“จริยธรรมไม่เหมือนการทำทุจริต พล.อ.วิทวัส หวั่นมาตรวัดไม่เหมือนกัน ยากตัดสิน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยรายงานการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของข้าราชการ-นักการเมืองในช่วง 10 ปี พบผู้ที่ถูกเรื่องเรียนจากภาคส่วนการเมืองระดับชาติ 194 ราย ข้าราขการ 112 ราย มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างประปราย รวม 339 เรื่อง ชี้เป็นเรื่องที่มาจากการเมืองระดับชาติมากถึง 1ใน 3
วันที่ 1 ก.พ. 2560 ที่สมโสรทหารบก(วิภาวดี) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนา “เหลียวหน้า แลหลัง จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ” ในช่วงหนึ่งของปาฐกถาเรื่อง “งานจริยธรรมในมุมมองของผู้ตรวจการแผ่นดิน” โดยพลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง การรายงานการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของข้าราชการและนักการเมืองในช่วง10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ถูกเรื่องเรียนจากภาคส่วนการเมืองระดับชาติ 194 ราย ข้าราขการ 112 ราย มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างประปราย รวมทั้งหมด 339 เรื่อง เป็นเรื่องที่มาจากการเมืองระดับชาติ 1ใน 3
พลเอก วิทวัส กล่าวถึงหนึ่งในหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินคือการประมวลด้านจริยธรรม ส่งเสริมจริยธรรมให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม แต่คงเป็นเรื่องที่ยากหากบอกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมือง อย่าง สว. สส. คณะรัฐมนตรีจะเอาคนเหล่านั้นมานั่งอบรมเรื่องจริยธรรม สิ่งที่เราทำที่ผ่านมาคือ คือทำในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคนเหล่านี้สำคัญเพราะอยู่ใกล้ชิดประชาชน และมักมีคำร้องเรียนที่ขึ้นมาอันดับหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ของ อบต. อบจ. ดังนั้นสิ่งที่เราทำมาสิบปี เราไม่ได้ทำผิดเป้าหมาย
“เรื่องส่งเสริมสำนึกด้านจริยธรรม กลุ่มเป้าหมายหลัก คือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ข้าราชการ”
พลเอก วิทวัส กล่าวว่า ความคาดหวังของสังคมเรื่องจริยธรรมมีมาก แล้วการที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยคิดว่า การกำหนดบทลงโทษให้แรงๆ ไม่แน่ใจว่าทำให้ถูกทางหรือไม่ หากดูการประเมินผลเรื่องการทุจริตของไทย ล่าสุดเราตกลงไปอีกอยู่ที่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศ สะท้อนว่าเราเดินถูกทางหรือไม่ เรื่องการตรวจสอบด้านจริยธรรม ตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญปี2550 มาตรา 37 กำหนดว่า การทำเรื่องตรวจสอบ ต้องมีคำร้องเรียน จะทำโดยไม่มีคนร้องเรียนไม่ได้ คือพิจารณาสอบสวนข้อเท็จริง สองถ้ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำไปรายงาน ต่อรัฐสภา ถ้ามีการกระทำร้ายแรง ส่งให้ ป.ป.ช.ต่อไป นี่คือสิ่งที่เป็นอำนาจหน้าที่ด้านการตรวจสอบจริยธรรม
พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า ใน ม.38 กรณีที่มีการฝ่าฝืนจริยธรรม ถ้าร้ายแรง ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเผยต่อสาธารณะได้ เรื่องคอรัปชั่นที่เราหวังว่า ป.ป.ช. จะทำแทนคนไทย ถ้าคนผิดมีขอให้เปิดเผย แต่ถามว่าในบรรดาสี่เรื่อง อย่างการทุริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ เรื่องจริยธรรมร้ายแรง ป.ป.ช.อาจจะพลาดเรื่องนี้ คนส่วนใหญ่อาจตำหนิหากปล่อยให้คนคอรัปชั่นหลุดไป รับไม่ได้ แต่การวินิจฉัยเรื่องพฤติกรรมร้ายแรง ต้องมีมาตรวัดอย่างไร ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ตามรัฐธรรมนูญใหม่ของเรื่องจริยธรรม จะไม่มีองค์กรกลั่นกรอง ใหม่ จากเดิมที่ผู้ตรวจการแผ่นดินช่วยกรอง แต่รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้กำหนดหน้าวินิจฉัย ปล่อยเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ล้วนๆ ในการทำงานเรื่องนี้
พลเอกวิทวัส เผยถึงวิธีการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐกรณีพบว่า ทำผิดต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีตำแหน่งสูงกว่า โดยยกตัวอย่างว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นายก อปท. นายกอบต. มักถูกร้องเรียนใช้ของหลวงเป็นของส่วนตัว เป็นต้น ยุ่งหนักไปอีก ถ้าตั้งกรรมการเท่ากันหรือสูงกว่า ยากที่จะไปหาคนที่เท่ากันหรือสูงกว่า ยากมาก งานองค์กรอิสระเยอะอยู่เเล้ว แต่อย่างไรก็ต้องหา ต้องทำ ถ้านายกรัฐมนตรีถูกร้องเรียนร้องละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ใครจะไปสอบนายกในการตั้งคณะกรรมการจะเอาใคร
“เกณฑ์พิจารณาร้ายแรง ป.ป.ช. ก็จะรับไปดูเเล ถ้าไม่ร้ายแรงจะเป็นหน้าที่ของใคร จริยธรรมไม่เหมือนการทำทุจริต มันมีน้ำหนักบวกลบ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า ไม่ร้ายแรง ร้ายแรง ยากที่จะตัดสิน ที่บอกว่าหน่วยงานกลางคืออะไร จะตั้งศาลจริยธรรมหรือเปล่า” พลเอก วิทวัส กล่าวและว่า เพราะในเรื่องลงคะแนนตัดสินไม่ได้จบหน่วยงานกลาง ไม่ได้สิ้นสุดที่ ป.ป.ช. ต้องไป สนช. เพราะฉะนั้นข้อมูลข่าววสาร มาตรฐานจริยธรรม ก็แตกต่างกัน แล้วแต่ระดับของข้อมูลข่าวสารมากน้อยแค่ไหน วันนี้การทำงานของเราไม่มุ่งกรอบคุณธรรมจริยธรรม เราไปเรื่องใหญ่กว่านั้นคือ ธรรมาภิบาล