ศอตช.สั่งเรียกประชุมหน่วยงานบูรณาการตรวจสอบคดีสินบนทั้งระบบ 9 ก.พ. 60 นี้
ศอตช.สั่งเรียกประชุมหน่วยงานตรวจสอบถกวาระบูรณาการงานตรวจสอบคดีสินบนปท.ไทยทั้งระบบ9ก.พ.นี้ ส่วน ป.ป.ช. ส่งจนท.เข้าปตท.ประสานขอเอกสารหลักฐานคดีโรลส์รอยส์โดยตรง
แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในวันที่ 9 ก.พ. 2560 นี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะเรียกประชุม ศอตช. เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการตรวจสอบคดีสินบนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในขณะนี้ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานด้านการตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและผลสรุปตรงไปตรงมามากที่สุด
"ศอตช. ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบที่อยู่ใน ศอตช.ทุกแห่ง นำข้อมูลการตรวจสอบคดีทุจริตรับสินบนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาพิจารณาหารือรวมกันเพื่อกำหนดแผนการทำงานในลักษณะการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแต่ละคดีครบถ้วนโดยเร็วที่สุด"
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีรับสินบน ที่จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมศอตช.ครั้งนี้ ประกอบไปด้วย คดีสินบนบริษัทโรลส์รอยส์ กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), คดีบริษัท บ.เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟ ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย , คดีบริษัท ดิอาจีโอ บีแอลซี ผู้ผลิตสุราระดับโลก จ่ายสินบนให้ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย และ บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล จ่ายสินบนในการติดตั้ง CCTV ในรัฐสภา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของประเทศไทย และเมืองพัทยา
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานขอข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีการรับสินบนโรลส์รอยส์ ในส่วนของปตท.แล้ว เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลมาความรวดเร็ว แทนการจัดทำหนังสือไปขอข้อมูลที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยแพร่เอกสารระบุข้อคิดเห็นของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อข่าวทุจริตการรับสินบนในห้วงเวลาที่ผ่านมาว่า นายสุวพันธุ์ได้รับรายงานทุกข่าวแล้ว เมื่อพิจารณาทั้งภาพกว้างและภาพละเอียดแล้วพบว่า เรื่องราวทุจริตให้สินบนทั้งหมดเกิดขึ้นในอดีต ทางการต่างประเทศได้ลงโทษบริษัทเอกชนและบุคคลในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ในบ้านเราพวกที่รับสินบนไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการ เอกชน ยังไม่ได้ถูกลงโทษ เรื่องนี้ต้องหาตัวผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะไม่ยากนักเพราะทุกเรื่องราวระบุปีที่มีการสั่งซื้อของ ต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารการจัดหา การจัดซื้อจัดจ้าง มีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องตรวจสอบได้จนพบผู้เกี่ยวข้องและข้อเท็จจริงต่างๆ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ประสานหน่วยตรวจสอบให้มีการดำเนินการแล้ว และกระทรวงยุติธรรมก็จะใช้ทุกช่องทางและอำนาจตามกฎหมายที่มีทำให้การตรวจสอบได้ความกระจ่างชัด และเสนอรัฐบาลโดยเร็ว
นายสุวพันธุ์ ระบุด้วยว่า บทเรียนที่สำคัญจากกรณีเหล่านี้คือ การจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงมากๆจากต่างประเทศมีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริต และรายงานของหน่วยงานต่างประเทศทุกกรณีมีความคล้ายคลึงกันคือ การทุจริต จ่ายสินบน รับสินบน มีนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจคนไทยและต่างชาติ เกี่ยวข้องร่วมมือกัน รับเงินด้วยกัน มากน้อยต่างกันไป หน่วยตรวจสอบจึงต้องดูลึกลงไปว่าใครเป็นใคร ใครเกี่ยวข้องบ้าง สายสนกลในของแต่ละคนเชื่อมโยงไปถึงใครอื่นอีกบ้าง บัญชีธนาคารใดที่รับเงิน หรือนอมินีคนใดที่รับเงินแทน หรือจ่ายเงินสดให้กัน อีกทั้งต้องนำบทเรียนนี้มาป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก มีทั้งมิติการปลูกฝังจิตสำนึก การใช้ข้อกฎหมายที่มีออกมาตรการที่จำเป็น การกำชับทุกส่วนราชการให้เคร่งครัดในการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบโดยหน่วยตรวจสอบกลาง เรื่องเหล่านีรมว.ยุติธรรมได้หารือกับนายประยงค์ ปรียาจิตต์เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ปปท. ) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. ให้รีบรายงานรัฐบาล เพื่อระบุมาตรการที่รัฐบาลควรสั่งการเพิ่มเติม