ดร.สุรินทร์ ฉะระบบราชการไทย "ช้า เลือก รอ" ไม่ปฏิรูป สู้ประเทศอื่นไม่ได้
อดีตเลขาธิการอาเซียนแนะไทยปฎิรูประบบราชการก่อนจะไปสู้ประเทศอื่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิตชี้มูลค่าการตลาดของอาเซียนจะมากกว่าอเมริกาและอียูไทยควรรีบคว้าโอกาสเป็นผู้นำภูมิภาค ขณะที่อดีตเอกอัครราชทูตเผยคนไทยยังไม่รู้ ไทยแลนด์4.0คืออะไร
วันที่ 25 มกราคม สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการประชุม เวที ยุทธศาสตร์ อาเซียน จีนและไทย ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ ณ โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ ราชเทวี กทม.
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงเวทียุทธศาสตร์ที่จัดขึ้น ถือเป็นเวทีที่จัดเตรียมประเทศไทย เพื่อที่จะบริหารจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ค่อนข้างจะรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการทำงานของระบบราชการไทยที่ไม่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบและไม่มีประสิทธิภาพ
"ทุกครั้งที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างองค์กร โดยเราไม่เคยได้ข้อยุติ เพราะสิ่งที่แต่ละองค์กรนำเข้าสู่ความร่วมมือระหว่างกันคือผลประโยชน์ขององค์กรของตนเอง"
ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านการทำงานของประเทศไทยคือ ช้า เลือก รอ และไม่ได้เป็นไปด้วยความพร้อมของการตัดสินใจบนพื้นฐานของประเด็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องถามและทำ คือ กลไก วิธีการ กระบวนการของราชการไทย เรื่องของความต่อเนื่องของบุคลากร ประสิทธิภาพของบุคลากร และคุณภาพของคนในองค์กร
"ยกตัวอย่างต่างประเทศค่อนข้างวางอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถและความเหมาะสม ส่วนประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของความเหมาะสม แต่เป็นเรื่องของคน" ดร.สุรินทร์ กล่าว และยกประโยคของอดีตตำรวจคนหนึ่งที่แสดงถึงข้อเท็จจริงในระบบราชการไทย เขาพูดว่ามีวันนี้เพราะพี่ให้ ทำให้เห็นถึงเห็นระบบข้าราชการไทย ก็จะสะท้อนประสิทธิภาพของข้าราชการไทยที่จะไปเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า หากข้าราชการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความชัดเจน และไม่มีความแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่ตรงจุดนี้ ประเทศก็จะไม่มีประสิทธิภาพจะไปแข่งขันกับคนอื่นได้ ต่างไปจากประเทศอื่นที่รู้ตั้งแต่ต้นว่า ทิศทางนั้นจะเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งคนของเรายังไม่อยู่ในสถานะที่จะทำงานในลักษณะนั้นได้
ส่วนเหตุผลที่จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า หากเราต้องการไปแข่งขันกับประเทศอื่นเราจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับกลยุทธ์ของภูมิภาคอาเซี่ยน เพื่อเพิ่มประโยชน์ของประเทศชาติให้ได้มากที่สุด
ด้านนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เราควรจะใช้โอกาสในสถานการณ์นี้ ยกระดับประเทศของเราขึ้นไปเป็นผู้นำในแถบนี้ ถ้าอาเซียนร่วมมือกันในด้านการค้าและการลงทุนอาเซียนจัดเป็นตลาดสำคัญและมีศักยภาพ ด้วยประชากรราว 600 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2 เท่าของสหรัฐอเมริกาและใหญ่กว่าอียูเล็กน้อย
"ถ้าอาเซียนร่วมมือกันสำเร็จจะมีอำนาจเพื่อที่จะต่อรองอะไรอีกมากมาย ที่สำคัญช่วยเรื่องสันติภาพของโลกให้เกิดความสมดุล โดยขณะนี้อเมริกาเผชิญหน้ากับจีน เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น แต่ดูประเทศไทยก็ไม่มีความแค้นกับประเทศไหนเลย โดยสามารถเล่นบทที่จะประสานตรงนี้ได้ สามารถที่จะประสาน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ แม้แต่อเมริกาก็ได้ ซึ่งประเทศไทยต้องเอาจริงเพื่อที่จะทำยุทธศาสตร์ในเรื่องอาเซียนและทวีปเอเชีย" ราษฎรอาวุโส กล่าว และว่า การที่จะทำได้กลไกของทางภาครัฐต้องทำให้สำเร็จ ต้องใช้วิธีการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ต้องมีความรู้เรื่องนั้นอย่างจริงจัง
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนสังคมในการสื่อสารอย่างเต็มที่ และต้องโยงกับภาครัฐต้องดูแลและสนับสนุนในทุกๆเรื่องอย่างเต็มที่ จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการวิจัย ต้องร่วมกับสภาวิจัยและสกว.เพื่อค้นคว้างานวิจัยจะได้เป็นองค์ความรู้ในการเพื่อเป็นการขับเคลื่อนประเทศ และต้องสร้างนักการฑูตที่เก่งและต้องมีระบบที่จะสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ
"แต่การก่อตัวการทำสิ่งที่ดียากที่จะเกิดขึ้นจากผู้ที่มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจเวลาออกคำสั่งก็อาจจะสั่งผิด คนที่ได้รับการแต่งตั้งก็อาจจะไม่เหมาะที่จะทำ บางคนที่ไปวิ่งเต้นเพื่ออยากได้รับการแต่งตั้ง การจะทำอะไรที่ดีที่มีคุณภาพต้องก่อเกิดจากตัวเอง และควรที่จะให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้บุคลากรของไทยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อไปต่อสู้ทางปัญญากับประเทศอื่น"
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของเวทีเสวนามีการระดมสมองเพื่อหาว่า ตอนนี้เป็นบทบาทที่สำคัญมากต่อประเทศไทย ประเทศไทยกำลังจะผลักดันตัวเองเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยใช้เรื่องไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนา แต่ในสังคมบางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร ในสมัยของประธานาธิบดีนักธุรกิจคนนี้ ก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในบริบทความสัมพันธ์ เพราะโดยหลักการทางนโยบายแล้ว สหรัฐฯ ไม่ว่าจะนำโดยผู้นำคนไหน ก็ยังต้องสารต่อการให้ความสำคัญกับเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญคือ เราจะต้องไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป การถ่วงดุลอำนาจของทั้งจีนและสหรัฐฯ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดดังนั้นแล้ว การขึ้นเป็นผู้นำของโดนัลด์ ทรัมป์ คงไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากนัก