วันที่ลูกหลานของเราต้องเติบโตในสังคมที่ชินชากับความรุนแรง
#วันที่ลูกหลานของเราต้องเติบโตในสังคมที่ชินชากับความรุนแรง
ตอนแรกหมอคิดว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะคุณหมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เขียนไปแล้ว แต่ในที่สุดก็คิดว่าเขียนดีกว่า อยากเป็นอีกแรงที่ส่งเสียงบอกสังคมถึงความเห็นที่คิดว่าจำเป็นและมีความสำคัญ
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : บทความเรื่อง 'วันที่ลูกหลานของเราต้องเติบโตในสังคมที่ชินชากับความรุนแรง' เป็นเนื้อหาจากเฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา โพสต์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2560
หมอหมายถึงข่าวเกี่ยวกับคลิปวีดีโอหนึ่งที่มีคนสนใจกันมาก มีคนคลิกเข้าไปดูหลายล้าน เป็นคลิปที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งถ่ายวีดีโอตัวเอง โดยมีฉากหลังเป็นพ่อกับแม่ เด็กบอกแม่ว่า พ่อพาเขาไปเที่ยวงานวันเด็ก และแม่ใหม่ก็ใจดีมาก ทันใดนั้นแม่ที่อยู่ข้างหลังก็กังฟูคิก(เตะ)ใส่พ่อกระเด็นไปเต็มแรง เด็กหันไปเห็นพร้อมกับหัวเราะว่าเป็นเรื่องสนุก
คนส่วนใหญ่ที่เห็นคลิปก็ชอบใจ คลิกเข้าไปดูกันหลายล้าน หมอไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนส่วนมากถึงชอบ
ก็เพราะเราอยู่ในสังคมที่ความรุนแรงถูกมองเป็นเรื่องตลกจนชินชา
ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล เราเห็นได้จากในสื่อต่างๆ (ไม่นับคลิปวีดีโอนี้) ทั้งในยูทูป ภาพยนตร์ รายการตลก จะเห็นบ่อยๆว่า มุขตลกที่ถูกนำมาเล่นบ่อยๆ คือ การที่คนคนหนึ่งกระทำความรุนแรงกับอีกคนในเชิงตลกขบขัน ไม่ว่าจะเป็น การแกล้ง รังแก ทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว ที่หมอจำได้เลย เห็นบ่อยๆตอนเด็กๆ คือ ภาพดาราตลกในรายการทีวีที่เอาถาดตีไปหัวอีกคน แล้วก็ขำๆกันไป
ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ พฤติกรรมไหนที่ทำแล้ว ได้รับคำชื่นชมยอมรับ กดไลค์ กดแชร์ มีคนมีดูและสนใจ พฤติกรรมนั้นก็จะถูกกระทำมากขึ้น นั่นคือ การได้รับแรงเสริมทางบวก (positive reinforcement)
ขนาดเรื่องของคลิปวิดีโอที่เล่าให้ฟังในตอนต้น ล่าสุดพ่อแม่ก็ออกมาเฉลยแล้วว่า เป็นการจัดฉากและถ่ายเพื่อโพสต์ลงอินเทอร์เน็ต และมีการกล่าวภายหลังอีกว่า พ่อดีใจที่มีคนชอบ ดังนั้นหมอแน่ใจว่าคงมีคลิปอะไรแบบนี้ตามมาอีกมากมาย
เพราะอะไร การที่คนเราสัมผัสกับความรุนแรงในชีวิตประจำวันจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แถมบางทีคนที่พบเห็นก็ดูจะชอบ ให้การยอมรับ มีเสียงหัวเราะที่มอบให้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับลูกหลานตัวเล็กๆของเรา
หมอเคยคุยกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง พ่อแม่พามาตรวจเพราะเด็กชอบแกล้งเพื่อน ส่วนใหญ่เป็นการแกล้งแบบไม่คิดอะไร แต่เพื่อนที่ถูกแกล้งมักจะเจ็บตัวมาก เพราะเด็กตัวใหญ่ อ้วน และแรงเยอะ(ภาพประมาณไจแอนท์แบบนั้น)
