"ทวี สอดส่อง" ชู "ความเป็นธรรมดับไฟใต้" แนะใช้ยุติธรรมทางเลือกแก้ยาเสพติด
ห่างหายไปนานตั้งแต่หลังการรัฐประหาร สำหรับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ข้าราชการที่มีบทบาทสูงที่สุดคนหนึ่งในบริบทงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ตำแหน่งที่ทุกคนจดจำเขาได้คือ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากคนในพื้นที่ นอกเหนือไปจากงานสำคัญที่เคยได้รับมอบหมายก่อนหน้านั้นอย่างอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.อ.ทวี ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ภายใต้กฎหมายการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มีชีวิตชีวาขึ้นมา และทำให้ ศอ.บต.เป็นเสาหลักหนึ่งของการจัดการปัญหาในขาของความยุติธรรมและการสร้างความเข้าใจ ภายใต้สโลแกนประจำตัว “ความยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร”
เพราะ พ.ต.อ.ทวี เห็นว่าปัญหา “ความไม่เป็นธรรม” ในมิติต่างๆ เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเปรียบเสมือน “อาการของโรค” ที่ต้องการการรักษาเยียวยาที่ต้นเหตุ
ฉะนั้นการที่สถาบันสิทธิมนุษยชนลันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญ พ.ต.อ.ทวี ไปบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความเป็นไปได้และข้อท้าทายของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในเวทีสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ที่โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมืองนราธิวาสเมื่อ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นการเชิญที่ “ถูกฝาถูกตัว” เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเคยผ่านงานภาคใต้แล้ว พ.ต.อ.ทวี ยังเป็นอดีตตำรวจและอดีตอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้วย
ยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร
พ.ต.อ.ทวี เริ่มต้นการบรรยายด้วยประโยคที่เป็นสัจธรรมทั้งทางการเมืองและสังคมที่ว่า “หากสังคมใดขาดความยุติธรรมแล้ว ย่อมต้องประสบปัญหาความทุกข์ร้อนทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง”
ก่อนจะขยายความว่า ช่วงปลายปี 2554 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. เมื่อเริ่มทำงานในพื้นที่ก็พบว่าประเด็นความยุติธรรมถูกพูดถึงและถูกเรียกร้องมากกว่าประเด็นการเมืองหรือการทหาร
“ถึงแม้กฎหมายระเบียบต่างๆ จะออกมาใช้ได้ ต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองก็ตาม แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในพื้นมากเพียงพอแล้ว ขณะที่ ‘ความยุติธรรม ความเสมอภาค และความโปร่งใส’ เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งความต้องการการฟื้นฟูเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นบาดแผลทางจิตใจของประชาชนในขณะนั้น”
ชู 3 แนวคิดปูชนียบุคคล
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า โครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ฉะนั้นจึงมีมุมมองความยุติธรรมแตกต่างกัน การจะกำหนดเป้าประสงค์ของกระบวนการยุติธรรมและการลงโทษร่วมกันเพื่อสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรมนั้น เขาได้หยิบแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีอาชญาวิทยา กับหลักการของผู้นำที่เป็นมุสลิมในต่างประเทศ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นกรอบแนวคิดรวม 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก จากนักอาชญาวิทยาที่ชื่อ ซีซ่าร์ เบคคาเรีย ที่ถือว่าเป็นบิดาสาขาอาชญาวิทยา ได้ศึกษาเรื่องนี้เมื่อกว่า 250 ปีมาแล้ว และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากผลงานชิ้นสำคัญที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ชื่อว่า “เรียงความเกี่ยวกับอาชญากรรมและการลงโทษ” หรือ Essay on Crimes and Punishment โดย ซีซ่าร์ ยึดถือคติพจน์ที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” คือ “การป้องกันอาชญากรรมย่อมดีกว่าการลงโทษอาชญากร”
