาพลังงานประเทศ และแก้ปัญหาโลกร้อนจริงหรือ ข้อมูลปรากฏชัดว่าผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมด้านพลังงานร้อยละ 75
คนไทยต้องพิจารณาทั้ง 6 ประเด็น และมีข้อมูลในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ว่าจังหวัดของท่าน ประเทศไทยของท่านควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนชั่วลูกชั่วหลานของท่านหรือไม่ ที่สำคัญการดำรงชีวิตจะอยู่กับโรงไฟฟ้าอย่างมีความสุขได้จริงหรือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการเกษตรกรรมกับการพัฒนาอุตสาหกรรม จะพัฒนาด้านใด คนไทยต้องตั้งคำถามกับ กฟผ.ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง มิใช่ปัดภาระให้กับภาษีประชาชนและให้คนไทยแบกรับภาระผลกระทบไปจนวันตาย ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยจากรายได้การผลิตไฟฟ้า
คนไทยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อ กฟผ. แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จะรับผิดชอบต่อสังคมไทยได้จริง เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้รัฐวิสาหกิจแบบ กฟผ. ยังทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโรงไฟฟ้า และรับภาระค่าเอฟทีจากการใช้ไฟฟ้า