จริยธรรมตามรธน."วิษณุ" ชี้ต่อไปเอาทรัพย์สมบัติแผ่นดินไปใช้ แม้เล็กน้อยก็จะผิด
วิษณุ เผย กระบวนแก้ร่างรธน.ฉบับประชามติเสร็จทันก่อน 18 ก.พ.นี้ เชื่อมาตรฐานจริยธรรมจะช่วยควบคุมการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ หากผิดร้ายแรง ป.ป.ช.รับหน้าที่สอบสวนภายใน1ปี
1 ก.พ. 2560 ที่สโมสรทหารบก(วิภาวดี) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนา “เหลียวหน้า แลหลัง จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ” ในช่วงหนึ่งของการเสวนาเรื่อง “อนาคตจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ศาสตรจารย์กิติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังอยู่ะหว่างการแก้ไข ซึ่งใกล้เสร็จเเล้ว โดยกำหนดการคือต้องให้เสร็จ ภายใน 18 ก.พ.2560 เขียนแก้เพียงบางมาตรา เฉพาะจุด จากนั้นจะนำทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ซึ่งต้องนับ 90วันใหม่ จะไปสิ้นสุดประมาณ เดือนพฤษภาคม
"เมื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้จะเป็นการนับหนึ่ง ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเชิญผู้แทนองค์กรอิสระทั้งห้ามาประชุมร่วมกัน ทำสิ่งที่ รธน.กำหนดให้เสร็จในหนึ่งปี นั่นคือกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จ ให้ศาลรธน องค์กรอิสระ พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด แต่จะมาทำชุ่ยๆ ไม่ได้
ในกรอบมาตรฐานจริยธรรมจะต้องเขียนอะไร อย่างไร แต่กรอบนั้นไม่ระบุหมด เหลือเอาไว้ ต้องไปขบคิด กับทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะเขียนให้เป็นที่เรียบร้อยตกผลึก เพราะจะย้อนกลับมาใช้กับ สว. สส. คณะรัฐมนตรี เชื่อว่าเป็นต้นแบบมาตรฐานจริยธรรม"
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรา 76 กำหนดว่ารัฐ จะต้องกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้น ซึ่งคนละฉบับกับศาลรธน. เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานของรัฐในเรื่องการประมวลจริยธรรม นั่นแปลว่า กระทรวงมหาดไทยอาจมีหนึ่งฉบับ กระทรวงอื่นก็มีอย่างละฉบับของตัวเอง ทั้งนี้จะขัดแย้งกับมาตรากลางที่รัฐกำหนดขึ้นไม่ได้ ส่วนข้อสงสัยว่ารัฐที่ว่าใครจะเป็นคนร่าง
"เอาเป็นว่าหากลูกฟุตบอลไปอยู่ที่เท้าใครคนนั้นก็รับผิดชอบ" รองนายกฯ กล่าว และว่า การที่รัฐทำขึ้นต่างหากใช้กับราชการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ บางอย่างอาจซับซ้อนกว่า โชคดีอย่างหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าให้ทำเสร็จในเวลาเท่าไร
ดร.วิษณุกล่าวอีกว่า มาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการทำอยู่บ้างเเล้ว การดูเเล เรื่องจริยธรรม เราอาจเอาส่วนนั้นเป็นต้นแบบดัดแปลงต่อไป ไม่ยาก เคยขอให้แต่ละกรม จัดทำประมวลจริยธรรมขึ้นมาใช้ เพราะแต่ละหน้าที่ก็มีความแตกต่างกันในการบังคับใช้ แต่ต้องไม่ขัดกับมาตรฐานกลาง
รองนายรัฐมนตรี กล่าวว่า มี 5 อย่างที่จะดูเเลเจ้าหน้าที่การทำงานของรัฐคือ
1.)มาตรฐานจริยธรรม
2.)วินัยของข้าราชการแต่ละฝ่าย
3.)กฎหมายอื่นๆ ทั้งที่มีโทษอาญาและเเพ่ง
4.)กฎหมายที่ไม่มี และกำลังจะมี เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ป้องกันการเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินไปใช้ ต่อไปนี้ต่อให้เล็กน้อยก็จะผิด
5.)ศีลธรรม เป็นตัวใหญ่ที่สุดที่จะมากำหนด กำหนดประชาชนด้วย