ธุรกิจปลาป่นทำไทยเสียเงิน2ล้านล้านทุกปี "บรรจง" วอนเลิกค้า หยุดสนับสนุน
ผอ.สมาคมรักษ์ทะเลไทย วอนเลิกค้าปลาป่น ชี้ทำลายทะเลทุกปี มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แนะเอกชนหาทางออกแหล่งโปรตีนอื่นในอาหารสัตว์แทน ด้านกลุ่มประมงเรียกร้องภาคธุรกิจตรวจสอบแหล่งที่มา หยุดสนับสนุนการทำผิดกฎหมาย
31 มกราคม 2560 ที่โรงแรมดุสิตธานี ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมอาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม จัดแถลงข่าว บทบาทภาคธุรกิจและประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมประมง
นายบรรจง นะแส ผู้อำนวยการสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงการเรียกร้องรัฐมาหลายครั้ง วันนี้อยากจะเรียนผ่านไปยังกลุ่มธุรกิจที่มีผลประโยชน์จากทะเล เพราะปัญหาหลักที่เราเจอคือ สังคมไทยหมดความหวังกับทะเลมาหลายสิบปี ตามท้องตลาดมีปลานิล ปลาทับทิมแทน อาหารทะเลกลายเป็นอาหารของคนชั้นสูง คนไทยเรียนรู้น้อยว่า ศักยภาพของประเทศเรา มีความสามารถในการส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นของโลก เรามีชายฝั่งหลายพันกิโลเมตร ตลาดสองฝั่งของประเทศ แต่ทำไมเราต้องนำเข้าอาหารทะเล คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย
นายบรรจง กล่าวว่า หนึ่งในแหล่งโปรตีนของสังคมไทยก็ถูกบีบให้อยู่ในมือของกลุ่มทุน สังคมไทยหมดหวังกับทะเลไป เรามีประชากรกว่าสองล้านคนริมชายฝั่ง แค่ดูเเลทะเลให้ดี เราสามารถสร้างรายได้หาศาลให้กับคนเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งอุตสาหกรรมหนักเลย รัฐอาศัยอำนาจกฎหมายของปี พ.ศ. 2490 ใช้มา 60 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการดูเเลรักษาทะเลเลย เราปล่อยให้มีการใช้ อวนรุน เรือปั่นไฟ อวนลากเต็มทะเล กรมประมง นักวิชาการต่างๆ รู้ดีว่า ปลาที่จับมาจากเรือเหล่านั้น มีเพียงแค่ 33% เท่านั้นที่เอาไปบริโภคได้ ที่เหลือเอาเข้าโรงงานปลาป่น ปลาป่นหนึ่งกิโลต้องใช้ปลา 4กิโลกรัม
“ในปี 2559 เราผลิตปลาป่น 5 แสนตัน หรือราว 2 ล้านตันของลูกปลา เรากำลังสูญเสียโอกาสของเศรษฐกิจไปเพราะปลาเหล่านั้นคือปลาเศรษฐกิจ ที่หากปล่อยให้โตอีกสามสี่เดือนจะมีมูลค่ามากกว่าหลายสิบเท่า”
นายบรรจง กล่าวถึงจำนวนอวนลากในทะเล 3-4 หมื่นลำ คือวิกฤตที่บอกว่า ทะเลไทยไม่สามารถเป็นความหวังของสังคมไทยได้อีกต่อไป กลุ่ม “Seafood Task Force” ซึ่งล้วนประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทะเล ถ้าบริษัทเหล่านั้นจะทำให้ตรงไปตรงมา เหมือนที่เรารับรู้ นั่นคือต้องเข้าใจว่า โลกไม่รองรับการพัฒนาในแบบนี้ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต้องปรับตัว
ด้านนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างเร่งด่วนทางภาคีได้มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อภาคเอกชน คือ ยุติการใช้เครื่องมือและวิธีการทำประมงทำลายล้าง โดยต้องไม่จับ ไม่ใช้ และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ตามกฎ IUU
นายสะมะแอ กล่าวด้วยว่า ภาคธุรกิจต้องมีระบบตรวจสอบย้อนหลังที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทำให้ทราบแหล่งที่มาและวิธีการจับสัตว์น้ำที่ทำการประมงได้และบังคับใช้ระบบนี้กับซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการจัดซื้อจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบในธุรกิจของตนให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย โดยเฉพาะกรณีของปลาป่นที่ภาคธุรกิจควรหัน มาสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อหาวัตถุดิบอื่นมาใช้ทดแทนหรือไม่ก็ใช้ปลาป่นที่เป็นชิ้นส่วนที่เหลือจากอุตสาหกรรมอื่น หรือที่เรียกว่า ปลาป่นบายโปรดักส์แทน
ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมปลาป่น 5 แสนตันต่อปี ในจำนวนนั้นต้องหาลูกปลามา2 ล้านตัน ในจำนวนนั้นแบ่งเป็นลูกปลาเศรษฐกิจถึง 67% และที่เหลือคือปลาเป็ด หรือปลาที่ไม่สามารถทานได้ ซึ่งหากคำนวนคร่าวๆ โดยใช้ฐานราคาปลาทูขั้นต่ำกิโลกรัมละหนึ่งร้อยบาท ในจำนวนลูกปลาเศรษฐกิจเหล่านั้นหากรอให้โตจะมีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่ามากกว่า GDP ของประเทศด้วยซ้ำ ขณะที่หากจับมาตอนยังเป็นลูกปลามีมูลค่าแค่กิโลกรัม 5 บาทเท่านั้นเอง หนำซ้ำหากปล่อยให้ปลาได้โต เรียกว่าแทบจะมีเหลือสำหรับคนทั้งประเทศด้วยซ้ำ แต่วันนี้เราเลือกทำลายเงิน 2 ล้านล้านบาทต่อปี ทุกปี
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MWRN) กล่าวว่าสิ่งที่เอกชนต้องทำวันนี้คือ 1) ต้องยุติการใช้แรงงานบังคับในภาคประมงอย่างเร่งด่วน โดยผลักดันมาตรการและแนวปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการเรือประมงในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยในการทำงานประมง 2) ต้องส่งเสริมในการรวมตัวและการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการทำงานที่มีคุณค่าของแรงงานประมง โดยต้องเป็นไปตามสิทธิการทำงาน นั่นคือแรงงานต้องมีความสุขถึงจะเรียกว่างานที่มีคุณค่า
ขอบคุณภาพประกอบปลาป่นจากhttp://tcijthai.com/