ตอนที่คุยกับเด็ก ถามว่าทำไมถึงไปแกล้งเพื่อนล่ะ เด็กก็ตอบแบบใสๆว่า
"ผมก็แค่อยากจะเล่นด้วย มันตลกดีออก"
"ทุบหัวเพื่อน กับต่อยเพื่อน มันตลกยังไงล่ะครับ" หมอถาม
"ทำไปแล้วเพื่อนคนอื่นก็หัวเราะ"
"ตอนอยู่บ้าน พ่อก็ชอบแกล้งผมแบบนี้ ผมบอกไม่ชอบ พ่อก็บอกว่า พ่อแกล้งเล่นๆ แล้วทำไมผมจะแกล้งเพื่อนบ้างไม่ได้อ่ะครับ"
"แถมเวลาแม่กับพ่อทะเลาะกัน แม่ก็ชอบต่อยพ่อด้วย บางทีพ่อก็ตบแม่ แต่แป๊บเดียว แล้วพ่อกับแม่ก็ดีกัน ไม่เห็นมีอะไร"
เป็นภาพชินตาและคำพูดที่ชินหู ที่ผู้ใหญ่มักจะสอนเด็กว่า "แม่อยากให้หนูเป็นเด็กดี" ไม่ก็ "เล่นกันดีๆนะ" หรือ "อย่าตีกัน"
แต่ที่ตลกร้ายก็คือ หลายๆครั้งผู้ใหญ่กลับกลายเป็นตัวอย่างและสนับสนุนความรุนแรงเสียเอง แบบที่เราเห็นแม่กังฟูคิกพ่อในคลิปวีดีโอ หรือเรื่องที่หมอเล่าให้ฟัง จริงๆแล้วหมอคิดว่าพ่อแม่ไม่รู้ว่ามันจะมีผลเสียและคงไม่ตั้งใจหรอก
"ไม่เห็นจะเป็นไรเลย นิดหน่อยเอง" ส่วนใหญ่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จะคิดกันแบบนี้
ก็น่าคิดว่าขณะที่ผู้ใหญ่พูดสอนเด็กๆ ผู้ใหญ่กลับทำตรงข้าม
หากผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กใช้ความรุนแรง อย่างแรกที่ผู้ใหญ่ต้องทำ คือ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างในการไม่ใช้ความรุนแรง
ความเสี่ยงหนึ่งของเด็กที่กลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ก็คือ ผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเป็นเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง เช่น พ่อแม่ทะเลาะตบตีกันเป็นประจำ เด็กเห็นตัวอย่าง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรง แถวบ้านมีคนตบตีหรือใช้ความรุนแรงกันเป็นธรรมดา
การทำเป็นตัวอย่างมีความสำคัญ เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่รักและมีความหมายกับเด็ก
นอกจากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ที่หมอรู้สึกเศร้าหนักมากกว่าคือ สื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวนี้อย่างไม่มีวิจารณญาณ นักข่าวเหล่านี้ ก็ถือเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดความชินชากับความรุนแรงทางอ้อมด้วย เพราะเวลาใครก็ตามที่เอาคลิปอะไรมาโพสต์แล้วฮิตหน่อย นักข่าวก็ทำหน้าที่สื่อมวลชนแบบไม่กลั่นกรอง คือจะโพสต์แชร์ต่อและรายงานข่าวต่อทันที เพราะว่ามันเป็นกระแส เรียกความสนใจได้ดี ถ้าหากหมออยากให้นักข่าวไทยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น หมอขอมากเกินไปไหมคะ
อาจจะมีคนบอกว่าหมอว่าโลกสวยเหมือนที่แล้วมา ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง เพราะหมอก็อยากให้โลกใบนี้สวยงามน่าอยู่สำหรับทุกชีวิต
ถึงรู้ว่าเขียนไปก็อาจจะมีผลกระทบตามมา แต่หมอก็ยังอยากจะเขียน ดังนั้นหมอก็ยินดีรับทุกความเห็นในเรื่องนี้ค่ะ
#หมอมินบานเย็น