ตำรวจไทยเดินสวนกระแสโลก อดีตผกก. แนะปฏิรูป ต้องรื้อที่โครงสร้าง
ขนาดตำแหน่งนายสิบยังโกง ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ม.บูรพา ยันทั่วโลกปฏิรูปตำรวจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล เน้นภาพลักษณ์ให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพ แต่ของไทยการปฏิรูปยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะที่ดร.สังศิต เทียบชัดกับองค์กรอื่นๆ ในระบบราชการ ตำรวจมีการซื้อขายตำแหน่ง ขนาดสอบเลื่อนขั้นยังมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” กรณีศึกษาขนาดตำแหน่งนายสิบยังโกง ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
พล.ต.อ. วสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวถึงตำแหน่งนายสิบยังโกง หมายความว่า การทำงานของตำรวจกำลังบกพร่องในการใช้อำนาจหน้าที่ และไม่รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร ปัญหานี้มีการศึกษาและวิจัยมานานแล้ว ทั้งที่กระทำโดยรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทำโดยเอกชน ผลการวิจัยแสดงว่า การที่ตำรวจไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่นั้น มาจากหลายสาเหตุ เช่น การบริหารราชการตำรวจเป็นไปในแบบรวบอำนาจ มีภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอันมาก การสอบสวนคดีอาญาไม่เป็นอิสระและไม่ได้รับการพัฒนา ค่าตอบแทนที่ให้ตำรวจไม่เพียงพอ การบริหารงานบุคลากรและประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานและตรวจสอบงานของตำรวจไทย
นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ สื่อสารมวลชนผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ กล่าวว่า ถึงการที่ยุคหลังๆ สังคมเริ่มมีคำถามมากขึ้น “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” ซึ่งที่จริงปัญหาและคำถามแบบนี้ ควรจะมีตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แม้องค์กรของตำรวจ จะมีพัฒนาจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่การพัฒนาของตำรวจนั้น ไม่ได้พัฒนาการทำงานแต่ดั้งเดิมเลย เป็นเพียงการพัฒนาเรื่องของการตอบแทนเลื่อนขั้น ชั้นยศมากกว่า ทำให้การทำงานก็ยังคงเหมือนเดิมเห็นได้จากประโยคหนึ่งคือ “วันนี้ใครเข้าเวร ใครเป็นสารวัตรใหญ่” ทุกวันนี้ก็ยังอยู่อย่างนั้น เพราะรูปแบบเนื้องานแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น
“ตำรวจถือเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ที่ต้องเจอกับคน แต่กระบวนการเข้าสู่เป็นตำรวจนั้น ในมุมมองครั้งนี้ ค่อนข้างแปลก และมีประโยคหนึ่งที่ว่า “ให้มันจบๆไปแล้วกัน” ซึ่งทำให้เกิดการจบได้ทั้งแบบถูกต้องและผิด ขึ้นอยู่กับกรณีและวินิจฉัยของคน จนทำให้ทุกวันนี้เกิดคำถามว่า ตำรวจมีไว้ทำอะไร ขนาดสอบเข้านายสิบยังต้องโกง”
ด้าน ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงการทำวิจัยกับเรื่องตำรวจ กับบทบาทหน้าที่ของตำรวจที่สังคมต้องรับรู้ หนึ่งในนั้นคือการได้ใส่เครื่องแบบ โดยเฉพาะเครื่องแบบสีกากี นำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า อำนาจ ทั้งที่เป็นอำนาจทางกฎหมายและนอกเหนือจากกฎหมาย เพราะฉะนั้นคำว่า อำนาจ ก็เปรียบเสมือนต้นทางของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ปัญหาเรื่องการปฏิรูปตำรวจหรือว่ากำกับการใช้อำนาจของตำรวจ ถือเป็นสิ่งที่ทำการศึกษาทั่วโลก ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยที่พบเจอ ประเทศอื่นทั่วโลกก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในยุคที่มีการเคลื่อนตัวในหลายปัจจัย ทำให้การปฏิรูปตำรวจกลายเป็นกรณีที่ศึกษากันมาก"
ร.ต.อ. ดร.วิเชียร กล่าวถึงประเด็นแรกคือ ทิศทางเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นประเด็นที่สำคัญซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิของคนที่ได้รับการคุ้มครองขั้นต่ำตามกฎหมาย ถ้าหากมองถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ หน่วยงานที่ละเมิดมากที่สุด ก็คือ ตำรวจ นี่คือกระแสแรกที่ทำให้ตำรวจต้องทำการปฏิรูป ในแง่กฎหมายและการทำงาน
