“กิเลน ประลองเชิง” มองผ่านแว่นให้มุมมองจากการอ่าน "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย”
"คนระดับผู้นำประเทศ ไม่มีใครเลวทั้งหมด คือความจริงของมนุษย์ ระดับผู้นำ ก็ต้องมีดี ถ้าเราเริ่มมีอคติกับฝ่ายหนึ่ง ก็เสียทันที อย่างจอมพล.ป.มีมุมดีมากมาย ก็อยู่ที่ว่า จะเลือกมองมุมไหน แต่ถ้าสวมแว่นสีเราก็จะมีอคติในการมอง ไม่เป็นกลาง"
“กิเลน ประลองเชิง” หรือ ประกิต หลิมสกุล เจ้าของคอลัมน์ชื่อดัง จากนสพ.ไทยรัฐ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา หลังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" ซึ่งถือเป็นหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์จากปากคำบุคคลสำคัญ และกลายเป็น 1 ใน 3 ตำราสอนนักศึกษา สะท้อนวงการการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
@ คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ กับคนรุ่นใหม่
นักคอลัมน์นิสต์ชื่อดัง บอกว่า หนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" เป็นบันทึกประวิติศาสตร์การเมืองยุคแรกประเทศไทย ช่วงปี ๒๔๗๕-๒๕๐๐ เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่และน่าอ่าน ซึ่งให้ความรู้ว่า ในการเมืองไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร คนที่เข้าไปอยู่ในการเมืองจะเป็น ผู้ดี ผู้ร้ายได้ภายในพริบตา
“บทที่ควรอ่านคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีรัชกาลที่ 7 ที่มีพระราชบันทึกเล่าเรื่องหลัง รัชกาลที่ 7 ถูกยึดอำนาจ โดยทรงให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังในช่วงที่ ร.7 ถูกปฏิวัติ ยึดอำนาจเป็นมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มีเรื่องลึกที่จะพูดเปิดเผย ไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เอง คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นสูงต้องได้อ่าน อ่านแล้วจะได้เรียนรู้ว่าอะไรที่สูงส่ง ยิ่งใหญ่ สามารถพลิกผัน จนมุมสู่ระดับล่างได้”
ในฐานะที่ได้เขียนคอลัมน์มายาวนาน เขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ได้ค้นพบจากหนังสือเล่มนี้ คือ อำนาจไม่ใช่ของจีรัง ถ้าไม่สุจริต ก็อยู่ไม่นาน อีกทั้งยังสะท้อนสถานการณ์ช่วงต่างๆ ของประเทศ เช่น เวลาที่สังคมไทยเลือกข้าง มีมายาคติ ในการเกลียดชังองค์กรใดองค์กรหนึ่ง อคติเหล่านี้ทำให้เรามองความจริงของเรื่องไม่ได้
“ ในระบบตุลาการศาลจะถือการฝึกฝนให้ตัวเองไม่ให้มีอคติ การเกลียดชัง ขณะที่คนไทยมักจะตัดสินทุกเรื่องในทางการเมืองด้วยอคติ จากการได้รับฟังข้างหนึ่ง แล้วอาจจะเปลี่ยนข้างได้ ทำให้เกิดสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าหมอง การปฏิวัติก็เพราะวุฒิทางการเมืองของไทยยังไม่บรรลุ”
เจ้าของคอลัมน์ “กิเลน ประลองเชิง” ชี้ว่า หนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะเรื่องแรกๆ นักการเมืองทุกคนควรอ่าน สูงต่ำแค่ไหนก็ควรอ่าน อ่านแล้วจะได้เข้าใจ เหมือนว่า มีเหตุที่เกิดที่ชัดเจน เรื่องนี้ปิดท้ายด้วยความจริง
@ จุดเด่นของหนังสือ
ประกิต หลิมสกุล ชี้ถึงจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่เป็นความจริงแท้ของใครคนนั้น เช่นความจริงแท้ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องเลือกข้างเล่นกับทหารญี่ปุ่น ความจริงแท้ของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องเลือกข้างต่อต้านญี่ปุ่น
“เมื่อเราอ่านแล้วจะเกิดความรู้สึกทุกฝ่ายก็มีเหตุผลที่ฟังได้อย่างน่าเชื่อทั้งสิ้น เรื่องเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน 25 ปี ในเล่มนี้ทั้งสิ้น อ่านแล้วใครที่เลือกข้างเตรียมตัวใจเปลี่ยนได้เลย”
เขายังแสดงความเห็นว่า สำหรับคนระดับผู้นำประเทศนั้น ไม่มีใครเลวทั้งหมด คือความจริงของมนุษย์ มหาโจรในสมัยขงจื้อ เป็นมหาโจร 500 มนุษย์ในระดับผู้นำ ก็ต้องมีดี ถ้าเราเริ่มมีอคติกับฝ่ายหนึ่ง ก็เสียทันที อย่างจอมพล.ป.มีมุมดีมากมาย ก็อยู่ที่ว่า จะเลือกมองมุมไหน แต่ถ้าสวมแว่นสีเราก็จะมีอคติในการมอง ไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีนักให้ความเห็นมาก แต่นักข่าวสารที่ให้ข้อมูลมีไม่มาก หนังสือเล่มนี้สะท้อนความจริงที่ได้เรียนรู้การเมืองและนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังสอนว่า อย่างน้อยเมื่อเลือกที่จะเล่นการเมือง ก็ต้องเตรียมสูญเสีย
“หนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" มีพระเอก สองคน จากตอนต้นจบด้วยการอยู่ประเทศไทยไม่ได้ คนที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง สุดท้ายจบอย่างนี้ หลายคนไม่ได้ตายในประเทศไทย และยังสอนว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ไม่มีเพื่อนในการเมือง รักใคร่เป็นราษฎรด้วยกัน หรือเปลี่ยนระบบการปกครองไว้ด้วยกัน ก็กลายเป็นศัตรูกันได้ เสียเพื่อน เสียมิตร เสียครอบครัว
สุดท้าย กิเลน ประลองเชิง ยืนยันว่า “หนังสือ "๒๔๗๕ เบื้องแรกประชาธิปตัย บทเรียนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน" เป็นข้อมูลที่บริสุทธิ์ ความจริงด้านจอมพลป. นายปรีดี พนมยงค์ ความจริงด้านพลโทประยูร ภมรมนตรี เมื่อมีความจริงทุกด้านเป็นหน้าที่ของเราที่อ่าน นี่แหละที่จะต้องใช้ปัญญา
เมื่อมีความจริงแล้วต้องเอาความจริงมาหักล้าง ก็จะเกิดผลสรุปว่า ทุกคนในโลกนี้ไม่มีเลว มีดีทั่วกัน และมีดีด้วยคนระดับเป็นผู้นำ เขาจึงเป็นผู้นำและยิ่งใหญ่ได้ เพียงแต่ไม่ถูกใจของคนฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เมื่อคิดได้แบบนี้ ถ้าคนไทยทุกคนคิดได้ก็จะไม่เกิดสงคราม
ทั้งนี้ กิเลน ประลองเชิง ยังมองอนาคตการเมืองของประเทศไทยตบท้ายด้วยว่า การเมืองไทยจะวนกลับไปปี 2547 กลับไปที่ศูนย์เหมือนเดิม