"นับสิบ"พันสินบนโรลส์รอยซ์ สตง.ลั่น "ตายก็ฟ้องทายาท"
กรณี “สินบนโรลส์รอยซ์” กำลังลุกลามจนฉุดไม่อยู่ เพราะขยายวงจากการบินไทย สู่ ปตท. และนักการเมือง
คำถามที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ “ใคร” คือผู้ที่รับสินบน โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องยนต์อากาศยานจากโรลส์รอยซ์ที่มียอดเงินสินบนสูงถึงกว่า 1,200 ล้านบาท แม้จะแยกจ่าย 3 ครั้ง กระจายในหลายช่วงเวลาก็ตาม
วันก่อน พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ออกมาให้ข่าวว่ามีรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่า มีชื่อแล้วทำไมไม่เร่งจัดการ
พิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่สื่อเข้าใจผิด เพราะความจริงคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากร่องรอยของการจัดซื้อเครื่องยนต์อากาศยานของโรลส์รอยส์ โดยรวบรวมรายชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่หางแถวไปถึงผู้บริหาร ไปถึงบอร์ด (คณะกรรมการบริหาร) ไปถึงกระทรวง และคณะรัฐมนตรี
“เป็นรายชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ซึ่งมีจำนวนหลักสิบ แต่ยังไม่ทราบว่าในจำนวนนี้ใครกันแน่ที่รับสินบน ต้องรอการชี้เป้าจากสำนักงานต่อต้านการทุจริต หรือ เอสเอฟโอ ของอังกฤษ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ”
พิศิษฐ์ บอกว่า กระบวนการจัดซื้อที่ว่ามีเงินสินบนนั้น มีการพาดพิงถึงระดับรัฐมนตรีด้วย แต่เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดพบว่า บางคนก็อยู่ในตำแหน่งเฉพาะตอนเริ่มโครงการ บางคนอยู่ในตำแหน่งตอนจัดซื้อ
“พวกนี้อยู่ในตำแหน่งแป๊ปเดียวก็เปลี่ยน สตง.จึงดึงข้อมูลทั้งหมดจากหลักฐานการเบิกจ่าย และการจัดซื้อในกระบวนการ ขั้นตอนนี้ สตง.เพียงแค่เตรียมข้อมูลไว้ ส่วนใครกันแน่ที่รับสินบนต้องรอให้ทางต่างประเทศชี้ตัวมา ตอนนี้อยู่ระหว่างประสานงานขอรายชื่อ”
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน บอกอีกว่า คนที่รับสินบนจริงน่าจะมีหลายคน
“ขบวนการนี้มีทั้งคนเชียร์ คนเขียนทีโออาร์ล็อคสเปค คนชงเข้าบอร์ด ขั้นตอนของสตง.คือเตรียมรายชื่อทั้งหมดเหมือนสายป่านเอาไว้ครบแล้ว รอทางต่างประเทศชี้ตัว เพราะฉะนั้นจะไม่เหมือนกรณีกล่าวหาอดีตผู้ว่าการ ททท.รับสินบน เพราะเราไม่ได้อาศัยเพียงแค่คำปรักปรำจากคนจ่ายอย่างเดียว ต้องเจือสมกับพฤติการณ์ในไทยด้วย”
“ขั้นตอนขณะนี้จึงต้องรอก่อน ให้ต่างประเทศชี้ตัวมา ทั้งหมดมีจำนวนคนหลักสิบ ยังไม่รวมคณะอื่นอีก ต้องไม่ลืมว่าการเชียร์ให้ซื้อสินค้าประเภทที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะ มันมีเหตุผลทุกฝ่าย ฉะนั้นต้องรอความชัดเจน”
ส่วนความกังวลว่าคดีอาจขาดอายุความไปแล้ว และมีการเตรียมการโยนบาปให้อดีตผู้บริหารที่เสียชีวิตนั้น พิศิษฐ์ บอกว่า บางคดีขาดอายุความไปแล้วจริง แต่การตรวจสอบต้องไม่ย่อท้อ
“เราไม่ได้คิดแค่ให้คนผิดติดคุกอย่างเดียว แต่ต้องให้สังคมรู้ด้วยว่าใครเป็นคนไม่ดี มันเปิดเผยได้ แม้ตายแล้วสังคมก็ควรรู้ว่าคนนี้ ตระกูลนี้เป็นคนไม่ดี การจะโยนความผิดให้คนตายคงไม่เกิดขึ้น เพราะต่างประเทศไม่เหมือนบ้านเรา ถ้าเขาระบุมาว่าใคร ก็คนนั้นแหละ เราจะเอารายชื่อทั้งหมดที่เป็นคนไม่ดีมาเปิดกัน ให้ต่างประเทศชี้ชัดไปเลย แล้วก็จะประกาศด้วย จะได้จบ”
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ความผิดจะมีทั้งอาญาและแพ่ง โดยทางอาญาเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ส่วนทางแพ่งที่ชดใช้ค่าเสียหาย อาจต้องรับผิดชอบเป็นคณะ แม้ตายไปแล้ว ทายาทก็ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้นไม่มีมวยล้มแน่นอน
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น