ดร.นาซารุดดิน ถอดบทเรียนทางสายกลาง อิสลามสอนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ
สันติภาพบนความแตกต่างหลากหลาย หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สันติสุขของสังคมพหุวัฒนธรรม” ดูจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยในระยะหลังๆ
แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสังคมไทยและการเมืองการปกครองของไทยเองก็มีลักษณะรวมศูนย์ ยึดอัตลักษณ์เดี่ยว หรือ “ความเหมือน” เป็นสิ่งที่ถูก ที่ดี ที่ใช่
ขณะที่ฝั่งคู่ขัดแย้งของรัฐไทยในปัญหาชายแดนใต้ คือกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ก็แสดงท่าทีต้องการให้ดินแดนแห่งนี้มีอัตลักษณ์เดี่ยว คือ “มลายูมุสลิม” เช่นกัน
เหตุนี้เองการจะก้าวไปสู่ “สังคมพหุวัฒนธรรมนำสันติสุข” จึงต้องถอดบทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินหน้าไปก่อนแล้ว และมีสภาพสังคมหลายมิติที่คล้ายคลึงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ม.ค.60 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางสายกลางในสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี โดยเชิญ ดร.นาซารุดดิน มัต อิซา ประธานคณะกรรมการและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของมูลนิธิโกลบอล มูฟเมนท์ ออฟ เดอะ โมเดอเรทส์ (จีเอ็มเอ็ม) ของมาเลเซีย ร่วมปาฐกถา
ดร.นาซารุดดิน ตั้งโจทย์แตกต่างจากมุมมองของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเขาบอกว่าสภาพสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสังคมมาเลเซีย มีบทบาทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่การจะปรับใช้แนวทางสายกลางก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากภาครัฐให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน
“ผมคิดว่าวิธีการที่เราควรทำคือเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับชุมชน เมื่อคุณมีส่วนร่วมในการแชร์ความคิดและประสบการณ์ หากมีแนวคิดเชิงลบจากอีกด้านหนึ่งเข้ามา เราก็จะสามารถรับมือได้ แต่หากขาดการสื่อสาร ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการนั่งพูดคุยเพื่อพยายามเข้าใจกัน เราก็จะทำอะไรไม่ได้มากนัก ดังนั้นผมจึงสนับสนุนเต็มที่ให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น หรือมีโครงการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่มากขึ้น”
สำหรับเหตุรุนแรงที่ผ่านมาซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และชูธงความเป็นอัตลักษณ์เดี่ยว คือ “มลายูมุสลิม” นั้น ดร.นาซารุดดิน มองว่า ต้องให้ชุมชนยอมรับความเป็นจริงว่าไม่มีสังคมใดที่อยู่บนโลกได้เพียงกลุ่มเดียว และหลักคำสอนของศาสนาอิสลามยังระบุชัดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ
“เราต้องอยู่กับความเป็นจริง เรื่องการอาศัยอยู่ในโลกสมัยนี้ ไม่มีชาติหรือเผ่าพันธุ์ใดอาศัยอยู่กันแบบสังคมเดียว ทุกสังคมบนโลกต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกนี้กลุ่มเดียว คุณอาจมีความเชื่อ มีวัฒนธรรม มีการศึกษาของคุณเอง แต่ความเป็นจริงนั้นเราก็ต้องปรับสิ่งเหล่านี้ให้เข้ากับคนที่อยู่รอบข้างด้วย”
“แม้แต่ในคัมภีร์อัลกุรอานยังบอกชัดว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ ชาติ และเผ่าพันธุ์ต่างๆ ให้เข้าใจและรู้จักกันและกัน ในหลักสูตรการสอนศาสนาอิสลามก็สอนให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตอนนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่เราต้องเร่งสนับสนุนและพัฒนาการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามคัมภัร์อัลกุรอาน เพื่อให้มั่นใจว่าเราต้องอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างชาติและโลกที่สันติ”
ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ชายแดนใต้ที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนคล้อยตามแนวคิดสุดโต่งนั้น ดร.นาซารุดดิน บอกว่า เรื่องปากท้องก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ และรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว
“เมื่อพูดถึงคนที่ก่อให้เกิดแนวคิดสุดโต่ง หรือผู้คล้อยตามแนวคิดนี้ มันเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น แต่หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวคิดสุดโต่งและลัทธิก่อการร้ายคือเรื่องปากท้องด้วย เมื่อทุกคนมีความเป็นอยู่สุขสบาย แนวโน้มที่จะฝักใฝ่แนวคิดสุดโต่งก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องดูแลเรื่องปากท้องของคนในพื้นที่ด้วย”
ดร.นาซารุดดิน บอกด้วยว่า การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เชื่อมั่นว่าหากเดินตามแนวทางนี้ ก็จะเกิดสันติภาพในพื้นที่นี้ได้
“เรื่องนี้มันมาจากทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายชุมชน แต่อย่างที่ผมบอก มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ปุบปับ หรือแนวทางที่แก้ปัญหาได้ในวันเดียว แต่ต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง อาจต้องใช้เวลาสักระยะ อย่างคำกล่าวที่ว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว เหมือนกับที่คุณไม่อาจสร้างสังคมอย่างที่คุณหรือทุกคนหวังไว้ในวันเดียว ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจังจากทั้งสองฝ่าย เราถึงจะเห็นความคืบหน้า”
นอกจากนี้ ดร.นาซารุดดิน ยังยกตัวอย่างความสำเร็จในมาเลเซียว่า แม้จะมีประชาชนหลายเชื้อชาติและศาสนา แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และเมื่อมีเทศกาลประจำของแต่ละศาสนา ทุกคนก็สามารถฉลองเทศกาลของศาสนานั้นๆ ร่วมกันได้ ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลปรับใช้แนวทางสายกลางตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2500 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*หมายเหตุ : ภานุพงศ์ วัฒนเสรีกุล เป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ NOW26