สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯแนะไทยยึดศก.พอเพียงสู้อาเซียน-ชุมชนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
ที่ปรึกษาสภาพัฒน์สับเละรัฐไทยไร้รับผิดชอบ เมินให้ความรู้ปชช.เรื่องอาเซียน แนะศก.พอเพียงเป็นเสาหลักแข่งขันโลก “รองเจ้ากรมอาเซียน”รับเปิดเสรีกระทบรุนแรงเตือนปชช.มีสติเฝ้าระวัง
วันที่ 7 ก.พ.55 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.มีการจัดการประชุมวิชาการประจำปีของ 4 สถาบันคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทัพเรือเรื่อง “2015 ประชาคมอาเซียน ความท้าทายของประเทศไทยบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง” โดยศาสตราจารย์ ดร.กำพล อดุลวิทย์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน เป็นการลงนามให้เกิดความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เพิ่มอำนาจแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศครั้งสำคัญ เนื่องจากประเทศประชาคมทั้ง 10 ประเทศมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงเป็นความท้าทายทุกฝ่ายที่จะให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความพร้อม ความพอดี ความประมาณตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจะก้าวไปได้ ต้องมีการพัฒนาส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ไทยควรใช้เวทีนี้เป็นเวทีแก้ไขความขัดแย้ง ข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยสันติวิธี สร้างสังคมเอื้ออาทรและแบ่งปัน ไม่ใช่การแข่งขันเสรีอย่างเดียว เห็นได้ชัดเจนเรื่องภัยพิบัติ มีการจัดตั้งศูนย์มนุษยสัมพันธ์ช่วยผู้ประสบภัยร้ายแรงในอาเซียน รวมทั้งการต่อต้านโรคระบาดด้านสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม รองธิบดีกรมอาเซียน ยอมรับว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเข้าร่วมประเทศอาเซียนของไทย น่าเป็นห่วงเรื่องภัยคุกคาม ยาเสพติด การก่อการร้าย ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย อีกทั้งช่องว่างการพัฒนาอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม ขณะที่ผลกระทบด้านสาธารณสุข โรคติดต่อก็อาจจะมาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยางพารา มะพร้าว กาแฟ ปาล์มน้ำมันของไทยต้องได้รับแรงเสียดทานมากขึ้นแน่นอน จากการแข่งขันประเทศเพื่อบ้านที่มีศักยภาพไม่ด้อยกว่าไทย
“สิ่งสำคัญปัญหาเหล่านี้คือความท้าทายที่ไทยต้องตั้งรับอย่างมีสติ ประชาชนต้องตระหนักในหน้าที่การเป็นประชากรอาเซียน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกที่จะมาจากภายนอก กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง ไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ หลายประเทศอยากมาลงทุน แต่ประชาชนต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะชาวบ้านในชุมชนต้องร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง”นายสุนทร กล่าว
ผศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาความผันผวนเศรษฐกิจโลก ทำให้ปัญหาในไทยระส่ำระส่าย ระบบเศรษฐกิจโลกเป็นระบบที่ไม่จริง เป็นระบบลวงตา ความมั่นคงทางอาหารก็เริ่มส่งผลกระทบต่อประชากรโลก จุดอ่อนของเมืองไทยคือการไม่รู้เรื่องประชาคมอาเซียนหรือรู้แต่ก็รู้น้อยเพราะยังไม่เห็นมีการขยับเรื่องนี้เท่าที่ควร ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทุกวันนั้นแม้แต่ประเทศลาว ไม่ว่าธงอาเซียน หรือประชาชนลาวเขาก็สามารถอธิบายถึงอาเซียนได้แล้ว
“ที่ผ่านมาเรื่องอาเซียนในไทยยังขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการประสานงานกันทั้งระบบ ขาดงบประมาณสนับสนุน ตรงนี้ชัดเจนไม่มีการตั้งงบประมาณเกี่ยวกับอาเซียนเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งขาดการประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยเกินไป”
ผศ.ดร.บุญส่ง กล่าวอีกว่า การเสนอให้รัฐนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นหลักประกันการเข้าสู่อาเซียน เพราะไทยจำเป็นต้องมีหลักยึด ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นหลักยึดที่ดีที่สุด เพราะปรัชญาพอเพียงสอนให้มีภูมิคุ้มกัน ให้มีการประมาณตน ให้มีเหตุมีผล เพราะที่ผ่านมาเมืองไทยยังขาดความพอดี ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูล ขาดกระบวนการเรียนรู้ เมื่อมีปัญหาใช้วิธีวัวหายล้อมคอก ใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสมไม่สอดคล้องกับความต้องการ ขาดความพอดีด้านเศรษฐกิจมีความฟุ่มเฟือยมีหนี้สิน
“เมื่อเรามีจุดอ่อน การแข่งขันกับภายนอกเราต้องมีหลักประกัน เพื่อเสริมให้มีจุดแข็ง เตรียมความพร้อมด้านความรู้ เตรียมจิตใจที่เข้มแข็งนี่คือหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่จะเป็นจุดแข็งของประชาชนชาวไทยที่จะเข้าร่วมประชาคมอาเซียน เพื่อที่จะใช้เวทีนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตต่อไป” สมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว