ศิลปินแห่งชาติ ยันรัฐคิดผิดปล่อยกฟผ.ดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินมัดมือชก จนเกิดความขัดแย้ง
เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 22 มกราคม 2560 เวลา 10:41 น.
เขียนโดย
thaireform
หมวดหมู่
อ. มกุฏ อรฤดี ขอรัฐบาล ฟังเสียงประชาชน หวั่นคิดผิดจะกลายเป็นความผิดใหญ่หลวง ยิ่งกว่ารอยด่างอันเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ 3 หรือ 4 จังหวัดภาคใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มนักวิชาการ,นักกฎหมาย,ช่างภาพศิลปิน,เครือข่ายชุมชนต้านถ่านหินจากทั่วประเทศ จัดเวทีเสวนา ประเทศไทย ในสัญญาปารีสถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
อาจารย์ มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึง เมืองเทพามีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นเมืองที่เคยมีช้าง มีม้า วัวและ ควาย เดินอยู่ในตลาด แต่ตอนนี้ไม่มีช้าง ไม่มีม้า แต่อาจจะยังเหลือแค่ วัว ควาย อยู่บ้าง ทั้งในตลาดและรอบๆเมือง แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือ สภาพความเป็นเมืองเมื่อ 60 ปีที่แล้วกับในปัจจุบันไม่ได้ต่างกันเลย แม่น้ำยังคงเป็นแม่น้ำสายเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือปลาจำนวนมากขึ้น
"เมื่อไม่กี่เดือนได้กลับไปเยี่ยมที่นั่น ได้เห็นปลากระโดดมาจากแม่น้ำเทพานับแสนนับล้านตัว ออกมาในเวลาเดียววัน สิ่งนี้ไม่ปรากฏในแม่น้ำสายอื่น แต่ปรากฏในแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำสายอื่นอาจจะไม่เหลือพืชพันธุ์ ซึ่งที่เรียกว่าเป็นยาได้ แต่แม่น้ำสายนี้ยังมีชีวิต มีวิญญาณ มีสัตว์ มีผู้คน และสิ่งต่างๆ อันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่า ลุ่มน้ำแห่งนี้ เป็นลุ่มน้ำแห่งสวนสวรรค์ แต่แม่น้ำสายนี้กำลังจะมี โรงสร้างไฟฟ้าถ่านหิน "
อ. มกุฏ กล่าวขอบคุณ ชาวเทพา จังหวัดสงขลา และแวกใกล้เคียง ร่วมทั้งชาวกระบี่และชาวอื่นๆ ในภาคใต้ด้วยที่เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อบอกรัฐบาลในถ้อยคำเดียวกัน และถือโอกาสฝากถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ ในนามประชาชนชาวเทพา และชาวภาคใต้ที่กำลังทุกข์กายทุกข์ใจ ด้วยภัยธรรมชาติปัจจุบัน และภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า รัฐบาลคิดผิดที่ปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยวิธีมัดมือชก ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นพวกเป็นฝ่ายในหมู่ชาวบ้าน และหากรีบร้อนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไม่ฟังความของคนท้องถิ่นอย่างบริสุทธิ์ใจ การคิดผิดนั้น จะกลายเป็นความผิดใหญ่หลวง ยิ่งกว่ารอยด่างอันเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ 3 หรือ 4 จังหวัดภาคใต้
"ปัจจุบัน ประชาชนชาวบ้านไม่มีพลังใดๆ นอกจากความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจที่พยายามเรียกร้องความถูกต้อง ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านของตน แม้ว่าผลดีหรือผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นอย่างไร ขอให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนให้ดีและให้เกียรติประชาชน เท่ากับรัฐบาลให้อำนาจแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนจะมากเกินไป ดังนั้นรัฐบาลกรุณาฟังเสียงประชาชนอย่างจริงใจ ก่อนที่เสียงนั้นจะกลายเป็นเสียงอย่างอื่น"
ด้าน มล.รุ่งคุณ กิติยากร ปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ในโลกของความเป็นจริงที่อาศัยอยู่นั้น ในประวัติศาสตร์ก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่ใฝ่ฝันในความยิ่งใหญ่ ในความสุขสบายของตนเอง การที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมา หมายถึงความยากลำบาก ความเสียสละของคนจำนวนมากโดยไม่ได้เต็มใจ สิ่งที่เรียกว่าความเจริญเป็นเพียงแค่ความเจริญของคนบางคนเท่านั้น และเกิดขึ้นโดยความเสียสละของคนจำวนมากที่ไม่เต็มใจของผู้อื่น ซึ่งจะต้องใช้กำลังบุกรุกดินแดนอื่น เอาทรัพย์สมบัติและประชากรของคนที่นั่นมาทำเป็นทาส นี่คือสมัยก่อน แต่สมัยนี้ ความเป็นทาส การกระทำกับคนในลักษณะนั้นก็คงมี เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบยังไม่ได้หมดไป แต่ถึงตอนนี้การใช้กำลังก็ไม่ใช่หนทางแรกอีกต่อไป แต่กลับเป็นหนทางที่คนโดยส่วนใหญ่เลือก นั่นคือ เงิน
"สิ่งนี้จะมาในรูปแบบสินบนและหนี้สิน จุดหมายก็คือ การยึดครองทรัพยากรและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงอยู่ ของประชากร เมื่อยึดทรัพยากรสิ่งที่จำเป็นแล้ว ประชากรก็ต้องพึ่งพาทุกอย่าง ไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่สามารถกำหนดอนาคตและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ก็ย่อมไม่มีเสรีภาพ"
มล.รุ่งคุณ กล่าวถึง รัฐบาลคงจะเข้าใจประชาชน เพราะนี่ไม่ใช่การต่อต้านอำนาจ แต่เป็นการต่อต้านการใช้อำนาจแบบผิดๆ พี่น้องประชาชนมีสมบัติชาติมากมาย มีมรดกที่ได้ทั้งในส่วนที่เป็นธรรมชาติให้มา ความมั่นคงทางอาหาร มีสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่ด้วยกลลวงกลยุทธ์แบ่งแยกปกครอง โดยจุดประสงค์ที่ยกประเด็นต่างๆมาให้ประชาชนทะเลาะกันเอง โดยแท้จริงแล้ว คือการเอาทรัพยากร เอาปากท้องของชาติ ของประชาชนไปเป็นของตัวเอง ด้วยจุดประสงค์เหล่านี้ทั้งหมด ก็คือการคิดด้วยอคติความเกลียดชัง จนลืมประโยชน์ของชาติ พร้อมกันนี้หวังว่าคนไทยจะหันมามองในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศว่า ที่จริงแล้วอะไรถูกต้อง และอะไรสำคัญกับการเราจริงๆ