30 องค์กรวิชาชีพ รวมพลังค้านร่างกม. หวั่นเปิดช่องให้อำนาจรัฐคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ
30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน รวมพลังคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน "เทพชัย หย่อง" ยันร่างพ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขณะที่ประธานสภาการฯ ชี้หากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา เชื่อสื่อมวลชนถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซง
ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ. .... เพื่อเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามความทราบแล้วนั้น
วันที่ 29 มกราคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ฯลฯ ออกแถลงการณ์ คัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน (อ่านประกอบ:30 องค์กรวิชาชีพ จี้ สปท.ยกเลิกพิจารณาร่างกม. แทรกแซงการทำหน้าที่สื่อ )
นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการยกร่างพ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ร่างนี้มีหลักการและเหตุผลไปในทิศทางเดียวกัน ในการเปิดโอกาสให้อำนาจรัฐ สามารถเข้าแทรกแซง และควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีโครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีกทั้งยังได้เปิดช่องให้มีกรรมการอื่นอีก 4 คนที่ฝ่ายอำนาจรัฐสามารถคัดสรรเข้ามาเป็นกรรมการฯ จากกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน ซึ่งมีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อแค่ 5 คน
ขณะเดียวกันที่สภาฯ ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงได้ นายเทพชัย กล่าวว่า เท่ากับเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ สื่อไม่กล้าทำหน้าที่ของตนได้อย่างอิสระ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็จะถูกกระทบไปด้วย
ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ ผ่านมามักมีข้อวิจารณ์ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้ ทำให้สื่อมวลชนยังมีการละเมิดจริยธรรม แต่ข้อเท็จจริง คือการกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการกำกับดูแลโดยสังคม ดังนั้นในประเทศที่มีภาคประชาสังคมเข้มแข็งการกำกับดูแลกันเองก็จะมีประสิทธิภาพ หากมีการออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาจริงก็จะทำให้สื่อมวลชนถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซง