อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ฉะ สตง. สมยอม ปตท. กรณีคืนท่อก๊าซ ทำประเทศเสียหาย
อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ค้านแนวที่สตง.ตกลงกับกระทรวงการคลัง หวั่น ปตท.คืนท่อก๊าซ กลายเป็นมวยล้ม จี้ประชาชนต้องติดตามและปกป้องผลประโยชน์ชาติ
วันที่ 1 ก.พ. 2560 ที่สโมสรทหารบก (วิภาวดี) นายศรีราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า มีการเจรจากับตัวแทนกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับแนวทางที่จะให้ ปตท.คืนท่อก๊าซมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ให้กับรัฐด้วยการคืนทางบัญชี โดยเปลี่ยนท่อก๊าซเป็นทรัพย์สินประเภทเช่า และให้ปตท.จ่ายเงินค่าเช่าย้อนให้กรมธนารักษ์กว่าพันล้านบาท ซึ่งได้นำข้อสรุปดังกล่าวส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วอยู่ในระหว่างการรอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็สามารถนำข้อสรุปดังกล่าวไปยุติคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีเดียวกันได้เพราะถือว่า ตกลงกันได้ระหว่างปตท.กับกระทรวงการคลังนั้น
อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวที่สตง.ตกลงกับกระทรวงการคลัง เพราะไม่ตรงกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประเมินไว้ ตัวเลขที่ต้องคืน คือ กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท และปตท.คืนมาแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ยังคงเหลืออีก 5.2 หมื่นล้านบาท หากจะลดลงมาเหลือ 3.2 หมื่นล้านบาท จะหายไป2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งในจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาทนี้ยังมีข้อตกลงว่าเป็นการคืนแค่ตัวเลขทางบัญชี ก็ไม่แน่ใจว่า สตง.รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินหรือไม่
นายศรีราชา กล่าวอีกว่า ไม่ค่อยไว้ใจคนในกระทรวงการคลัง เพราะที่ผ่านมาเรื่องนโยบายพลังงานล้วนแต่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งเรื่องการซื้อขายน้ำมัน และเรื่องอื่น ๆ เป็นการหากินร่วมกัน ซึ่งในฐานะที่ทำหน้าที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำหน้าที่เท่าที่ทำได้ ใช้เวลาเป็นปี เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ที่สำคัญคนที่ให้ข้อมูลกับผู้ตรวจการแผ่นดินก็คือสตง.ที่บอกเราว่า ยังมีประกาศอีก 58 ประกาศย้อนหลังไปถึงสมัยสามทหาร เราจึงตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ถ้าสุดท้ายจะไปสมยอมกัน มาเป็นแบบนี้ก็สงสัยว่า เป็นเรื่องที่ชอบหรือไม่ มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่
นายศรีราชา กล่าวถึงการคืนท่อก๊าซที่ถูกต้องคือ ต้องคืนอย่างตรงไปตรงมา คือเอาเงินของปตท.หรือทรัพย์สินของปตท.มาคืนจะทำแบบทยอยคืน หรือทำแบบทีเดียว ก็ล้วนแต่จะช่วยประเทศชาติได้ทั้งสิ้น ยิ่งปตท.กำลังจะปรับโครงสร้างให้หลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย อาจไปสร้างความร่ำรวยให้กับคนในกลุ่มของตนเอง เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม
"ที่สตง.กังวลว่า หากคืนเป็นเงินจะกระทบต่อสถานะการเงินและหุ้นของปตท.นั้นก็ไม่จริง" อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว และว่า อย่าพูดเลย เพราะตอนที่จะฟ้องปตท.ก็บอกว่า หุ้นจะตก ถามว่าฟ้องแล้วหุ้นตกไหมก็ไม่ตก วิธีการคืนก็ไม่ได้หมายความว่า คืนทีเดียวให้บริษัทล้มละลาย ทยอยคืนก็ได้แล้วคิดดอกเบี้ย
นายศรีราชา กล่าวด้วยว่า ที่ไม่ยอมรับแนวทางที่สตง.กับกระทรวงคลังเจรจากัน แต่ถ้าครม.เห็นชอบแล้วจะนำบทสรุปดังกล่าวไปยุติคดีที่ค้างอยู่ในศาลปกครองก็คงไม่อาจพูดอะไรได้ เพราะถือว่า ได้ทำหน้าที่ไปแล้ว แต่ถ้าผู้เกี่ยวข้องไปทำอย่างนั้นคือสมยอมกันแล้ว ครม. ก็ยินยอมด้วย ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะแต่ละคนที่เกี่ยวข้องต้องกลับไปพิจารณาตัวเองว่าทำถูกต้องหรือไม่ รวมถึง ครม. ด้วยต้องดูว่าได้รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติหรือเปล่า จึงอยากฝากถึง ครม. ว่า ต้องดูอย่างตรงไปตรงมารักษาผลประโยชน์ประเทศ มากกว่าทำแบบลูบหน้าปะจมูก เห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนหนึ่ง
ส่วนจะสามารถยุติคดีที่ศาลปกครองได้หรือไม่ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ก็คงขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร เพราะมีสิทธิที่จะมีข้อเสนอและสั่งได้ทั้งนั้น
“ผมในฐานะประธานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ยื่นเรื่องนี้ไปยืนยันว่า ทำเพื่อความถูกต้องรักษาประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน หากคนที่มาทำต่อในตอนหลังไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือศาลปกครอง จะมาเป็นมวยล้ม ก็คงทำอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องติดตามและปกป้องผลประโยชน์ของตนเองต่อไป ได้ข่าวว่า กลุ่มปฏิรูปพลังงาน กำลังจะมีข้อเสนอ และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นไม้ตาย ไม่ว่าองค์กรไหนเจอเรื่องนี้ ก็คงหยุดเหมือนกัน อย่างไรก็ตามหากมีการยุติคดีนี้ที่ศาลปกครองจริงก็จะถือว่า เป็นการปิดฉากเรื่องการทวงคืนท่อก๊าซ” อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว