เผยจุดยืนสตง.วงประชุมร่วม ก.คลัง จี้ 'ครม.' ใช้อำนาจกม.เรียกคืนท่อก๊าซ ปตท.
เผยจุดยืน สตง. วงประชุมหารือร่วม ก.คลัง พิจารณาปมส่งคืนท่อก๊าซปตท. ประกาศชัดต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จี้ ครม. ใช้อำนาจตามกฎหมายแก้ไขกม. ย้ำกรณีนี้ไม่ต่างอะไรจากเรื่องจำนำข้าว "รัฐบาลต้องตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินให้ได้"
จากกรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นด้วยกับข้อตกลงเปลี่ยนแปลงการคืนท่อก๊าซปตท. มาเป็นการเช่าแล้วจ่ายย้อนหลัง และเตรียมจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ในวันที่ 27 ม.ค.2560 นั้น
แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดยื่นการให้ปตท.คืนท่อส่งก๊าซ นั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2559 สตง.ได้ร่วมประชุมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงใดจะต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยยึดประโยชน์ของแผ่นดินเป็นสำคัญ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559
โดยในการประชุมครั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ผู้ว่าฯ สตง. ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ในการหาทางออกขณะนี้ หากกระทรวงการคลังเห็นตรงกัน สตง.ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งความเห็นของสตง. คือ ขณะนี้คงมีทรัพย์สินที่ ปตท. ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังมูลค่าสุทธิ 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วยระบบท่อส่งก๊าซบนบก มูลค่า 14,393.16 ล้านบาท และในทะเลมูลค่า 18,220 ล้านบาท
โดยส่วนที่ยังขาดไปเห็นว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ซึ่ง ปตท. จะต้องโอนคืนให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครอง อีกทั้งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 ในหน้า 83 ก็กำหนดไว้เป็นทางออกอยู่แล้วว่า ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่น ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการเช่นเดียวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ ระบบท่อไม่อาจแบ่งแยกได้ ต้องคืนทั้งระบบ
อีกทั้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 หน้า 64 ได้วินิจฉัยว่ากรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่เป็นไปตามที่มติครม.กำหนด เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา ของ ครม. ดังนั้น เมื่อมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไม่ถูกต้อง ฝ่ายบริหารก็ควรจะพิจารณาดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ครบถ้วนโดยว่ากว่ากันเอง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ครม. ยังไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ครง. จึงสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวดำเนินการใหโอนทรัพย์สิน ที่ สตง. เห็นว่ายังขาดไปให้แก่กระทรวงการคลังได้
ขณะที่ตัวแทนของกรมธนารักษ์ เห็นว่าควรให้ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดว่าท่อก๊าซบนบกในที่ดินของรัฐและท่อก๊าซในทะเลมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้ง ปตท. และ สตง. ซึ่งจะทำให้ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นยุติได้
อย่างไรก็ตาม นายพิศิษฐ์ ไม่เห็นด้วย กับกรมธนารักษ์ที่จะให้ศาลปกครองวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่ควรที่จะพิจารณาในเรื่องทรัพย์สินทางบัญชีเป็นสำคัญ เพราะท่อก๊าซที่ยังคืนไม่ครบนั้น เพียงแต่เปลี่ยนแปลงทรัพย์สินทางบัญชีก็สามารถกระทำได้ โดย บริษัท ปตท. มิได้มีความเสียหายในเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใด หากจะมีก็เป็นเพียงค่าเช่า ซึ่งบริษัท ปตท.ก็สามารถรับได้อยู่แล้ว มิได้กระเทือนถึงฐานะทางการเงินทั้งสิ้น
"ผู้ว่าฯ สตง. มีความเห็นชัดเจนในกรณีนี้ ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องให้ปตท.คืนท่อก๊าซกลับมาก่อน ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาจะดำเนินการอะไรก็ไปว่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องคืนสมบัติชาติกลับมาก่อน" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ยังยืนยันด้วยว่า หาก ปตท.ยินยอมก็จะทำให้ถูกมองเป็นองค์กรที่มีธรรมภิบาล ที่นักลงทุนต่างชาติต้องการลงทุนด้วย พร้อมยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและกฤษฎีกาเป็นไปในทางเดียวกัน คือ ต้องคืนท่อทั้งระบบมิใช่คืนเป็นส่วนๆ และต่อมาเมื่อมิได้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง สตง.ก็ได้ทำหนังสือแจ้งครม. ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ สตง.จะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต่างจากเรื่องจำนำข้าวแต่อย่างใด รัฐบาลต้องตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินให้ได้
เบื้องต้น นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีความเห็นว่า ความเห็นของผู้ว่าฯ สตง. ที่ได้ให้ต่อที่ประชุมเป็นแนวทางที่ทำให้ได้ข้อยุติ ส่วนความเห็นนี้ จะอยู่ในวิสัยที่กระทรวงการคลังสามารถทำได้หรือไม่ จะมีการพิจารณาและเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง
จากนั้นที่ประชุมได้สรุปมติการประชุม โดยเห็นพ้องให้ดำเนินการตามแนวทางความเห็นของผู้ว่าฯ สตง. โดยให้กระทรวงการคลังนำเสนอแนวทางต่อครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด พร้อมเสนอครม.พิจารณาด้วยว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีสภาพบังคับตามกฎหมายในการให้ปตท. โอนทรัพย์สินที่สตง.เห็นว่าขาดไปหรือไม่ เพียงใด หากไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย ก็ขอให้ครม.มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป