เนื้อหมูกินได้ สัตวเเพทยจุฬาฯ ยันไม่พบเชื้ออีโคไลย์ที่มียีนดื้อยา
สัตวเเพทยจุฬาฯ ยันไม่พบเชื้ออีโคไลย์ที่มียีนดื้อยาในเนื้อสุกร เเนะเกษตรกรใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เตือนผู้บริโภคกินร้อน ช้อนกลาง
วันที่ 26 มกราคม 2560 คณะสัตวเเพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเเถลงข่าวในเรื่อง เชื้อดื้อยากับการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ ณ ห้องสาธิต อาคาร 60 ปี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวเเพทยศาสตร์ กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในสุกร เนื่องจากปศุสัตว์ในฟาร์มอยู่ร่วมกันเป็นฝูงก็มีโอกาสติดเชื้อเเบคทีเรียซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสิ่งเเวดล้อมในทางสัตวเเพทย์การตรวจเช็คสุขภาพสัตว์ จะทำในระดับฝูงก่อนที่สุกรจะเเสดงอาการของโรค เพื่อทำการวินิจฉัยยืนยันชนิดของโรค ก่อนวางเเผนการรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งในฟาร์มสุกรจะให้ยาโดยการผสมอาหาร เพื่อให้สุกรได้รับยาครบในระยะเวลาที่จำกัด เเละมีระยะหยุดยาก่อน โดยปกติในตัวสัตว์ ทั้งสัตว์ที่เเข็งเเรงเเละสัตว์ป่วยจะมีเเบคทีเรียที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกายอยู่เเล้ว จึงอาจยังคงมีเเบคทีเรียที่มีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่หลังจากให้ยาปฏิชีวนะ เเต่ในท้ายที่สุดจะถูกกำจัดโดยภูมิคุ้มกันของสุกรในภายหลัง ดังนั้น ในการจัดการปศุสัตว์เเบบเป็นฝูง จะใช้หลักการ All-in all-out โดยมีการฆ่าเชื้อทำความสะอาดฟาร์มเเละหยุดพักเลี้ยงเป็นระยะเมื่อครบวงจรการผลิต เพื่อความมั่นใจในการกำจัดเชื้อโรคที่ค้างอยู่ให้หมดไป
ด้านรองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาทางสัตวเเพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาที่มีการตีพิมพ์เผยเเพร่ ว่าเป็นการศึกษาย้อนหลังเชื้อเเช่เเข็งจาก 6พื้นที่ 28 ฟาร์ม จำนวนทั้งสิ้น 337 ตัวอย่าง พบเชื้อเเบคทีเรีย E.coli (อี.โคไลย์) ที่มียีนดื้อยา mcr-1 เพียง 6.8% ตัวอย่างทั้งหมดมาจากสุกรอายุ 12-16 สัปดาห์ โดยพบได้ในสุกรขุนระยะเเรกเเละลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ระยะหยุดยาก่อนส่งโรงฆ่าสัตว์ ส่วนตัวอย่างที่ได้จากเนื้อสุกร ไม่พบ E-coli ที่มี mcr-1 ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์สู่คนในประเทศ
ด้านรองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามการดื้อยาของโรคอาหารเป็นพิษ คณะสัตวเเพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่ากรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญเเละดำเนินการในเรื่องนี้อยู่เเล้วในทางสัตว์ การเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ไม่ใช่การเเก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเสมอไป เช่น การลดการใช้ยา colistin ก็ยังมีสารชนิดอื่นๆเเละยาปฏิชีวนะอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการคัดเลือกร่วมหรือดื้อข้ามได้
“การป้องกันปัญหาจึงต้องควบคุมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เเละมีวิธีใช้ที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด” รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าวและว่า ได้กล่าวต่อว่าเนื้อหมูยังสามารถรับประทานได้ เพราะโดยปกติที่เข้าสู่กระบวนฆ่าเป็นสุกรที่มีสุขภาพดี ผ่านกระบวนการฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานเเละนำมาปรุงให้สุกก่อนบริโภค
นอกจากนี้การลดการใช้ยา colistin รศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าวว่า ในส่วนของการควบคุมการใช้ยาต้องทำทั้งในยาคนเเละยาสัตว์อยู่แล้ว เพราะเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน การควบคุมการใช้ยาต้องทำอย่างเป็นระบบเพราะการเเก้ไขที่ยาใดยาหนึ่งไม่สามารถกำจัดเชื้อดื้อยาให้หมดไปได้ การเเก้ไขไม่สามารถทำได้ข้ามคืนเช่นกัน เเละการค้นคว้าหายาใหม่ๆ มาทดแทนก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาเชื้อดื้อยา เเต่ก็ต้องทำเเละนับวันก็มีน้อย ซึ่งการจัดการฟาร์มมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เป็นเเนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดปัญหาการติดเชื้อโดยการจัดฟาร์ม
“คณะเเพทย์ จุฬาฯ ได้ทำการวิจัยเพื่อหาทางทำให้สามารถนำยาปฏิชีวนะบางตัวกลับมาใช้ได้อีก โดยหาสารที่สามารถการยับยั้งกลไกในการดื้อยา ถ้าสามารถนำมาใช้ร่วมกันก็จะทำให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะบางตัวมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://waymagazine.org/