ทำไมจึงเอาแต่ "วิตก" หรือ "กลัว" ชาติมหาอำนาจ ?
เหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่อย่าเอาแต่ "กลัว" เราอาจได้เห็นการล้มครืนพังทะลายของชาติมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกก็ได้
หมายเหตุ : ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บนแฟนเพจ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas เรื่องทำไมจึงเอาแต่ "วิตก" หรือ "กลัว" ชาติมหาอำนาจ ?
---------------
กับเพื่อนบ้านนั้นไทยมักจะทำตัวใหญ่กว่า แต่เมื่อเทียบตัวเองกับมหาอำนาจ ก็จะรู้สึกว่าตนเป็นชาติยากจน อ่อนแอ ล้าหลัง มองว่าต้องสันทัดในการหา หรือมี หรือพึ่งพิง "ลูกพี่" ที่เป็น"ชาติมหาอำนาจ" ความสำเร็จทางการทูตหลายครั้งของเราคือการเลือกข้าง"ลูกพี่"ได้ถูก หรือเปลี่ยน "ลูกพี่" ได้ทันกาล หรือควานหา "ลูกพี่ใหม่" มาคาน หรือมาแทน "ลูกพี่เก่า" ได้อย่างน่าพิศวง
พูดว่าไทยยากจนล้าหลังเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นคงไม่ผิด แต่ปัจจุบันเราเป็นชาติรายได้ปานกลาง ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ราวอันดับที่ยี่สิบ-สามสิบต้นๆ ของโลกไปแล้ว เป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่มากของโลกและของเอเชีย มีศักยภาพเป็นจุดเชื่อมของปาซิฟิกกับอินเดีย ซึ่งเป็นสองมหาสมุทรสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ และไทยยังอาจเชื่อมต่ออาเซียนเข้ากับจีนและอินเดียได้ในทางบกเช่นกัน เราอยู่ชิดใกล้กับช่องแคบมะลักกา เส้นทางเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดของโลก สำคัญเสียยิ่งกว่าเส้นทางผ่านคลองสุเอซ และยิ่งกว่าเส้นทางคลองปานามา
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกหวาดหวั่นยำเกรง "ชาติมหาอำนาจ" นั้น ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงน้อยมากครับ ผมบรรยายเรื่องบูรพาภิวัตน์คราใด ก็มักมีคนถามว่า "เมื่ออเมริกาถดถอย และจีนเข้มแข็งรุ่งเรืองอย่างนี้ จะป้องกันการคุกคามของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกอย่างไรดี ?" ผมก็จะตอบว่าเราหมดยุค "สงครามเย็น" กันแล้ว ควรอยู่กับเพื่อนบ้านทุกประเทศอย่างให้เกียรติ และร่วมมือหรือสัมพันธ์กับ "ชาติมหาอำนาจ" ทุกฝ่ายให้ดี พลางนึกต่อในใจ "เราไม่ใช่ชาติเล็ก" แล้ว ต้องทะยานขึ้นไปเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง" บ้าง เรามีที่ตั้งที่มีศักยภาพที่จะก้าวต่อไปอีก อย่าขวนขวายหาแต่ "ลูกพี่" เอาแต่พึ่งพาชาติมหาอำนาจชาติเดียวหรือฝ่ายเดียว อย่างในอดีต เลย และ พอสหรัฐอ่อนกำลังลง ก็จงอย่า "กลัวจีน" แทน
โปรดดูสิงคโปร์ครับ ประเทศนั้นทั้งพื้นที่ทั้งประชากรเล็กกระจิดริด แต่เขาไม่เคย"กลัวจีน" "กลัวฝรั่ง" หรือ "กลัวญี่ปุ่น" เลย กลับ"ใช้ " จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น" ให้เป็นประโยชน์ได้หมด ถึงเวลาแล้วที่เราตัองทำใจให้ใหญ่ขึ้น คิดใหญ่ขึ้น คิดไกลกว่าเดิม อย่าเอาแต่"กลัว" การคุกคาม และ"เกรง" แต่การถูกเอารัดเอาเปรียบจาก "ชาติมหาอำนาจ" เท่านั้น
รอบอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ก็เช่นกัน เราก็วกกลับมากลัว "อเมริกาในยุคทรัมป์" อีกจนได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีใหม่ ดอนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งต่างๆที่ก้าวร้าวและมีผลกระทบต่อโลกหลายอย่าง เราเริ่มจะเกรงว่าการส่งออกจะกระทบจาก "สงครามการค้า" ระหว่างจีนกับสหรัฐ หรือเปล่า เราวิตกกันว่าสหรัฐจะปะทะหรือมีศึกสงครามกับจีนได้ไหม จากกรณีเกาหลีเหนือ จากกรณีไต้หวัน กรณีญี่ปุ่น และจากกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และอาจจะลุกลามมาถึงไทยได้ เรากริ่งเกรงว่าสหรัฐจะเพิ่มกำลังเรือรบเรือดำน้ำและกองบินอีก ซึ่งย่อมส่งผลให้จีนจำต้องก้าวร้าวตามขึ้นไปอีก และย่อมจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของไทยแน่นอน
ผมคิดว่าเราไม่ควร "กลัว" ทั้งจีนทั้งสหรัฐครับ ทั้งสองมหาอำนาจนั้นล้วนแต่ต้องการไทยเป็นมิตร และเราเคยเผชิญกับการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยและเปลี่ยนดุลย์กำลังครั้งใหญ่ในโลกและในเอเชียอาคเนย์มามากต่อมากแล้ว อันตรายกว่านี้มาก ก็ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะในยุคฝรั่งล่าอาณานิคม หรือยุคสงครามอินโดจีนก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่เรารบตามชายแดนกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่รบกับสหรัฐและอังกฤษมาแล้ว หรือ ยุคสงครามเย็นห้าทศวรรษที่เราต้องไปรบในเกาหลี ในเวียดนาม ลาว และเขมร และล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ คือราวสองสามทศวรรษที่แล้วเอง กองทัพเวียดนามเข้ายึดกัมพูชาและรุกมาจนประชิดชายแดนไทยทางภาคตะวันออก เราก็ผ่านพ้นมาได้
ยิ่งกว่านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ยังจะต้องเผชิญกับการต่อต้านขนานใหญ่และอาจจะใหญ่ขึ้นอีกเรื่อย ๆ จากภายในประเทศเอง ไม่ว่าจากประชาสังคม จากกลุ่มประท้วง จากกลุ่มพลัง กลุ่มผิวดำ กลุ่มมุสลิม กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ กลุ่มผู้หญิง ทั้งจะมีการคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากพรรคเดโมแครท หรือจากภายในพรรครีพับลิกันเอง ถูกทัดทานหรือถูกคัดคานจากศาล และ จากมลรัฐหรือจากท้องถิ่นได้ด้วย รวมไปถึงอาจมีการใช้ความรุนแรงต่างๆ อีกมากที่จะหยุดประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะเดียวกัน ทรัมป์เองก็มีประชาชนที่หย่อนบัตรให้มากมาย และสนับสนุนเขาอยู่จริงจัง
แทนที่จะคิด"กลัวทรัมป์" อย่างเดียว เราอาจได้เห็นอเมริกาที่ยิ่งใหญ่แตกเป็น "สอง" ห้ำหั่นกัน มีพวก "โปร-ทรัมป์" และ พวก "แอนตี้-ทรัมป์" สู้กัน
แทนที่จะ "กลัวทรัมป์" อาจคิดว่าสหรัฐอาจปั่นป่วนวุ่นวาย คล้ายจะกลับเป็นยุค 60 อีก มีการประท้วง ปราบปราม วุ่นวาย จลาจล แต่ อย่าลืมว่าในช่วงปี 1960 ที่สหรัฐขัดแย้งกันอันเนื่องมาจากสงครามเวียดนามนั้น สหรัฐยังเป็น "เจ้าหนี้" รายใหญ่ที่สุดของโลก เศรษฐกิจยังแข็งแกร่งครับ นำหน้ายุโรปและญี่ปุ่นอยู่มาก แข็งแกร่งกว่าโซเวียต คู่ปรับ อย่างแน่นอน และจีนในตอนนั้นครับ อย่าลืม ยังยากจน อดอยาก ล้าหลัง หลายอย่างไม่ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอัฟริกาเสียด้วยซ้ำ
เหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่อย่าเอาแต่ "กลัว" เราอาจได้เห็นการล้มครืนพังทะลายของชาติมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกก็ได้ หวังว่าจะไม่เห็นนะครับ ผมภาวนาว่าสหรัฐ เพื่อนมิตรที่ดี จงอย่าล้ม จงอย่าพังทลาย จากรอยร้าว รอยแตก อันประธานาธิบดีทรัมป์จะขยายให้ใหญ่โตขึ้นอีกมากในเวลาอันรวดเร็วข้างหน้านี้