"กระแสที่สองที่กดดัน ทำให้เกิดการปฏิรูปทั่วโลก ก็คือ การเกิดขึ้นของความเป็นประชาธิปไตย และนำมาสู่การมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและตรวจสอบการทำงาน กระแสที่สามคือ การเติบโตของเทคโนโลยี และกระแสที่สี่ คือ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะการปฏิรูปภาพลักษณ์ เพราะสังคมต้องการตำรวจที่มีความเป็นมืออาชีพ และสามารถที่จะตรวจพิสูจน์ความเป็นจริงได้ กระแสตรงนี้ต้องการเรียกร้องตำรวจที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย ทั้งสี่กระแสนำมาสู่การปฏิรูปทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทยที่ปฏิรูปอยู่ในระดับที่ต่ำ”
ร.ต.อ. ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า ปัจจัยสำคัญในการผลักดันที่ทำให้ปฏิรูปนี้สำเร็จ คือ ภาคประชาชน เพราะแรงผลักดันจากภาคประชาชน นี่คือแรงผลักที่มีผลในทางปฏิบัติที่แท้จริง ดังนั้นประชาชนจึงเป็นตัวกำหนดว่า ตำรวจควรทำอย่างไร เพื่อให้ตอบสนองต่อประชาชน
ขณะที่ พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดชัยนาท กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานจเรตำรวจ กล่าวถึงกรณีการทุจริตสอบนายสิบว่า ทำให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือว่าตำรวจ ต้องทบทวนว่า เหตุใดประชาชน ถึงต้องตั้งคำถามนี้ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่มองไปยังตำรวจเหมือนที่ต่างประเทศมองเรื่องอันดับคอรัปชั่นของประเทศไทย ต้องยอมรับว่า องค์กรตำรวจปัจจุบัน ถ้ามองในแง่ประชาชนอยู่ในสภาพที่เลวร้ายมาก
“ตำรวจไทยเดินสวนทางกับกระแสทั่วโลก” ตำรวจทั่วโลกไม่ได้เป็นแบบไทย เพราะตำรวจทั่วไปมีฐานะเป็นพลเรือน แต่ตำรวจไทยกลับมีฐานะเป็นเหล่าทัพ ซึ่งจะไปเหมือนกับกองทัพทหารไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจ คือการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยประเทศไทยต้องก้าวให้พ้น เรื่องปัญหาความขาดแคลน”
ส่วน รศ. ดร.สังศิต รังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวโดยตั้งคำถามว่า “องค์กรไหนทุจริตกับการก่ออาชญากรรมกับประชาชนมากที่สุด” ซึ่งคำตอบนี้ทุกคนอาจจะรู้ดี และในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็อยากจะเห็นองค์กรตำรวจปฏิรูป ขอเพียงปฏิรูปแค่นิดเดียวเท่านั้น แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลอยู่มา 2 ปี การปฏิรูปก็ไม่เกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว การปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงนั้นประชาชนต้องได้ประโยชน์ และได้รับการบริการจากตำรวจมากขึ้น
รศ. ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า ในระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งมีนักวิชาการที่มองเรื่องระบบราชการได้มุมมองต่างๆ และมุมมองหนึ่งที่สอดคล้องกับองค์กรตำรวจไทย ก็คือว่า องค์กรตำรวจเป็นเหมือนองค์กรที่ทำธุรกิจซื้อขายกัน โดยมีคำอธิบายทางวิชาการว่า องค์กรนี้มีการซื้อขายตำแหน่ง การสอบเลื่อนขั้นมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน เพราะฉะนั้นองค์กรนี้เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในระบบราชการด้วยกัน ถือเป็นองค์กรที่สมควรปฏิรูปมากที่สุด
การปฏิรูปตำรวจเป็นอันดับแรก รศ. ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า จะสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนคนไทยมากที่สุด และสิ่งที่อยากจะเห็นรัฐบาลทำให้กับประชาชน คือช่วยปฏิรูปเรื่องของโครงสร้าง จะเปลี่ยนอะไรให้ก็ได้ให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมมากขึ้น นั่นคือรัฐบาลต้องปรองดองกับประชาชนด้วย