แนวคิดนี้ส่งผลต่อนักคิดด้านอาชญาวิทยารุ่นต่อๆ มา และมีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลจากหนังสือที่ชื่อ อาชญาวิทยา:สหวิทยาว่าด้วยปัญหาอาชญากรรม ของ ศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ส่วนที่สอง เป็นแนวคิดของ เคาะลีฟะ อุมัร บิล อัล-ค๊อฎฎ๊อบ ที่ได้ปกครองดินแดนตะวันออกกลางอันไพศาลเมื่อราว 1,370 ปีล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นดินแดนของ 18 ประเทศในปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์ ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์ ปัญญาชนมุสลิมที่ศึกษาในตะวันออกกลาง ได้เรียบเรียงประวัติและตั้งชื่อหัวข้อในหนังสือชื่อ “สันติสุขบนดินแดนตะวันออกกลาง สมัย เคาะลีฟะ อุมัร บิล อัล-ค๊อฎฎ๊อบ” สรุปว่าปัจจัยที่สนับสนุนการสร้างสันติสุขในสังคมมี 3 ประการ คือ 1.การมีประชาชนดี 2.การมีกฎหมายและรัฐธรรมนูญดี และ 3.การมีผู้นำดี
ส่วนที่สาม เป็นวิสัยทัศน์และแนวทางปฏิบัติของ หะยีฮารน สุหลง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา เมื่อประมาณ 66 ปีที่แล้ว หะยีฮารนเป็นคนแรกที่นำระบบโรงเรียนมาเปิดสอน คือเปิดการเรียนการสอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา ทั้งที่แต่เดิมจะมีเรียนเฉพาะ “ปอเนาะ” ที่สอนศาสนาเพียงอย่างเดียว โดยยึดถือเอาโต๊ะครูหรือเจ้าของปอเนาะเป็นศูนย์กลาง
แนวทางใหม่ของ หะยีฮารน ต้องเผชิญกับความเชื่อและค่านิยมของคนในพื้นที่ขณะนั้นที่มองว่าการเรียนภาษาไทยกับวิชาสามัญเป็นบาป แต่ หะยีฮารน เห็นว่าทุกวิชาไม่ว่าศาสนาและสามัญมีความสำคัญ เพราะศาสตร์ทุกแขนงล้วนเกิดจากอัลลอฮ์ทรงประทานมาให้มนุษย์ทั้งสิ้น แต่การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องเริ่มเรียนศาสนาเป็นรากฐานก่อน เพราะศาสนาเป็นสิ่งกำหนดทิศทางให้คนเดินไปบนเส้นทางที่เที่ยงตรงและถูกต้อง
ถึงวันนี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าโรงเรียนธรรมวิทยาฯเป็นโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในพื้นที่ มีนักเรียนมากที่สุด มากกว่า 6,000 คนในแต่ละปี เด็กที่จบจากโรงเรียนนี้เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ถึงร้อยละ 85 ผู้คนจากประเทศต่างๆ เดินทางมาดูงานการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ และนำกลับไปพัฒนาการศึกษาในประเทศของตน ถือเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของพื้นที่
ข้อมูลจากหนังสือความสำเร็จภายใต้การนอบน้อม หะยีฮารน สุหลง โดย อุดม (Zaid) วัลลีย์ ระบุว่า หะยีฮารนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ แม้บางครั้งเห็นว่าอาจไม่ยุติธรรมก็ตาม แต่ก็ยอมรับและหาทางท้วงติงไปยังผู้มีอำนาจเพื่อให้เกิดการแก้ไขไปสู่จุดที่มีความยุติธรรมมากขึ้น และที่สำคัญยังดำรงรักษาซึ่งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงามที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองไว้อย่างเคร่งครัด
6 ข้อเสนอสร้าง "ความเป็นธรรม"
จากแนวคิดหลักๆ ที่ยกมา พ.ต.อ.ทวี ขมวดประเด็นว่า กระบวนทัศน์ หรือ Paradigm ความเป็นจริงทางสังคม “อาชญากร” มิใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดอาชญากรรม แต่ยังหมายความรวมถึงกฎหมายอาญา และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย
สอดคล้องกับ ซีซ่าร์ เบคคาเรีย ที่บอกว่า “โดยทั่วไปประชาชนมักจะละทิ้งหรือเมินเฉย ปล่อยให้การบัญญัติกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่มาใช้บังคับต่อประชาชนเป็นหน้าที่ภายใต้ดุลพินิจของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ให้ปวงประชาชน แต่มุ่งส่งเสริมให้อำนาจและผลประโยชน์ไปอยู่ในอุ้งมือบุคคลเพียงไม่กี่คน จนเกิดผลการแยกอำนาจและความสุขไว้ด้านหนึ่ง ปล่อยให้อีกด้านหนึ่งเหลือไว้แต่ความอ่อนแอและทุกข์เวทนาไว้กับคนกลุ่มใหญ่”
ฉะนั้น เพื่อรักษาความยุติธรรมและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอ 6 ข้อ คือ
1.กฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอ และฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณานั้น ต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์และผลประโยชน์ของประชาชน ยกระดับการพัฒนาประชาชนสู่ความเจริญ พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน ดังสุภาษิตกฎหมายว่า “ประโยชน์สูงสุดของประชาชนย่อมเป็นกฎหมายสูงสุด”
2.ผู้ร่างกฏหมายต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ปราดเปรื่องในเรื่องที่จะบัญญัติเป็นกฎหมาย หัวใจสำคัญคือกฎหมายต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ไม่ละเว้นแม้แต่สตรี หรือเด็ก และที่สำคัญกฎหมายบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องมีความหมายที่ทุกคนทราบและเข้าใจเหมือนกัน หรือเป็นคำอธิบายตรงกัน
ดังมีคำกล่าวที่ว่า “ความชั่วร้ายจะเพิ่มพูนทับทวี ถ้ากฎหมายได้รับการบัญญัติด้วยถ้อยคำภาษาที่แปลกหูแปลกตาสำหรับประชาชนทั่วไป (ไม่อยู่ในพจนานุกรม) เพราะจะทำให้อำนาจการตีความไปตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย ถ้อยคำภาษาเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้กฎหมายที่มีความศักดิ์สิทธิ์ กลับกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลของคนบางกลุ่ม”
ฉะนั้นทุกคนทุกฝ่ายไม่ควรเพิกเฉยต่อการร่างกฎหมาย เพราะเมื่อกฎหมายออกมาใช้แล้วจะยากต่อการแก้ไข จึงต้องติดตามตั้งแต่ขั้นตอนยกร่างกฎหมาย ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเห็นว่าการออกกฎหมายมีข้อบกพร่อง ต้องหาทางท้วงติงไปยังผู้มีอำนาจเพื่อให้เกิดการแก้ไขไปสู่จุดที่มีความยุติธรรมมากขึ้น และที่สำคัญกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือการคำนึ่งถึงอัตตลักษณ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญไว้ด้วย
3.การกำหนดคำว่า “อาชญากรรม” ซึ่งหมายถึงการกระทำผิดทางอาญานั้น ต้องยอมรับว่ามีฐานคติในการกำหนดจากความเชื่อที่จะควบคุมสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดพฤติการณ์ว่าอะไรเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือ “อาชญากรรม” จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบที่เกี่ยวกับภยันตรายต่อสังคมเป็นสำคัญ หรือความสูญเสียต่อประชาชนโดยส่วนรวม ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องหลักการมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนด้วย
4.ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตลอดจนผู้พิพากษา จะต้องดำรงตนในความยุติธรรม และถูกตรวจสอบได้ ต้องคำนึงว่าการแก้ปัญหาคดีความ “ต้องแก้ด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช่แก้ด้วยกระบวนการยุติธรรม”
ตัวอย่างของ เคาะลีฟะ อุมัร บิล อัล-ค๊อฎฎ๊อบ เมื่อครั้งเป็นผู้นำสูงสุดที่ปกครองดินแดนตะวันออกกลาง มีใจยุติธรรมถึงขนาดยอมส่งไม้เรียวให้ประชาชนเฆี่ยนตีเมื่อรู้ว่าตนเองพลาดพลั้งทำผิด และกล้าลงโทษคนใกล้ชิดหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทำผิดอย่างเสมอภาค
5.ควรมุ่งส่งเสริมสนับสนุนความดีในสังคม ให้รางวัลกับคนดี และปลูกฝังเพื่อให้เห็นว่าการป้องกันอาชญากรรมย่อมดีกว่าการลงโทษอาชญากร ต้องทำให้ประชาชนมีเคารพและเชื่อถือในกฎหมาย การใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้พิพากษาไม่ควรมี เช่นเดียวกับอำนาจการตีความกฎหมายเกินกว่าลายลักษณ์อักษรก็ไม่ควรเกิดขึ้น
6.การลงโทษที่มีความรวดเร็วและแน่นอนย่อมส่งผลในการยับยั้งการกระทำผิดได้มากกว่าการลงโทษที่อาศัยเฉพาะความรุนแรงเพียงประการเดียว และการลงโทษที่ทำเกินกว่าความจำเป็น แม้มีเจตนามุ่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวม แต่ก็จัดเป็นการลงโทษที่ขาดความยุติธรรม ต้องคำนึงถึงมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย
ยุติธรรมทางเลือกแก้ยาเสพติด
ประเด็นที่ พ.ต.อ.ทวี เสนอ มุ่งเน้นไปยังการสร้างความยุติธรรมผ่านกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ส่วนกระบวนการยุติธรรมทางเลือกนั้น ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ผ่านมามีการนำมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาบังคับใช้ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ทั้งนี้ ในมิติของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในพื้นที่ พ.ต.อ.ทวี มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้แก่
1.ควรพัฒนากระบวนการยุติธรรมกระแสหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เกิดความยุติธรรมและเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องปฏิรูปตั้งแต่กระบวนการยกร่างกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด โดยต้องเป็นระบบเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
2.ควรนำยุติธรรมทางเลือกมาใช้ในการแก้ปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะยุติธรรมกระแสหลักมีจุดอ่อนในการแก้ปัญหา เนื่องจากตัดความรับผิดชอบของครอบครัว ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำทางจิตวิญญาณ และชุมชนออกไปจากความรับผิดชอบ เหลือแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
ทุกวันนี้ถ้าถามปัญหาประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะพบว่า ปัญหาอันดับแรกที่ประชาชนต้องการให้แก้ไข คือปัญหายาเสพติด จนมีคำกล่าวว่า “ยาเสพติดไม่กลัวกฎหมาย ยาเสพติดไม่กลัวทหารและตำรวจ ยาเสพติดไม่กลัวอาวุธหรือความรุนแรงใดๆ ยาเสพติดไม่กลัวติดคุก แต่ยาเสพติดกลัวแม่ กลัวครอบครัวที่อบอุ่น และยาเสพติดกลัวศาสนา”
ทั้งนี้ ยาเสพติดเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคนในสังคม ขณะที่หลักศาสนาอิสลาม ยาเสพติดเป็นฮารอม หรือเป็นบาป ถ้าผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยเฉพาะผู้นำศาสนา โต๊ะครู ไม่แก้ไข ก็จะบาปไปด้วย
ฉะนั้น “ปัญหายาเสพติด” คือความท้าทายในการนำยุติธรรมทางเลือกมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
และ 3.เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ควรตรวจสอบบทบัญญัติด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งได้บัญญัติไว้หลายมาตรา และเปิดช่องให้ประชาชนส่งเสริม สนับสนุน และถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริงในสังคม
ถือว่าเป็นยุติธรรมทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นกัน!