นักรัฐศาสตร์ ชี้การเมืองไทยเป็นเหมือนลูกตุ้ม เหวี่ยงไปมา ไม่มีใครครองอำนาจเบ็ดเสร็จ
นักรัฐศาสตร์ชี้หนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" สะท้อน ประวัติศาสตร์มีชีวิต ทุกเรื่องด่วนตัดสินไม่ได้ เพราะการเมืองซับซ้อน ยันทุกเหตุการณ์ จะมีมุมมองมากกว่าหนึ่ง เข้าใจมุมเดียว ง่ายที่ถูกกล่อมเกลาจากอีกฝั่ง
วันที่ 27 มกราคม นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" จัดพิมพ์โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมาได้ใช้หนังสือเล่มนี้สอนนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะบอกว่า ถ้าอยากเข้าใจการเมืองไทยให้อ่านหนังสือ 3 เล่ม 1. ฤทธิ์มีดสั้น เพื่อจะได้บทสรุปว่า ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร 2.ก๊อดฟาเธอร์ มีการชิงไหวชิงพริบ หักเหลี่ยม เต็มไปด้วยเบื้องหลัง ไม่มีกติกา และ 3. เบื้องแรกประชาธิปตัย เป็นเอกสารชั้นต้น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และไม่ได้ตัดสินว่า ใครถูกหรือผิด เนื่องจากเป็นบันทึกส่วนตัว ความเห็นบางเรื่องมาจากการสัมภาษณ์ เป็นมุมมองของแต่ละฝ่าย เช่น จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จอมพลป.พิบูลสงคราม นายควง อภัยวงศ์ เมื่ออ่านแล้วสะท้อนว่า ประวัติศาสตร์มีชีวิต ทุกเรื่องเราด่วนตัดสินไม่ได้ เพราะการเมืองมันซับซ้อน
"ทุกเหตุการณ์ จะมีมุมมองมากกว่า 1 มุม บางครั้งถึง 3 มุม ถ้าเข้าใจมุมเดียว มันง่ายที่ถูกกล่อมเกลาจากอีกฝั่ง อย่างเหตุการณ์ เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีสองมุมว่า ชิงสุกก่อนห่ามหรือเพราะความจำเป็น"
นายประจักษ์ กล่าวว่า บทที่สนุกในหนังสือ คือ บทสัมภาษณ์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หรือ เรื่องราวของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่สนุก คือ พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ เล่าเรื่องหนีไปกับจอมพล โดยพล.ต.ท.ชุมพลเป็นนายตำรวจติดตาม อารักขา จอมพล.ป. ได้บรรยายว่า จอมพล ป.หนีลี้ภัยไปนอกประเทศอย่างไรหลังถูกรัฐประหาร เช่น จอมพลป. ขับรถซีตรองเอง ไปยัง จ.ระยอง ตราด โดยทั้งเนื้อตัวมีเงินแค่ 2 หมื่นบาท
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญอยู่ในช่วงปี 2475-2500 ซึ่งอยู่ในเนื้อหาหนังสือเล่มนี้ บทสุดท้ายจบที่ บันทึกความทรงจำของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ที่เล่าถึงชะตากรรมของจอมพล ป.สามี ช่วงที่ถูกปฏิวัติ ทั้งนี้ประวัติศาสตร์การเมือง 25 ปีช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนเข้าใจน้อยที่สุด เพราะหลังจากนั้น เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีคนเข้าใจและรู้เยอะแล้ว
“ถ้าจะเข้าใจการเมืองไทยว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ประวัติศาสตร์ช่วงนี้สำคัญที่สุด 2475-2500 แต่จุดเปลี่ยนการเมืองไทยจริงๆ คือ การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ปี 2500 เพราะเป็นการปิดฉากยุคคณะราษฎร ช่วงนั้นแม้คณะราษฎร จะขัดแย้งอย่างไร แต่ก็เป็นทางความคิด อุดมการณ์พัฒนาชาติบ้านเมืองที่เห็นต่างกัน แต่หลังจากปี 2500 นายทหารอย่างจอมพลสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ก็ขึ้นมา การเมืองไทยเปลี่ยนไป เหตุการณ์ 2475 ถูกทำให้ลืม กลายมาเป็นเผด็จการทหารจริงๆ ยุคจอมพลสฤษดิ์”
นายประจักษ์ กล่าวถึงเรื่องราวในหนังสืออีกว่า สะท้อนความเป็นอนิจจังของการเมืองไทยว่า ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้นานเหมือนในต่างประเทศถึง 30 ปี และที่เราพบ คือ คนที่เรืองอำนาจที่สุดในหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายบั้นปลายชีวิตก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ที่ผ่านมา เราแก้ปัญหาผิดทางมาตลอด ทุกครั้งที่เรามีวิกฤตทางการเมือง ก็จะแก้ด้วยการเอาอำนาจนิยมมาแทนที่ เพราะเชื่อว่า อำนาจนิยมมาปรับปรุงประชาธิปไตย ซึ่งมันขัดแย้งในตัวเอง สุดท้ายเมื่อเอาเผด็จการมาแทนที่มันยิ่งซ้ำเติมประชาชน จึงวนเวียนเป็นลักษณะ วงจรอุบาทว์ อย่างที่เห็น
สำหรับการสอนวิชาการเมืองไทย นักรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า แทนที่อาจารย์จะสอนการเมืองและตัดสินเรื่องบางเรื่องให้กับนักศึกษา ควรให้นักศึกษาอ่านเล่มนี้ก่อน และอยากฝากสมาคมนักข่าวฯควรมีโครงการอย่างนี้ต่อไปในอนาคต โดยให้นักข่าวไปสัมภาษณ์ ทำบันทึก ตัวละครการเมืองในเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะหลังยุค 2500 เพื่อเป็นเอกสารที่มีประโยชน์กับคนรุ่นหลัง
“การเมืองไทยเป็นเหมือนลูกตุ้ม เหวี่ยงไปมา ไม่มีใครครองอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เพราะสังคมไทยไม่มีชนชั้นนำกลุ่มใด รวบอำนาจได้ต่อเนื่องยาวนาน ชนชั้นนำเราก็ไม่เป็นเอกภาพตั้งแต่อดีต เพราะมีหลายก๊ก แล้วหักหลังกันเอง เปลี่ยนข้าง การเมืองเปลี่ยนบ่อยทุก 4-5 ปี จนถึงทุกวันนี้" นายประจักษ์ กล่าว และว่า วันนี้ประชาชนควรเข้ามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางประเทศ แต่เรากลับถูกกำหนดให้เป็นผู้อยู่อาศัย วิจารณ์อะไรก็ไม่ได้ ตอนนี้เราอยู่ในยุคเซ็นเซอร์ตนเองเพราะไม่มีใครอยากติดคุก สุดท้ายคนที่เสียผลประโยชน์คือ ประชาชน ที่ไม่ได้รู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ปรองดองไม่ได้ เพราะต้องทำให้เกิดบรรยากาศที่มีเสรีภาพในการพูดก่อน
อนึ่ง สำหรับ หนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย เล่มนี้รวบรวม โดยสมาคมนักข่าวฯ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ครั้งนี้เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่สอง โดยครั้งแรกตีพิมพ์เมื่อปี 2516 เนื้อหาเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ช่วง 2475 – 2500 จากปากคำของบุคคลสำคัญที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น มีทั้งหมด 20 บท เช่น พระราชบันทึก ทรงเล่า โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปรีดี พนมยงค์ เรื่องการก่อตั้งคณะราษฎร พระยาทรงสุรเดช เรื่อง การปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เรื่อง ชีวิต กบฏและการตั้งศาลพิเศษ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เรื่อง การชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ พันตรี ควง อภัยวงศ์ เรื่อง การเปลี่ยนรัฐบาลจอมพลป. น.ต.มนัส จารุภา เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล เป็นต้น
ทั้งนี้ หนังสือ 1 ชุด แบ่งออกเป็น 2 เล่ม รวมราคา 700 บาท วางขายตามร้านหนังสือในเครือมติชน ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร้านซีเอ็ด สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯ สามารถซื้อได้ในราคาส่วนลด20% ชุดละ 600 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สมาคมนักข่าวฯ โทร. 02-668-9422
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“กิเลน ประลองเชิง” มองผ่านแว่นให้มุมมองจากการอ่าน "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย”