"บรรยง"ชง'บิ๊กตู่' ใช้ ม.44 จัดการสินบนโรลส์รอยซ์-ให้ป.ป.ช.เจ้าภาพสอบแห่งเดียว "
'เทวินทร์วงศ์วานิช' ปธ.เจ้าหน้าที่บริหาร ป.ต.ท. ยันองค์กรทำงานตามธรรมาภิบาล ขอให้แยกเรื่องบุคคลออก ด้านบรรยง แนะนายกฯออกม.44 จัดการเร่งด่วน อย่ารอให้คดีหมดอายุ ระบุให้ ป.ป.ช.เป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียว ส่วนอื่นมีหน้าที่ให้ความร่วมมือ ไม่ต้องตั้งคณะตรวจสอบหลายรอบ เผยอังกฤษใช้งบ 13 ล้านปอนด์ - ข้อมูล30ล้านหน้าลุยสอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) จัดเสวนา "อย่าให้คนโกงมีที่ยืนใน การบินไทย ปตท.และประเทศไทย กรณีสินบน Rolls Royce"
นายบรรยงพงษ์พานิชกรรมการกลยุทธ์องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่ากระบวนการหาข้อเท็จจริงคดีนี้ป.ป.ช.ต้องเป็นเจ้าภาพ ส่วนอื่นต้องเป็นผู้ให้ความร่วมมือไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพราะไม่รู้ว่าการกระทำเรื่องนี้ต่อเนื่องแค่ไหน
"ขอเสนอตรงนี้ปปช.ต้องเป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว หน่วยงานอื่นๆมีหน้าที่ให้ความร่วมมืออย่างเดียวไม่ต้องติดต่อเมืองนอกด้วยซ้ำ"
นายบรรยง กล่าวอีกว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ขณะที่ทางอังกฤษใช้เวลาสี่ปี หมดงบไป 13 ล้านปอนด์ มีข้อมูลกว่า 30 ล้านหน้า สะท้อนให้เห็นว่าต้องใช้วิธีการสมัยใหม่ในการตรวจเอกสาร แต่เราจะรอจนกว่าคดีสิ้นสุดเเล้วจะมาป้องกันคงไม่ได้
"เราสามารถจำลองสถานการณ์ออกแบบเพื่อป้องกัน ก็ยอมรับไม่มีทางทำเป็นศูนย์ในพริบตา ในกรณีสินบนครั้งนี้ มีวิธีที่ง่าย และลดขั้นตอนที่ต้องรอกระบวนการยื่นเรื่องคือ นายกฯ ออกม.44 ออกมาเลย แล้วเร่งจัดการ"
นายบรรยง กล่าวด้วยว่า "เรื่องคนในองค์กรไม่เกี่ยวกับองค์กรนั้น วันนี้ปัญหาไม่ใช่คนในองค์กรแต่เป็นเรื่องของคนเหนือองค์กรการไม่จัดการคนเหล่านั้นคนในองค์กรเละหมดผมเห็นใจคนเก่ง อยากเป็นคนดียากมาก เพราะไปขวาง ก็ตกงาน อีกเรื่องหนึ่งคือระเบียบที่บอกว่าหากมีการจัดซื้อที่เกิน 100 ล้านบาทต้องเปิดเผยเอเย่นต์ต้องเปิดเผยค่าประสานงานบุคคลอื่นที่มาร่วมสัญญา ตรงนี้ก็ทำให้ชัดเจน และอยากถามคำถามสั้นๆว่า
(1)ทำไมโรลส์รอยซ์ต้องติดสินบนด้วย ทั้งๆ ที่ของที่ขายเป็นของดีที่สุดในโลกทำไมยังต้องติดสินบน หรือเป็นการจ่ายเพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้นมากกว่าเงินสินบนที่จ่าย
(2) มีบริษัทโรลส์รอยซ์ เท่านั้นที่จ่ายหรือมีบริษัทอื่นจ่ายด้วยไหม
(3) มีแต่การบินไทย ปตท. เท่านั้นหรือ? แล้วรัฐวิสาหกิจอื่นๆไม่มีเลยหรือ?
(4)จ่ายสินบนมีแค่สามประเทศเท่านั้นหรือ ประเทศเทศอื่นๆ มีหรือเปล่า
ส่วน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทิศทางนโยบายองค์กรให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีจริยธรรม ป.ต.ท.เป็นองค์กรใหญ่ มีหน้าที่ทำอย่างไรให้พนักงานมีค่านิยมตามที่ควรจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง การป้องปรามป้องกัน หากมีการกระทำผิดต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง
นายเทวินทร์ กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการดำเนินการตามระเบียบบริษัทหรือไม่นั้นกำลังติดตาม โดยเฉพาะคนกลางที่ถูกอ้างถึง ไม่มีข้อมูลภายในแน่นอน หากมีการติดสินบน ซึ่งไม่มีการบันทึก ทราบว่าทาง ปปช. ติดต่อขอข้อมูลจากทางสหรัฐฯ ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทาง ปปช. แนวคิด(คอนเซ็ปต์)ของค่าคอมมิสชั่นต้องแยกให้ชัดว่าเป็นการโน้มน้าวให้มาใช้ของ มาซื้อหรือไม่ ต้องมีกติกากำกับให้ชัดเจนว่ามากน้อยเพียงไหน
"เราต้องแยกเรื่องบุคคลกับองค์กรนโยบายองค์กรเราเดินไปในทางที่โปร่งใสคนในองค์กรมีหลากหลายก็ต้องปรับปรุงเรื่องพวกนั้น"
ส่วนเรืออากาศเอก กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามีการตั้งคณะกรรมการในชุดหนึ่ง ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา 2534 ว่าการกระบวนการจัดซื้อ จัดหาเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ถูกต้องโปร่งใสแค่ไหน เพราะระเบียบการจัดการพัสดุมีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ส่วนคณะกรรมการชุดที่สอง สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้โดยตรงเพื่อที่ว่าสอบสวนว่า ตั้งแต่ 2534 ถึงปัจจุบัน กระบวนการเป็นอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องมีใครบ้างตอนนี้ก็เริ่มดำเนินการเเล้ว
เรืออากาศเอก กนก กล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้น ต้องเรียนให้ทราบว่าการจัดหาเครื่องยนต์พร้อมเครื่องบิน การบินไทยจัดหาตรง แต่ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นบริษัทอะไรก็จะมอบแต่งตั้ง ตัวแทนในการติดต่อประสาน อย่าง โรลส์รอยซ์ ที่ปัจจุบันมีตัวแทนอยู่ที่สิงคโปร์
ส่วนประเด็นว่าการจัดหาเครื่องยนต์การบินไทยโปร่งใสหรือไหม เรืออากาศเอก กนก กล่าวว่า ต้องถือว่าโปร่งใส เพราะต้องมีการศึกษา มีการเปรียบเทียบ การลงทุน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ การใช้งานแต่ละเครื่องยนต์เป็นสิบปี หากเป็นเครื่องยนต์ใหม่ ต้องมีแผนการลงทุน เปรียบเทียบราคากลาง
"ถามว่าแพงไหม ต้องตอบก่อนว่า คณะกรรมการทำอย่างดีที่สุด ในการสั่งซื้อเครื่องบิน และเครื่องยนต์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรอบเวลา ในส่วนที่ว่าเป็นไปได้ไหม ที่เราจะฟ้องกลับ ฐานทำให้เราเสียหาย แล้วงัดหลักฐานมาสู้กันในศาล ตอนนี้ก็รอข้อมูลหากได้ความยังไง ก็มีโอกาสสู้ในเรื่องนี้"
ด้านศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสงสัยมานาน ทำไมเวลาคนที่เป็นใหญ่เป็นโต จะสั่งทำโน้นทำนี่คนเหล่านี้ทำแล้วได้ค่าคอมมิสชั่น ในกฎหมายป.ป.ช. มาตรา103ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจรับเงิน สิ่งอื่นใด ยกเว้นที่ การรับเงินถ้าเป็นลักษณะการให้ของญาติในงานแต่งงานลูก หลาน มีคนเอาซองมาให้รับได้ แต่ไม่ใช่ให้ 2 พันล้าน อันนี้ก็น่าสงสัย จริงๆ แล้วปปช.ยืดหยุ่นเราไม่ใช่จะบี้อย่างเดียว
"ผมหงุดหงิดเรื่องคอมมิสชั่นว่า เราไม่ค่อยจัดการเรื่องนี้เท่าที่ควรดูเหมือนว่านักกฎหมายใหญ่ๆ เห็นว่ามาตรานี้ จิ๊บจ๋อย แต่ผมเห็นว่านี่คือ อาวุธสำคัญของ ปปช. ในการจัดการ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างว่าแต่ค่าคอมมิสชั่นเลยสมมติอาจารย์ จะรับเงินนักเรียนก็ยังไม่ได้เพราะเข้าข่ายทุจริต"