“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” จะทำอะไร? บอกความจริงชาวบ้านด้วย
ยุทธศาสตร์ความมั่งคงทางทะเล บอกว่าไทยจำเป็นต้องมีทางออกสำหรับสินค้าและการขนส่งทางทะเลอันดามัน จะพึ่งพาแต่ฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ ไม่ได้
เพราะผลประโยชน์ชาติที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่มีความต้องการระหว่างประเทศที่จะแสวงหาเส้นทางขนส่งทางทะเลที่ประหยัดกว่าการเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน
จึงมีความพยายามของรัฐในทุกยุคทุกสมัย ที่จะเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทย กับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนาดเล็ก ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ท่าเรือตำมะลัง กันตัง จังหวัดตรัง ยิบซั่มที่กระบี่ ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงท่าเรือขนาดเล็ก กระจายสินค้าได้ไม่มากนัก ไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง
ปัญหาสำคัญของการขนส่งทางทะเลตามแนวชายฝั่งภาคใต้ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา คือ ความไม่สมดุลระหว่างการขนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ กับการนำสินค้าเข้ามา เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าที่นำเข้ามาท่าเรือน้ำลึกสงขลามีน้อยมาก ขณะที่มีความต้องการขนส่งยางพาราออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามารับยางพารา และสินค้าส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการส่งออกสูงมากกว่าการนำสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเข้าและสินค้าออกมาก ค่าใช้จ่ายจึงถูกกว่า แต่ละปีจึงมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย กับท่าเรือปีนังปีละมากกว่า 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์
ทางแก้ที่ภาครัฐมองคือ การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า ข้ามมหาสมุทรจากยุโรป และตะวันออกกลาง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับทางเอเชียตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทย และมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งก็คือความพยายามที่จะทำให้มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของภาคใต้ และเส้นทางการขนส่งทั้งทางรถไฟ ถนน และท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน และยังมองถึงผลประโยชน์จากการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล
โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้น และมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองมาจนถึงสตูล แต่ก็ถูกผลักดัน ขับไล่ การไม่ยอมรับจากคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่มองว่ายุทธศาสตร์ของพื้นที่คือการท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือและอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรงต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน
และวันนี้ที่ปากบารา คือที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก และที่สำคัญมีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด
สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ทันคิดคือ ตั้งแต่เขตแดนไทยมาเลเซียที่สตูล ไปจนถึงอ่าวพังงาเป็นแหล่งระบบนิเวศแบบเอสทูรี่ หาดเลน ป่าชายเลนขนาดใหญ่ เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบ่อยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา เป็นแหล่งสะสมธาตุอาหารที่มาจากบนบกและในทะเล ส่งผลให้บริเวณนี้มีพืชและสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ
สตูลในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับการพัฒนาทางการเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่งและการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวอีกมาก โดยเฉพาะก็มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีเกาะจำนวนมาก ป่าชายเลน แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล มีสวนผลไม้ ชายฝั่งทะเล ป่าเขาและน้ำตก และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ
รัฐพยายามบอกชาวบ้านว่า ที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่จำนวนมาก จะพาผู้นำชุมชนและผู้บริหารจังหวัดไปดูงานท่าเรือต่างจังหวัด และต่างประเทศ สร้างความหวังให้ชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่บริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียง และกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่รัฐและผู้บริหารจังหวัด พร้อมจะพามาสนับสนุนในทุกเวทีการประชุม และเริ่มสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนในจังหวัด
แต่รัฐไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่าท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรตามมาอีกบ้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าและการแปรรูปวัตถุดิบต่างๆจะตามมาเป็นจำนวนมาก
ไม่มีใครบอกเขาว่า การพัฒนาที่จะตามมานั้นจะมีการจ้างงานจริงๆ คนสตูลจะได้โอกาสทำงานอะไร จำนวนเท่าไร และจะมีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่กี่พันกี่หมื่นคน จะส่งผลกระทบทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอย่างไรไม่มีใครบอกเขาว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน จะพัดพาฝุ่นควันทั้งหลายเข้าสู่เมืองสตูล เมืองละงู ชุมชน และสวนยางตลอดแนวชายฝั่งทะเล
ไม่มีใครบอกเขาว่าลมฝนเหล่านี้จะละลายฝุ่นควันและสารพิษจากเขตอุตสาหกรรมต่างๆตกลงบนหลังคาบ้าน ในสวนยาง สวนผลไม้ ในบ่อเก็บน้ำ ในน้ำตกวังสายทอง ในแม่น้ำลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิต
ไม่มีใครบอกว่าชายฝั่งอันดามันใต้ หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกาตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา โดยเฉพาะตรังและสตูล เป็นพื้นที่รองรับการสะสมของตะกอนทั้งจากแผ่นดินและทะเล สารพิษทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น มันไม่ถูกพัดพาออกไปทะเลลึกแต่จะสะสมในชั้นดินตะกอนตลอดชายฝั่งทะเลที่เป็นโคลนปนทราย
ไม่มีใครบอกเขาว่า หากมีการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารพิษต่างๆ มันจะสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล เหตุการณ์ต่างๆจะร้ายแรงยิ่งกว่าที่มาบตาพุด ซึ่งมีกระแสน้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก
ไม่มีใครบอกว่าบริเวณทะเลหน้าหาดปากบาราที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลกำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการถมทะเลยื่นออกไปนอกหาดยาวเป็นกิโล เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมารับส่งสินค้าปีละมากกว่า 200,000 ตู้ ถ้าโครงการมีการขยายตัวไปเรื่อยๆโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมา
ไม่มีใครบอกพวกเขาว่าจะมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลตามมา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้คืออะไร
ไม่มีใครบอกเขาว่า นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้วจะมีอุตสาหกรรมอะไรอื่นๆตามมาอีก ได้แต่บอกว่ากรอบการศึกษามีเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น โครงการอื่นๆต้องพิจารณาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้ถ้ามีใครถามเขาว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาจะบอกให้ชาวบ้านไปอ่านเอาในเอกสารหนาปึกที่มีแต่ตัวเลขที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และต้องไปหามาอ่านเอาเอง และเขาก็จะโวยวายใส่ชาวบ้านว่าก็ทำรายงานให้อ่านแล้วไม่อ่านกันเอง หรือไม่ก็ให้ไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ที่ชาวบ้านไม่มีวันเข้าถึง
สิ่งที่ชาวบ้านสังเกตก็คือห้าหกปีที่ผ่านมา มีคนมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่าดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คือบริเวณที่อยู่ในแนวเส้นทางของท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
บริษัทเหล่านี้บอกชาวบ้านมาตลอดว่าพวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า ผ่านการพิจารณาของนักวิชาการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมีสิทธิจะสร้างท่าเรือน้ำลึก แม้ว่ามันจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รัฐก็สามารถเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นอุทยานฯ
แต่คุณอย่าลืมว่า ชาวบ้านก็มีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเช่นกัน หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวว่า
อากาศจะเป็นพิษ น้ำทะเลจะปนเปื้อนคราบน้ำมันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนสารพิษ น้ำตกและลำธารจะปนเปื้อนจากสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงน้ำจืดที่ต้องใช้ในการเกษตรจะเกิดขึ้น เพราะต้องไปใช้ในเขตท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม
ชาวสตูลคงไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นหาดแม่รำพึงหรือมาบตาพุดแห่งที่สอง ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย ที่สำคัญลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลที่นี่แตกต่างจากชายฝั่งบริเวณมาบตาพุด ปัญหามลพิษทุกอย่างจะสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้ง่ายกว่า
สิ้นปีผลกำไรจากการขนส่งทางทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติ ทำลายสังคมวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ สร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ก็กลายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่มีทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในพื้นที่ แต่นั่งห้องแอร์ดูตัวเลขขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์
รัฐบาลเข้ามาบริหารแล้วก็จากไป ผู้บริหารของจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงนายอำเภอ มาทำงานไม่กี่ปีก็ย้ายไปที่อื่น นักลงทุนวันหนึ่งก็ถอนตัวออกไปลงทุนที่อื่นได้ แต่คนสตูลต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต รอรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป
……………………..
ถ้าไม่สร้างท่าเรือน้ำลึกในหกจังหวัดอันดามัน แล้วจะไปสร้างที่ไหนดี
ไม่ต้องสร้างครับ เราก็อยู่ของเราไปแบบพอเพียง การขนส่งทางทะเลของภูมิภาค ใครจะเดือดร้อน ก็ปล่อยเขาไป เขาก็ไปเข้าคิวผ่านช่องแคบมะละกากันต่อไป สินค้าของไทยก็เข้าออกทางอ่าวไทยต่อไป
ปัญหาการขนส่งทางทะเลของบ้านเรา คือ เส้นทางเข้ามาอ่าวไทยถูกเพื่อนบ้านจับจองอาณาเขตทางทะเลไปจนหมดแล้ว แต่สิทธิการเดินเรือเสรีในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นๆตามกฎหมายทะเล (UNCLOS) ก็ยังคงทำได้อยู่ ยกเว้นจะมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศ แต่ถ้าต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเลข้ามมหาสมุทรทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีทางเลือกที่สำคัญ คือ การใช้เส้นทางข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ เช่น ท่าเรือทวายที่พม่า เข้ามาทางตะวันตกสำหรับการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านเส้นทางไหน จะแนวเดียวกับท่อก๊าซเดิมหรือไม่ค่อยว่ากันอีกทีหรือจะมีสินค้าทางรถด้วยหรือไม่ ต้องศึกษากันอีกที
ทางเลือกต่อมา คือ ปีนัง สงขลา ใช้กลไกทางภาษีและความร่วมมือระหว่างกัน เส้นทางนี้สำหรับการขนส่งสินค้า ท่อน้ำมัน จะมีหรือไม่ค่อยศึกษากันอีกที ทุกวันนี้รถคอนเทนเนอร์ ก็วิ่งกันพล่านอยู่แล้ว ที่ต้องปรับปรุงคือเส้นทางและกลไกการผ่านด่านตรวจระหว่างประเทศ ที่ด่านสะเดา ที่ต้องเจรจาร่วมกัน ส่วนเส้นทางการขนส่งเส้นอื่นๆทางมหาสมุทรแปซิฟิคที่ไม่ผ่านทางอ่าวไทย ที่เป็นไปได้คือการพัฒนาความร่วมมือเวียดนาม ลาว และภาคอีสานของไทย สินค้าเกษตรทางภาคอีสานก็ส่งออกทางถนนที่จะต้องพัฒนาร่วมกันเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือของประเทศเวียดนาม
แล้วให้ไทยมีแค่ท่าเรือทางฝั่งทะเลอันดามันเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องใหญ่มาก ซึ่งมีแนวท่าเรือเดิมอยู่แล้ว เป็นท่าเรือและเส้นทางสำรองสำหรับขนส่งทางทะเล ใช้เมื่อมีปัญหาวิกฤตของประเทศเท่านั้น แต่ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาจะเปลี่ยนแปลงประเทศเปลี่ยนแปลงสังคมและวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อไปสนับสนุนการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค เราแค่ต้องการส่งสินค้าออกทางทะเลให้ได้ก็พอแล้ว
ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามัน ขอใช้ประโยชน์การท่องเที่ยวทางทะเลไปก่อน จนกว่าการท่องเที่ยวจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทรัพยากรธรรมชาติพังพินาศหมด (ถ้าไม่ช่วยกันรักษา) ค่อยเอามาพัฒนาก็ยังได้ ทรัพยากรบ้านเราเก็บไว้ก่อน กิจกรรมอะไรที่เสี่ยงภัยก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่นไปก่อน เมื่อไรวิกฤตจริงๆค่อยเอามาใช้ก็ได้
ที่สำคัญคือ รีบร้อนพัฒนาการขนส่งทางทะเล ในขณะที่กิจการพาณิชยนาวีและการเดินเรือของไทยเองยังไม่พร้อม อยู่ในมือคนต่างชาติเกือบ 90 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่าการขนส่งสินค้าและการเดินเรือทางทะเล เกือบหกล้านล้านบาท ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในธุรกรรมพาณิชยนาวีของไทยคือคนต่างชาติครับ